ย้อนดู “ปรองดอง” สมัย “ยิ่งลักษณ์”เป็นกลางไหมล่ะตัวเธอ!! ....เกมการเมืองมีปัญหา ก้มหน้ารับชะตากรรม

ย้อนดู “ปรองดอง” สมัย “ยิ่งลักษณ์”เป็นกลางไหมล่ะตัวเธอ!! ....เกมการเมืองมีปัญหา ก้มหน้ารับชะตากรรม

พรรคเพื่อไทย(พท.) ออกมาแสดงท่าที ไม่เป็นมิตรกับกระบวนการปรองดองของรัฐบาล ที่นำโดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะเห็นว่ารัฐบาลและกองทัพ เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของคนในชาติ จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาแทนคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดองที่กำลังเดินหน้าอยู่ในเวลานี้

ถึงวันนี้กระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองของรัฐบาล มีความคืบหน้ามากพอสมควร หลังจากได้รับข้อเสนอจากพรรคการเมืองทั้งน้อยใหญ่ กลุ่มการเมืองทั้งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ก่อนจะนำผลการพูดคุยทั้งหลายแหล่มาวิเคราะห์และประมวลผล
 
กระนั้นพรรคเพื่อไทย(พท.)ก็ยังไม่พอใจ โดยแถลงภายหลังให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรองดองว่า ให้ยกเลิกคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดองของรัฐบาล เพราะไม่มีความเป็นกลาง และควรจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ ที่มาจากทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ร่วมเสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้อย่างเสรี 
 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เคยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยเช่นกัน ครั้งนั้นหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับจากการเยือนประเทศแถบแอฟริกาอย่างสาธารณรัฐโมซัมบิก สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐยูกันดา รวมเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก็ได้เสนอไอเดียด้วยการแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองเข้าร่วมพูดคุย หาทางออกร่วมกัน

สภาปฏิรูปการเมืองนี้ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเจ้าภาพเอง ไม่ได้สรรหาคนกลางมาดำเนินการแต่อย่างใด ต่อจากนั้นได้เชิญให้อดีตนายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา มาทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานเวทีปฏิรูปประเทศไทย  โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการพูดคุยหารือ ซึ่งมีนักการเมืองจากทุกพรรคร่วมวง รวมถึงฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ด้วย

เวลานั้นแม้หลายฝ่ายจะมองว่าเป็นกิจกรรมปาหี่ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จัดขึ้น แต่หลายฝ่ายก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อสร้างบรรยากาศสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศที่มีความขัดแย้งมาต่อเนื่องและยาวนาน 

นั่นเป็นเวลาที่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากพรรคเพื่อไทย(พท.)หลายฉบับยังค้างอยู่ในสภา รอเวลาที่จะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาเมื่อไหร่ก็ได้ถ้าเห็นว่าสะดวก ด้วยเหตุนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จึงยื่นข้อเสนอว่า หากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศ สร้างความปรองดอง ก็ควรจะถอนร่าง พ.ร.บ.เหล่านั้นออกจากสภาเสียก่อน เพราะพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ไม่ไว้ใจกฎหมายเหล่านี้ ไม่ไว้ใจการปฏิรูปการเมืองแบบนั้น

กระนั้นพรรคเพื่อไทย(พท.)หาได้สนใจไม่ เพราะสิ้นเดือนตุลาคม 2556 เกมการเมืองก็เผยโฉมอย่างชัดเจน เมื่อมีการเดินหน้าพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สุดซอย ฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เสนอ นั่นเป็นเพราะพรรคเพื่อไทย(พท.)มั่นใจว่ากุมเสียงในสภาได้เบ็ดเสร็จ ขณะที่แนวร่วมอย่างเสื้อแดงก็มีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ 

ที่สำคัญยังหวังว่าสภาปฏิรูปการเมือง ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชูขึ้นนั้น จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อรัฐบาลจนสามารถผ่านกฎหมายได้โดยไม่ลำบากยากเย็น 
หารู้ไม่ เกมการเมืองที่พรรคเพื่อไทย(พท.)คิดว่าวางไว้ดีแล้ว กลับติดกับดักพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)อย่างง่ายดาย เพราะประชาธิปัตย์(ปชป.)เดินเกมด้วยการให้นายสุเทือก เทือกสุบรรณ แยกตัวไปตั้ง กปปส. มีมวลมหาประชาชนร่วมชัดดาวกรุงเทพฯ จนทหารออกมาปฏิบัติในที่สุด

ดังนั้น ที่พรรคเพื่อไทย(พท.)เรียกร้องให้เปลี่ยนคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เห็นทีคงต้องย้อนกลับไปมองสิ่งที่ตัวเองเคยทำในอดีต 
เมื่อวันนั้นคิดอ้างปฏิรูป ปรองดอง ตั้งสภาปฏิรูปปาหี่เพื่อหวังผลทางการเมือง จนเป็นที่มาของการปฏิวัติ 
เมื่อเกมการเมืองของตัวเองมีปัญหา วันนี้คงต้องก้มหน้ารับชะตากรรมกันต่อไป