"สนธิญาณ" ชี้ !! ประชาชนเบื่อนักเลือกตั้ง!! อยากให้ "ลุงตู่" อยู่ยาวง่ายๆ ใช้ 50,000 รายชื่อแก้ "รัฐธรรมนูญ" เอาไหม??

"สนธิญาณ" ชี้ !! ประชาชนเบื่อนักเลือกตั้ง!! อยากให้ "ลุงตู่" อยู่ยาวง่ายๆ ใช้ 50,000 รายชื่อแก้ "รัฐธรรมนูญ" เอาไหม??

ยุคล : สวัสดีครับ ขอต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาในช่วงเวลาของรายการยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จริง ๆ แล้วต่อเนื่องมา 2 - 3 สัปดาห์แล้วนะครับ ที่สถานการณ์ของประเทศไทยไม่สู้ดี เนื่องจากมีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นถึง 4 เหตุการณ์ต่อเนื่อง นับตั้งเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริเวณสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลหลังเก่า ถนนราชดำเนินกลาง วันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ต่อเนื่องในวันที่ 15 พฤษภาคม เกิดเหตุที่บริเวณฟุตปาธหน้าโรงละครแห่งชาติ ซึ่งอยู่ติดกับสนามหลวง หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่ง ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอย่างที่คุณผู้ชมได้รับทราบไป จนกระทั่งสดๆร้อนๆ กรณีที่คนร้ายนำระเบิดไปป์บอมไปวางที่ใกล้บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีศูนย์วัฒนธรรม จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า คนร้ายน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน ขณะที่อีกฟากหนึ่งีสถานการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจ ต้องใช้คำว่าจู่ ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกมาตั้งคำถามถึงพี่น้องประชาชนจำนวน 4 คำถาม ผ่านกลไกของฝ่ายปกครองกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ไปถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่ฝั่งของนักการเมืองก็มองสถานการณ์ในภาพรวม จึงกลายเป็นการตกผลึกคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการที่จะสืบทอดอำนาจของตนเองใช่หรือไม่อย่างไร ประเด็นนี้ที่เราจะได้มาพูดคุยกับคุณสนธิญาณ วันนี้จึงมาในหัวข้อที่ว่า "ลุงตู่อยู่ยาวประชาชนว่าไง?" ก่อนอื่นไปถามคุณสนธิญาณก่อนนะครับว่าจะว่าอย่างไร ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง สวัสดีครับคุณสนธิญาณครับ

 

สนธิญาณ : สวัสดีครับคุณยุคลครับ สวัสดีครับท่านผู้ชมสปริงนิวส์และแฟนข่าวทีนิวส์ทุกท่าน

 

ยุคล : ที่ผ่านมาคุณสนธิญาณเองก็ไม่เคยปฏิเสธตัวเองว่า สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าถามแบบนี้ลุงตู่อยู่ยาว คุณสนธิญาณว่าอย่างไรครับ

 

สนธิญาณ : ผมก็ว่า อยู่ยาวไปเลยครับ หลายท่านอาจจะถามว่าจะอยู่ได้หรือ จะอยู่อย่างไรอยู่ยาว ผมเรียนว่าอยู่ได้ครับ ไม่ว่าจะอยู่ด้วยวิธีการผ่านกลไกการเลือกตั้งหรือไม่ต้องเลือกตั้งก็อยู่ได้นะครับ ไม่ใช่ว่าอยู่ไม่ได้ กฎหมายเปิดช่องเอาไว้

 

ยุคล : พูดแบบนี้ผมว่าประชาชนจำนวนหนึ่ง จะบอกว่า จะอยู่อีกแล้ว ไหนบอกว่าจะโรดแมป ไหนบอกว่าจะเลือกตั้ง หาเรื่องอยู่ยาวสืบทอดอำนาจตัวเอง

 

สนธิญาณ : นั่นพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ผมครับ สำหรับผมถามว่าทำไมต้องการเชียร์ให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ยาว หรือพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นต่อเนื่องไปโดยอาศัยช่องทางทางกฎหมาย หรือจะเป็นด้วยการเลือกตั้งก็ตามแต่ และตัวของพล.อ.ประยุทธ์เอง เราจะต้องมาดูกันว่า ถ้าเราสังเกตท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้นเปลี่ยนมาตลอด หลังจากการยึดอำนาจใหม่ๆ เมื่อพฤษภาคม 2557 หลังจากนั้น 3 - 4 เดือน ก็จะเริ่มบ่นแล้ว "อยากอยู่อยากทำอะไรก็ทำกันไปเลย ผมไม่เอาแล้ว ผมเหนื่อยแล้ว ผมพอแล้ว"

