ผู้ว่าสตง.การันตีซื้อเรือดำน้ำฉลุย ไม่พบผิดปกติ อ้างไม่เป็นภาระงบประมาณ ชี้สามารถขอรัฐบาลทบทวนได้หากพบปัญหา

ผู้ว่าสตง.การันตีซื้อเรือดำน้ำฉลุย ไม่พบผิดปกติ อ้างไม่เป็นภาระงบประมาณ ชี้สามารถขอรัฐบาลทบทวนได้หากพบปัญหา

 เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงเรื่องผลการตรวจสอบาการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบประเด็นต่างๆในเอกสารหลายฉบับที่รวมถึงเอกสารเพื่อผลักดันให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำในรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้ได้ทราบรายละเอียดว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ได้เริ่มในรัฐบาลปัจจุบัน แต่ริเริ่มในรัฐบาลหลายชุดในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีความพยายามจะจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศเยอรมนี 6 ลำที่มีการซ่อมกินตัวและมีลักษณะเป็นการซื้อมือสอง แต่ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2556

ผู้ว่าสตง. กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ พบว่ามีการเปรียบเทียบกับคุณลักษณะเรือดำน้ำจากหลายๆประเทศ และก็มาตกผลึกที่เรือดำน้ำจีนที่คาดว่าจะมีลักษณะเหมาะสม ตรงกับความต้องการของกองทัพเรือ กองทัพเรือจึงเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่าจะผิดพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 23 หรือไม่นั้น  สำนักงบประมาณชี้แจงแล้วว่าดำเนินการอย่างครบถ้วนแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค.2559 ซึ่งสตง.ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นไปตามที่สำนักงบประมาณได้ชี้แจงออกมาจริงๆตามข้อกฎหมาย  ขณะนี้ สตง.กำลังพิจารณาในข้อเปรียบเทียบว่าราคาในสัดส่วนตัวลำเรือกับสัดส่วนอาวุธยทโธปกรณ์มีสัดส่วนเป็นอย่างไร มูลค่าตัวเรือราคาเท่าไร ราคาอาวุธนั้นเป็นเท่าไร เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม 

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สตง.คงไม่โต้แย้งเรื่องความจำเป็นในด้านการจัดซื้ออาวุธของกองทัพเรือ เพราะถือเป็นความจำเป็นของเขา การจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 36,000 ล้านบาทจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณในปีนี้อย่างทันทีทันใด เพราะมีการผูกพันงบประมาณกันไปในแต่ละปี โดยในปีแรกจะมีการผูกพันงบประมาณ 700 กว่าล้านบาท และก็มีการดำเนินการกันไปตามแต่ละงวดซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วงบประมาณผูกพันในแต่ละปีก็ไม่ควรเกิน 600- 2,000 กว่าล้านบาทเศษตามทีกองทัพเรือได้มีการตั้งเกณฑ์เอาไว้ จนถึงปี 2566 ซึ่งก็ไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใดและก็ไม่มีการดึงเอางบกลางมาใช้ด้วย ขณะนี้ สตง.กำลังตรวจสอบขั้นตอนทางกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 หรือไม่ เนื่องจากการทำสนธิสัญญา จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ในกรณีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง แบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี จะต้องผ่านรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบ และระหว่างนี้หาก สตง. พบว่ามีความผิดปกติ สามารถเสนอรายงานไปยัง ครม. และรัฐสภา เพื่อให้ยับยั้งได้ แม้จะมีการเซ็นสัญญาไปแล้วก็ตาม ขณะเดียวหากในอนาคตมีเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความคุ้มค่ามากกว่า กองทัพเรือก็สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ เพราะ ครม. อนุมัติในหลักการเท่านั้น