“อภิสิทธิ์”ชี้การเมืองกระเพื่อมหลังคลอดกฎหมายพรรคการเมือง ปัดคอมเมนท์เลือกตั้งกลางปี 61

“อภิสิทธิ์”ชี้การเมืองกระเพื่อมหลังคลอดกฎหมายพรรคการเมือง ปัดคอมเมนท์เลือกตั้งกลางปี 61

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2560 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ ว่า ขณะนี้พรรคการเมืองยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แต่ตนคาดว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ต้องรอให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองออกมาก่อน จึงจะเห็นความเคลื่อนไหวการเมืองที่ชัดเจน และน่าจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ โดยในการปรับตัว ตนคิดว่าพรรคการเมืองจะใช้เวลาประมาณ 90-120 วัน ทั้งนี้ ตามปฏิทินเวลาที่กฏหมายกำหนดคือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ต้องส่งพ.ร.ป.ทั้งหมดภายใน 240 วัน แต่ไม่จำเป็นต้องใช้กรอบเวลาเต็มเพดาน โดยการเร่งส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กับพ.ร.ป.พรรคการเมืองก่อนเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งตามตารางเวลาก็น่าจะไปได้ อาจไม่ต้องใช้ถึง 240 วัน ส่วนการเลือกตั้งจะมีขึ้นประมาณเดือนส.ค.2561 ตามที่คาดกันหรือไม่นั้นตนไม่ขอออกความเห็น เพราะกรอบเวลาที่ออกมาใช้คำว่า“ไม่เกิน” ถ้าทำได้เร็วขึ้น ทุกอย่างอาจเร็วขึ้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญหวังที่จะได้การเมืองแบบใหม่ แต่ตนเตือนมาตลอดว่าปัญหาทางการเมืองไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่เกิดจากพฤติกรรมของคนในแวดวงการเมือง จึงไม่มีหลักประกันว่าเขียนกติกาแบบนี้แล้วจะแก้ได้ ถ้าพฤติกรรมยังไม่เปลี่ยนแปลงไป และที่สำคัญคือต้องระวังว่าการวางกลไก อาทิ การมีส.ว.ที่มีอำนาจเพิ่มขึ้นถ้าไม่ระมัดระวัง จะเกิดความขัดแย้งใหม่ ตนจึงเห็นว่าสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ต้องช่วยกันกดดันให้การเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้อง และกดดันไม่ให้นักการเมืองทำตัวเหลวไหลใช้อำนาจมิชอบ กระทำทุจริตคอร์รัปชั่น หรือสร้างความขัดแย้งกันแบบไม่มีเหตุผล ถ้าสังคมสามารถกำกับได้จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด ซึ่งรัฐบาลต้องรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมายังทำค่อนข้างน้อย

“อภิสิทธิ์”ชี้การเมืองกระเพื่อมหลังคลอดกฎหมายพรรคการเมือง ปัดคอมเมนท์เลือกตั้งกลางปี 61

“ผมเตือนปยป.แล้ว เพราะมีความพยายามว่าต้องมาทำข้อตกลงระหว่างพรรคการเมือง ผมบอกว่าต้องเอา ส.ว.มาทำข้อตกลงด้วยว่าอย่าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชน จึงจะเป็นหลักประกันว่าส.ว. 250 คน ต้องตระหนักว่าเป็นตัวแทนประชาชน ไม่ใช่ตัวแทนของคนที่ตั้งมา ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ถ้าทำตัวเป็นพรรคการเมืองจะเกิดความขัดแย้ง ดังนั้นต้องทำตัวตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่ควรจะเป็น โดยต้องไม่ลืมว่าแม้เขาเลือกนายกฯได้ ก็ไม่สามารถร่วมประชุมส.ส.ในเรื่องสำคัญทุกเรื่องได้ ถ้าตั้งนายกฯที่สภาผู้แทนราษฏรไม่ยอมรับ ก็อยู่ไม่ได้ และจะเป็นความขัดแย้ง แต่เรื่องเหล่านี้พูดล่วงหน้ายาก ต้องรอให้ถึงเวลาที่มีบรรยากาศเลือกตั้ง”นายอภิสิทธิ์กล่าว