 

ยุคล : เหมือนประชดประชันตัดพ้อออกมา

 

สนธิญาณ : เป็นการตัดพ้อ เป็นการพูดแบบไม่สามารถที่จะทนได้ เลี้ยงสื่อตอนปีใหม่ เมื่อ 8 ธันวาคม 2557 ก็บอกว่า "ปวดหัวก็ปวดหัว เหนื่อยก็เหนื่อย ไม่ได้อยากอยู่ ที่บอกว่าจะทำเวลาทันหรือไม่ทัน จะขยายเวลาออกไป จะเดินหน้าไปทางไหน ถ้าท่านอยากให้ผมทำผมก็จะทำ ไปหาวิธีการมา ผมไม่ได้อยากทำ ไม่อยากอยู่"  ในตอนปี 2558 ท่านบอกว่า "ไม่คิดสืบทอดอำนาจ วันเดียวก็ไม่อยากอยู่" นี่ตอนเป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 วันนั้นมีคุณอภิสิทธิ์อยู่ด้วยนะครับ พล.อ.ประยุทธ์ เอ่ยชื่อถึงคุณอภิสิทธิ์ด้วยครับ บอกว่า "เรียนท่านอภิสิทธิ์อยู่ไหม บอกเขาด้วยว่าผมไม่ต้องการคิดสืบทอดอำนาจ แม้แต่วันเดียวก็ไม่อยากอยู่ แต่ผมต้องการสร้างรากฐานทางการเมืองให้เข้มแข็ง เพื่อให้นักการเมืองบริหารประเทศให้การเมืองมีธรรมาภิบาล ไม่ใช่เอาประชาชนมาต่อสู้กัน ถ้าครั้งหน้าใครไม่ร่วมก็อย่ามาวิจารณ์ ห้ามพูดทุกที่ ไม่ต้องมาวิ่งเต้น ใครวิ่งเต้นเห็นรายชื่อขีดชื่อไปก่อน อย่ามัวแต่ไม่คิดว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ต้องคิดว่าใครจะทำต่อ ถ้าทำเร็วก่อน 20 เดือน ไม่รู้ท่านอภิสิทธิ์จะเตรียมตัวทันหรือเล่า ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนผิดกฎหมายมาวิจารณ์ ผมยอมไม่ได้ ผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ฝากนักการเมืองที่อยากลงเลือกตั้ง อย่าให้เหตุการณ์กลับไปเป็นแบบเดิม เพราะจะไม่มีใครเข้ามาแก้ปัญหาให้อีกแล้ว" นี่คือเบื่อ ทนไม่ไหว ถ้าเกิดปัญหาก็ไม่เอาแล้ว มาอีกนะครับ ในปี 2559 จู่ ๆ ก็ออกมาอย่างรุนแรง "จะให้หยุดตอนนี้ไหม ผมพร้อม ซึ่งผมกำลังคิดอยู่" "คิดว่าผมจะทนเหรอ ผมไม่อยู่แล้ว ผมก็ไปไหนของผม ไม่สนใจแล้ว พอแล้ว" นี่คือการพูดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2559 พูดกันมาต่อเนื่อง แต่ถ้าท่านผู้ชม คุณยุคลสังเกตอาการของ พล.อ.ประยุทธ์ช่วงนี้ ไม่ได้พูดเรื่องเบื่อนะครับ สิ่งที่เราได้เห็นอย่างชัดเจนขณะนี้ คือท่าทีในการที่จะสู้กับนักเลือกตั้งทั้งหลาย การตั้งคำถามมา 4 ข้อ ไม่ต้องทวนรายละเอียดหรอกครับว่าตั้งว่าอย่างไร แต่เป้าไปที่นักเลือกตั้ง

 

ยุคล : ถาม 4 ข้อ ผมรู้สึกว่า เหมือนจะให้เลือกพล.อ.ประยุทธ์ หรือว่าจะเอานักเลือกตั้ง อย่างไงอย่างงั้นครับ

 

สนธิญาณ : ลองทวนดูครับ

 

ยุคล : มี 4  ข้อนะครับ 1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร 3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดย ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้นถูกต้องหรือไม่ 4. คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

 

