ผ่านมาแล้ว 28 ปี!! 21 เมษา รำลึกวันสถาปนา "สมเด็จพระญาณสังวร" เป็น "สมเด็จพระสังฆราช" ... วันที่สังฆราชาองค์ที่ 19 ครองแผ่นดินธรรม!!

รู้จริง...รู้แจ้ง...ทุกเรื่องราวแห่งปาฏิหาริย์ http://www.tnews.co.th

“๒๑ เมษายน” ... หลายคนอาจจะไม่ทราบหรือลืมไปแล้วว่า วันนี้เมื่อ ๒๘ ปีที่แล้ว (พ.ศ. ๒๕๓๒) คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เป็น “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ย้อนเหตุการณ์ไปในครั้งนั้น ก่อนที่จะได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ... หนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา ฉบับจดหมายเหตุพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒” ได้บันทึกเรื่องราวไว้ว่า  หลังจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สิ้นพระชนม์และได้รับพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว  ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตามโบราณราชประเพณีจะทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช  กรมการศาสนาจึงได้เสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะซึ่งมีอยู่ในขณะนั้นจำนวนหกรูป ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชตามพระราชอัธยาศัย

สมเด็จพระราชาคณะทั้งหกรูป เรียงตามลำดับอาวุโสทางสมณศักดิ์ดังนี้

๑. สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร

๒. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา

๓. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม

๔. สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) วัดโสมนัสวิหาร

๕. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

๖. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารี) วัดปทุมคงคา

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมแล้วมีมติเห็นสมควรนำความกราบบังคมทูลถวายความเห็นว่า สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงทางสมณศักดิ์เป็นผู้เหมาะสมได้แก่ สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร  ราชเลขาธิการจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตามมติเอกฉันท์ที่เสนอไป

 

ผ่านมาแล้ว 28 ปี!! 21 เมษา รำลึกวันสถาปนา "สมเด็จพระญาณสังวร" เป็น "สมเด็จพระสังฆราช" ... วันที่สังฆราชาองค์ที่ 19 ครองแผ่นดินธรรม!!

ผ่านมาแล้ว 28 ปี!! 21 เมษา รำลึกวันสถาปนา "สมเด็จพระญาณสังวร" เป็น "สมเด็จพระสังฆราช" ... วันที่สังฆราชาองค์ที่ 19 ครองแผ่นดินธรรม!!

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า “เจริญ” นามสกุล “คชวัตร” ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖  ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี แล้วเข้ามาอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนพระชนมายุครบอุปสมบท และทรงอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์  ภายหลังอุปสมบทได้ประทับอยู่ศึกษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดมา จนกระทั่งสอบได้เป็นเปรียญธรรมเก้าประโยคเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับ ดังนี้

ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ (พ.ศ. ๒๔๙๐) พระราชาคณะชั้นราช (พ.ศ. ๒๔๙๕) และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ “พระโศภณคณาภรณ์” (พ.ศ. ๒๔๙๘)

ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ “พระธรรมวราภรณ์” (พ.ศ. ๒๔๙๙)

ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ “พระศาสนโสภณ” (พ.ศ. ๒๕๐๔)

ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” (พ.ศ. ๒๕๑๕)

และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในราชทินนามที่ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” (พ.ศ. ๒๕๓๒)

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่เป็นพระเปรียญ  โดยเฉพาะในด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และสันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี  กระทั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เห็นว่าจะเพลินในการศึกษามากไป วันหนึ่งจึงทรงเตือนว่าควรทำกรรมฐานเสียบ้าง อันเป็นเหตุให้พระองค์เริ่มทำกรรมฐานมาแต่บัดนั้น และทำตลอดมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ

นอกจากพระกรณียกิจตามตำแหน่งแล้ว สมเด็จพระญาณสังวรฯ ยังได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พิเศษอันมีความสำคัญยิ่งอีกหลายวาระ กล่าวคือ  ทรงเป็นพระอภิบาลในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ครั้งเสด็จออกทรงพระผนวชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พร้อมทั้งถวายความรู้ในพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงพระผนวช  และทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จออกทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญทางการคณะสงฆ์ในด้านต่าง ๆ มาเป็นลำดับ และทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา ประเทศชาติ และประชาชน เป็นอเนกประการ จึงนับได้ว่าพระองค์เป็นพระมหาเถระที่เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตรและทรงเป็นบุคคลผู้ควรเคารพของชาติทั้งในด้านพุทธจักรและอาณาจักรอย่างแท้จริง

 

ผ่านมาแล้ว 28 ปี!! 21 เมษา รำลึกวันสถาปนา "สมเด็จพระญาณสังวร" เป็น "สมเด็จพระสังฆราช" ... วันที่สังฆราชาองค์ที่ 19 ครองแผ่นดินธรรม!!

ผ่านมาแล้ว 28 ปี!! 21 เมษา รำลึกวันสถาปนา "สมเด็จพระญาณสังวร" เป็น "สมเด็จพระสังฆราช" ... วันที่สังฆราชาองค์ที่ 19 ครองแผ่นดินธรรม!!

ผ่านมาแล้ว 28 ปี!! 21 เมษา รำลึกวันสถาปนา "สมเด็จพระญาณสังวร" เป็น "สมเด็จพระสังฆราช" ... วันที่สังฆราชาองค์ที่ 19 ครองแผ่นดินธรรม!!

----------------------------------------------------------------------------

ที่มา :

- "พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช กรุงรัตนโกสินทร์" โดย ทรงสรรค์ นิลกำแหง

- หนังสือ "สองธรรมราชา" โดย อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์