ในวันที่ 14-15 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น ก็มีประเด็นคำถามว่าสาเหตุใด จีน จึงไม่เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วมประชุมด้วย

จากการประชุม ข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 14-15 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น ก็มีประเด็นคำถามว่าสาเหตุใด จีน จึงไม่เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ทางด้าน
น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ส่งคำเชิญ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับสูง เวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 14-15 พฤษภาคม แต่ได้เชิญให้นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 แทนและนายกรัฐมนตรีได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมงาน ดังกล่าวแล้ว โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนในเดือนกันยายน และทางการจีนเป็นเจ้าภาพเช่นกัน

ทั้งนี้ การประชุมระดับสูง เวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 รัฐบาลจีนได้เชิญรัฐมนตรี 6 กระทรวงประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม,นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ,นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และตัวแทนของกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุม แทน ซึ่งเชื่อว่า จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ขณะที่การประชุมข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ผู้นำประเทศที่ได้รับเชิญไปร่วมการประชุมดังกล่าว อาทิ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา นายนาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีผู้นำจากเวียดนาม ฟิจิ คาซัคสถานและศรีลังกา เข้าร่วมประชุมด้วย

สำหรับการประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 ถือเป็นการประชุมทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระดับโลก โดยการที่ได้ไทยไปร่วมประชุมครั้งนี้อาจจะเป็นนัยในการขยายสมาชิกของ BRICS ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ การประชุมพบปะระดับผู้นำเหล่านี้จะโฟกัสไปที่เรื่องการค้าและโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาค, ความร่วมมือระดับทวิภาคีภายในกรอบโครงพหุภาคี, ตลอดจนการประสานงานและความร่วมมือกันในกิจการระดับภูมิภาคและกิจการระดับระหว่างประเทศ BRICS เป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกทางเลือกนอกกระแสหลัก ที่จีนกำลังพยายามสร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือของรัสเซีย กลุ่มความร่วมมือนี้ ต้องถือว่าเป็นอะไรที่ไม่สามารถมองข้ามได้ทีเดียว โดยที่เมื่อปีที่ผ่านมาผลผลิตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศเหล่านี้รวมกันมีมูลค่า เกือบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ

ก่อนการประชุมซัมมิตที่จะถึงนี้ ประเทศสมาชิกกลุ่มBRICS ก็มีการสร้างความสัมพันธ์ในการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เป็นต้นว่า ใน “ธนาคารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ซึ่งจีนเป็นตัวตั้งตัวตีนั้น ถัดจากจีนที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดแล้ว อินเดียและรัสเซียคือผู้ออกเงินทุนรายใหญ่ที่สุดรองลงมาเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 ทั้งนี้สหรัฐฯและญี่ปุ่นเองไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 57 ชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งแบงก์แห่งนี้