สนธิญาณ แน่นอนครับ คำถาม 4 ข้อตอนนี้เริ่มกลับมาที่รัฐบาลแล้ว แต่ผมจะขยายและแจกแจงให้ฟังครับ ข้อ 1. รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ คำถามนี้คำตอบมีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว คือพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน

 

ยุคล : คุณอภิสิทธิ์บอกว่า ถามแบบนี้ไม่ได้ ไม่มีอะไรการันตี ทั่วโลกก็ไม่มีอะไรการันตีว่าการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

สนธิญาณ : ไม่การันตี แต่เดี๋ยวผมจะแจกแจงให้ฟังว่า การการันตีที่นั่งในประเทศไทยเป็นการทำงานการเมืองที่ลงลึก และประชาธิปัตย์ไม่ได้ลึกเท่า ไม่ได้เดินไปในจุดที่พ่ายแพ้ อันนี้เป็นคำพูดกว้างๆ โดยภาพทั่วไปการันตีไม่ได้ แต่ถามประชาชนสิครับร้อยทั้งร้อยก็จะตอบว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

 

ยุคล : แล้วพรรคเพื่อไทยจะไม่มีธรรมาภิบาลหรือครับแบบนั้น

 

สนธิญาณ : พรรคเพื่อไทยมีธรรมาภิบาลหรือไม่ ก็ให้เขาไปหาคำตอบเอาเอง การที่ออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เอาทักษิณซึ่งเป็นนักโทษหนีคดีคำพิพากษาที่ศาลตัดสินแล้วในคดีทุจริตกลับมา นี่มีธรรมาภิบาลไหมครับ

 

ยุคล : ไม่มีแล้วครับ

 

สนธิญาณ : ที่คนออกมาชุมนุมกัน 4 - 5 ล้านคน เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นมีธรรมาภิบาลหรือครับ แล้วลการเลือกตั้งที่บอกว่าทั่วโลกไม่ได้ ผมยืนยันว่าประเทศไทยยังไงก็ต้องออกมาเป็นแบบนี้ ความจริงคนที่ต้องร่วมรับผิดชอบ พรรคที่ต้องร่วมรับผิดชอบคือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่มีอะไรสนธิญาณก็โจมตีหรือต่อว่าแต่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่า มีโอกาสจะชนะการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยบ้าง การเมืองจะไม่รู้สึกตีบตัน ดูข้อ 2 ครับ ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไรต่อ เวลาใครมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ อำนาจมากมายมหาศาล แม้จะบอกว่ามีประชาชนตรวจสอบ แต่ผมเรียนถามกลับไปว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วทักษิณยังเดินอยู่แบบเดิมคือยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่อ ถามว่าถ้าทักษิณไม่มีความหวังในการที่จะกลับประเทศไทย ซึ่งโดยปกติก็กลับไม่ได้ เพราะตัวเองหนีคดีอยู่ ต้องกลับมารับโทษก่อน ซึ่งทักษิณปฏิเสธมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นถ้าทักษิณอยากจะกลับมา ก็ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมเท่านั้น การออกกฎหมายนิรโทษได้ก็ด้วยอำนาจของรัฐบาลและเสียงส่วนใหญ่ในสภา ถ้าทักษิณไม่อยากกลับทักษิณจะต้องทำอย่างไร ทักษิณก็ต้องบอกว่าเลิกเล่นการเมือง จบแล้ว พวกคุณทำไปเถอะ ผมอยุ่ต่างประเทศแล้ว เงินทองผมที่ต่างประเทศก็เยอะแล้ว แต่ตอนนี้ไม่ใช่เฉพาะกรณีของทักษิณเท่านั้น มีกรณีของยิ่งลักษณ์ กรณีของพานทองแท้ ในคดีฟอกเงินที่ค้างคาอยู่ มีคดีต่าง ๆ ของนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยเป็นหางว่าว ถามว่าด้วยภาพรวมทั้งหมด คุณยุคลต้องเห็นภาพ ทำไมจู่ ๆ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งถือว่าเป็นนักวิชาการ นักบริหารจัดการ จู่ ๆ ออกมาโพสต์เรื่องพฤษภา 53 ออกมาโพสต์เรื่องผมอยู่ในประเทศที่มีคนเลวฆ่าประชาชนเป็นร้อย เอาปืนจ่อหัวยิงคนในวัด ซึ่งอินเข้าไปในเหตุการณ์เหล่านี้ เราะนายกิตติรัตน์ เพราะนายกิตติรัตน์ก็กำลังจะโดนดำเนินคดีเหมือนกัน จำนำข้าว เห็นไหมครับการผนึกกำลังเพื่อปกป้องเป็นสิ่งที่เขาต้องทำ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาต้องทำเขาก็ต้องเดินหน้าไปสู่ชัยชนะแห่งการเลือกตั้ง ยึดกุมอำนาจรัฐ ทีนี้ก็มาดูครับว่าคู่ต่อสู้ก็มีแต่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์จะชนะไหม เราพูดกันมาหลายครั้ง เดี๋ยววันนี้จะแจกแจงลงอีกครั้งในรายละเอียด ถ้าเราท่านทั้งหลายมานั่งคิด และนึกถึงจิตใจ พล.อ.ประยุทธ์ ทำมาแล้ว 3 ปี แต่ดูแล้วคำถามที่ออกไปสะท้อนจิตใจนะครับ แล้วไม่ได้สะท้อนเฉยๆ นะครับ คำถามนี้เป็นกระบวนการการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.

