ทัพเรือแถลง !!! ดำน้ำจีน ผ่อน  7 ปี 17 งวด ปีนี้จ่าย 700 ล้าน ปีต่อๆไปจ่าย 2.1 พันล้าน

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

การชี้แจงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ชั้นหยวน S26T จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน กองทัพเรือใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง ชี้แจง ที่โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเทียบเรือ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีคณะชี้แจง ประกอบด้วย พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ, พลเรือเอกพัชระ พุ่มพิเชษฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำในรัฐบาลต่อรัฐบาล, พลเรือเอก กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ, พลเรือตรี วิสาร ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยผู้ใช้งาน และพลเรือเอกจุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ

พลเรือเอกลือชัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีราคากว่า 24 ล้านล้านบาท และสินค้านำเข้าส่งออกร้อยละ 95 ต้องใช้เส้นทางคมนาคมทางทะเล โดยกองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำประจำการมากว่า 60 ปีแล้ว และเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรือดำน้ำก็มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งประเทศต่างๆในภูมิภาคต่างก็มีการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการแล้ว โดยอ่าวไทย มีทรัพยากรที่สำคัญและเป็นจุดยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยลักษณะพื้นที่ค่อนข้างแคบ ในอนาคตหากมีการปิดอ่าวจากประเทศอื่น ก็สามารถทำได้โดยง่ายและอาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จากการที่กองทัพเรือ ไม่มีอะไรดำน้ำมาเป็นระยะเวลานานทำให้กองทัพเรือสูญเสียขีดความสามารถด้านนี้อย่างสิ้นเชิง ทั้งองค์ความรู้ ทักษะของกำลังพล
          สำหรับประเด็นในเรื่องของความลึกของอ่าวไทยซึ่งมีเฉลี่ยโดยประมาณ 50 เมตร พลเรือเอกลือชัย ระบุว่า ความลึกขนาดนี้ เรือดำน้ำสามารถปฏิบัติการได้ เช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำน้ำของสหรัฐเคยใช้เส้นทางนี้เช่นกัน ยืนยันว่าในขั้นตอนของการจัดซื้อนั้น มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน และยึดยุทธศาสตร์กองทัพเรือเป็นหลัก มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ พร้อมทั้งงบประมาณที่ใช้ นั้น ไม่ได้เบียดเบียนงบประมาณจากกระทรวงอื่น รวมถึงไม่ได้ของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล และอยากจะใช้ช่องทางนี้ ชี้แจงกับกำลังพลของกองทัพเรือว่า แม้ว่ากองทัพจะนำงบประมาณไปจัดหาเรือดำน้ำ แต่ก็ยังมีงบประมาณ พอสำหรับการซ่อมบำรุงและจัดหายุทโธปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นได้
          ด้านพลเรือโทพัชระ ระบุว่า การมีเรือดำน้ำไม่ได้เป็นความต้องการของกองทัพเรือเท่านั้น แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมี ซึ่งมีการศึกษาพูดคุยกันมานานแล้ว กองทัพเรือได้ศึกษาและดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 30 ปี โดยเกือบจะได้รับอนุมัติให้จัดหามาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง การจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ เป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ต่อเนื่องมาในปีงบประมาณ 2559 และปีงบประมาณปัจจุบัน กองทัพเรือได้มีการศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอจากบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำจากประเทศต่าง ๆ 6 ประเทศ ซึ่งบางประเทศก็ให้เฉพาะตัวเรือไม่ให้ระบบอาวุธ บางประเทศให้ทั้งตัวเรือและระบบอาวุธแต่ก็มีราคาสูงและอะไหล่สำหรับการซ่อมบำรุงที่แพงมาก บางประเทศไม่สนับสนุนการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ซึ่งกองทัพเรือได้พิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบ โดยข้อเสนอของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นหยวน S26T พร้อมระบบอาวุธและระบบสนับสนุนต่าง ๆ รวมทั้งการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับกำลังพล เป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์ได้ตามหลักการในข้างต้นมากที่สุด ประกอบกับศักยภาพของน้ำจีนก็เป็นประจักษ์ชัดว่าเป็นกองเรือดำน้ำที่ยิ่งใหญ่ในลำดับต้นๆ ของโลก
          โดยการจัดซื้อในครั้งนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องทำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญ มีระยะเวลาดำเนินโครงการค่อนข้างนาน มีวงเงินค่อนข้างสูง ผลสำเร็จมีผลกระทบต่อกองทัพเรือและประเทศไทย และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางฝ่ายจีนที่มีทั้งบริษัทต่อเรือ กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือจีน และหน่วยงานของจีนที่กำกับดูแลด้านอุตสาหกรรมทางทหาร ซึ่งจะต้องเข้ามาร่วมให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการให้เดินหน้าและประสบผลสำเร็จ ตั้งแต่ขั้นดำเนินโครงการไปจนถึงการใช้งานตลอดอายุการใช้งาน ดังนั้น การที่จัดทำสัญญาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาลนี้ ย่อมเป็นการลดความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการจะสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลสามารถกำกับดูแลและติดตามการดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่อง ง่ายต่อการติดตามตรวจสอบทั้งจากส่วนกลางและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน

พลเรือตรี กฤษฎาภรณ์ ยืนยันว่างบประมาณที่จะใช้ในการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ กองทัพเรือใช้จากงบประมาณของกองทัพเรือที่ได้รับปกติในแต่ละปี ซึ่งงบประมาณที่จะใช้ในการจัดหาเรือดำน้ำ1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ครั้งนี้ จะแบ่งผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 7 ปี โดยจะแบ่งจ่ายเงินเป็นงวดๆ ตามความก้าวหน้าในการสร้างเรือ โดยกองทัพเรือได้เจรจากับฝ่ายจีนเกี่ยวกับการชำระเงินในแต่ละปีงบประมาณ ให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ด้านงบประมาณของกองทัพเรือเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีงวดการชำระเงินทั้งหมด 17 งวด ชำระเงินในปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561 – 2566 จะชำระเงินเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท อีกครั้ง การจ่ายเงินในแต่ละปีจะไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ และไม่มีผลกระทบกับการใช้งบประมาณด้านอื่น ๆ ของกองทัพเรือ และที่ไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน เพราะเป็นเรื่องของยุทธศาตร์การรบ