สนธิญาณ ย้ำ!!"ปรีดี พนมยงค์"นักปฏิวัติตัวจริงแต่ทำไม่สำเร็จผ่านเค้าโครงเศษรฐกิจฯจึงทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475เป็นแค่การรัฐประหาร

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

รายการ "ยุคลถามตรง สนธิญาณฟันธงตอบ" ประจำวันที่ 24 เมษายน 2560 ออกอากาศทางช่อง ไบรท์ทีวี หมายเลข 20 ดำเนินรายการโดย คุณยุคล วิเศษสังข์ (หนึ่ง) ได้สัมภาษณ์คุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม (ต้อย) บรรณาธิการอำนวยการ สำนักข่าวทีนิวส์ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

            สนธิญาณ : สำหรับท่านที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งได้ติดตามจากการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook ของสำนักข่าวทีนิวส์ไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเนี่ยนะครับ ก็มีหลายกระแสเป็นคำถามเข้ามารวมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลายประเด็นคุณยุคล ดังนั้นวันนี้เนี่ยนะครับ ผมจะเรียนกับท่านผู้ชมต่อว่า วันเสาร์นี้นะครับยังติดตามชมได้เพราะว่าต้องต่อกันอีกรอบ 17.00 – 18.00 น. อย่าลืมถ่ายทอดสดทาง Facebook ของสำนักข่าวทีนิวส์ ผมก็อยากจะขยับขยายว่าการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เนี่ยนะครับมันมีประเด็นที่ได้ตั้งเป็นประเด็นแรกนะครับชัดเจนก็คือว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเนี่ยเป็นการรัฐประหารหรือการปฏิวัติ และการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเนี่ยนะครับเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่นะครับ คือหนึ่งที่ไม่สามารถที่จะกล่าวล่วงได้ก็คือการจะต้องหยิบเอาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นมากล่าวถึงหรือมาศึกษาหาข้อเท็จจริงกัน ย้ำนะครับการรัฐประหารครั้งนั้นข้อสรุปของผมคือการรัฐประหาร ซึ่งเดี๋ยวจะมีข้อมูลยืนยันและบุคคลท่านนึงนะครับที่จะต้องถูกกล่าวถึงและมาอ้างถึงนะครับคือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรจะต้องกล่าวถึงเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะเปลี่ยนแปลงการปกครองมี 3 กลุ่ม มีคณะราษฎร กับคณะนายทหารหนุ่มและทหารแก่นะครับ เปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จ สิ่งที่ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเป็นการรัฐประหารก็คือการที่คณะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีพระยาพหลฯเป็นหัวหน้าคณะนั้นไม่กล้าขึ้นสู่อำนาจ ย้ำนะครับ ปกติเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เรียกว่าระดับถอนรากถอนโคนนะครับ ผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องขึ้นบริหารควบคุมทิศทางบ้านเมือง เพื่อที่จะทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองเป็นไปตามทิศทางของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเรียกว่าคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือคณะรัฐประหารอะไรก็ตามแต่ แต่ครั้งนั้นปรากฎว่าไม่ คณะเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ไปเชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นประธานคณะกรรมการร่างหรือนายกรัฐมนตรี เหตุผลทำไมล่ะครับ ก็เพราะพระยามโนปกรณ์ฯเป็นผู้ที่มีสัญลักษณ์เป็นกลางและก็ใกล้ชิดกับทางราชสำนักคือทางสถาบันพระมหากษัตริย์ ในคณะรัฐมนตรีนะครับก็มีคณะรัฐมนตรีที่มาจากฝั่งของคณะราษฎรครึ่งนึง มาจากฝั่งข้าราชการเก่าอีกครึ่ง นั่นเป็นการประนีประนอม ทำไมประนีประนอมแบบนี้ ทำไมไม่เป็นหัวหน้าคณะราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าทำแล้วมันจะได้รับการต่อต้านและไม่ยอมรับจากข้าราชการระดับกลาง ระดับล่างอีกจำนวนมากที่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ แบบนี้ล่ะครับที่เรียกว่าการปฏิวัติไม่ได้ ไอ้ตัวนี้มันชัดอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้วนะครับ ไม่ต้องดูพฤติกรรมหลังจากนั้นมานะครับที่คณะทหาร ย้ำนะครับ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจเข่นฆ่ากันเอง จนท้ายที่สุดเหลือแต่ทหารกับอาจารย์ปรีดี โดยทหารที่เหลือนั้นก็คือจอมพล ป.พิบูลสงคราม และท้ายที่สุดก็ต้องแตกแยกกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ต้องต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย ท้ายที่สุดคณะทหารก็ไล่ล่า ไล่ฆ่าอาจารย์ปรีดี อาจารย์ปรีดีเองก็เอากำลังมาก่อการรัฐประหาร ก่อการกบฎอีกครั้งนึงที่เรียกว่ากบฎวังหลวง เป็นภาพรวม แต่สิ่งที่ผมอยากจะเรียนว่าเราไม่สามารถก้าวล่วงอาจารย์ปรีดีไปได้ ในบรรดาคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง คิดว่าคนที่มีอุดมการณ์ชัดเจน หัวจิตหัวใจคิดถึงประชาชน คิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่อยากให้ประเทศชาติดีขึ้น แน่นอนครับ ชื่อปรีดี พนมยงค์ เพียงแต่มันสมองเดียว เสียงเดียวหรือเสียงข้างน้อยอันไม่ได้คุมกำลังอำนาจ ไม่สามารถที่จะทำให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายได้ อาจารย์ปรีดีได้นำเสนอสิ่งที่เรียกว่าเค้าโครงเศรษฐกิจนะครับ ย้ำเลย เค้าโครงเศรษฐกิจ ได้มีการเอาเค้าโครงเศรษฐกิจมาประชุมกันในคณะอนุกรรมการหรือคณะกรรมมาธิการ ในขณะนั้นเรียกว่ากรรมานุการ ตั้งชื่อกัน มาประชุมกัน ผู้เข้าร่วมประชุมก็หลายคนอยู่นะครับ แต่การประชุมครั้งนั้นเนี่ยน่าสนใจครับ ที่เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นมี 14 คน มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วย ปรากฎว่าหลังจากการประชุมเสร็จนะครับ รัฐบาลพระยามโนฯก็ออกกฎหมายการกระทำในคอมมิวนิสต์และหลังจากนั้นก็บังคับไม่ใช้รัฐธรรมนูญ งดใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรา คือรัฐประหารตัวเอง อาจารย์ปรีดีก็ต้องถูกเนรเทศไปอยู่ฝรั่งเศส ผมเล่ามายาวเนี่ยนะครับก็เพื่อจะย้ำถึงเนื้อหาในหนังสือ เค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งเป็นบทนำเนี่ยนะครับ อาจารย์ปรีดีเขียนไว้ชัดเจนครับ ก็คือไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเนี่ยนะครับเป็นแบบเปลือก ท่านใช้คำแบบนี้ครับ การบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรนี้เป็นจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิปรารถนาจะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อ สาระสำคัญคือ บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร นั่นคือความพยายามของคนหนุ่ม เป็นมันสมอง เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวจึงพยายามในการที่จะทำให้เกิดเนื้อหาในการเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง จึงเป็นเครื่องยืนยันครับว่าการกระทำครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจ เปลี่ยนมืออำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์มาสู่คณะราษฎรเท่านั้น ไม่มีเนื้อหาอื่นที่นำพาประเทศไปสู่ความเจริญ เพราะหลักคิดในเรื่องของเค้าโครงเศรษฐกิจไม่มา ย้ำเลยนะครับ และท้ายที่สุดเนี่ยนะครับ อาจารย์ปรีดีสรุป ดูนะครับว่าคนที่เป็นมันสมอง คนที่วางแผน คนที่เตรียมการในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท้ายที่สุดนะครับ ก็ดูเหมือนจะสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แค่รัฐประหารเท่านั้น อาจารย์ปรีดีเขียน พูด ในเค้าโครงเศรษฐกิจในการประชุมครับว่า รัฐบาลต้องนำในการบังคับในทางตรงหรือทางอ้อมให้ขมักเขม้นในการประกอบการเศรษฐกิจ ถ้าเราทำตามแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะเราไม่ได้ทำในสาระสำคัญ คือแก้ความฝืดเคืองของราษฎรแบบที่เราต้องเดินนั้น เราต้องเดินแบบอาศัยหลักวิชา อาศัยแผน อาศัยโครงการ วิธีการ โซเชียลลิสต์ เป็นวิธีวิทยาศาสตร์โดยแท้ รับรองความเห็นของหม่อมเจ้าสกล ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่ Coup d’État แต่เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ ไม่มีทางปกครองซึ่งเปลี่ยนจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ย้ำนะครับ เห็นไหมครับ บอกว่าถ้าไม่เอามาใช้ มันก็แค่เป็น Coup d’État แปลว่าอะไรครับ รัฐประหาร แต่ถ้าเอามาใช้ก็เป็น Revolution การที่เอาใช้ไม่ใช้เดี๋ยวก็เป็นคอมมิวนิสต์ ถ้าเราอ่านรายละเอียดของเค้าโครงเศรษฐกิจ แน่นอนครับ ประโยชน์จะเกิดกับประเทศชาติกับประชาชน และจะทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการปฏิวัติที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนอำนาจจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ในความหมายที่อาจารย์ปรีดีว่าก็คือคณะทหารทั้งหลาย ซึ่งท้ายที่สุดช่วงชิงอำนาจเข่นฆ่า เนรเทศ ฟาดฟันกันตาย นี่เป็นข้อสรุป ขอบคุณครับ