 

ยุคล : แต่ด้านหนึ่งก็อยากจะถามเหมือนกันว่า กลไกการปฏิรูปตลอด 3 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวหรือครับ ไม่สำเร็จหรือครับ

 

สนธิญาณ : ดูกันไปต่อครับ

 

ยุคล : คุณยุคลครับ เปิดฉากร้อนแรงมากวันนี้ เดี๋ยวพักกันสักครู่เดียว (พักช่วง)

ยุคล : ตามกันต่อในเบรคที่สองของยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบ ค้างเอาไว้ก่อนปิดเบรคที่แล้วว่าการยิงคำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ไปถึงพี่น้องประชาชน เหมือนกับส่งสัญญาณว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่อ เหมือนกับทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่มีความเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้ง ต่อผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะมีคำถามเหมือนกันว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าตลอดระยะเวลาการทำงาน 2 -3 ปีที่ผ่านมา เรื่องของการปฏิรูปพรรคการเมืองและการเมืองนั้นล้มเหลว ยังไม่สำเร็จใช่หรือไม่ เป็นอย่างไรครับคุณสนธิญาณ

 

สนธิญาณ : ใช่ครับ เราต้องดูหลายเรื่องในการปฏิรูปบ้านเมืองในตอนนี้ สิ่งที่จะต้องทำคือ 1. การปฏิรูปทางการเมือง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 2. การปฏิรูประบบราชการ 3. การปฏิรูปทางด้านการศึกษาและสังคม เศรษฐกิจ ทีนี้เรามาดูว่าการปฏิรูปทางการเมือง ถามว่าปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาจากอะไรครับ มาจากนักการเมืองใช้กลไกของระบอบการเลือกตั้งเข้ายึดกุมอำนาจรัฐแล้วมาเอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง กลไกที่นักการเมืองใช้คือกลไกของการเลือกตั้ง การเข้าควบคุมพื้นที่ ใช้ระบบอุปถัมภ์ ระบบการเงิน ระบบอัดฉีดงบประมาณ ระบบของการซื้อเสียงด้วยประชานิยม กุมอำนาจอยู่ในมือ เผอิญประเทศเรายังไม่ถึงคราวหายนะ เพราะระบบประชานิยม แต่ความจริงก็จ่ออยู่แล้ว ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านอาจจะเป็นเพราะเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองที่ดลใจให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดันให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อช่วยทักษิณ จึงทำให้เกิดการชุมนุมของประชาชนและเกิดการยึดอำนาจ การจะปฏิรูปการเมืองได้ในวันนี้ก็ต้องกลับมาดูรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ที่ผ่านมาพรรคการเมืองทั้งหลายเป็นพรรคของตระกูลของกลุ่มบุคคล ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นของหลายกลุ่มบุคคลที่เข้าไปกุมอำนาจอยู่ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยคุณจะสมัครรับเลือกตั้ง คุณจะต้องเขียนใบลาออกทิ้งไว้ก่อน โดยที่ไม่ลงวันที่ คุณจะต้องทำตามเงื่อนไขที่ทักษิณกำหนดถึงจะสามารถลงสมัคร ส.ส. ได้ เห็นไหมครับ ระหว่างที่คุณพูดเรื่องประชาธิปไตย แต่ในพรรคคุณไม่มีประชาธิปไตย อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่เจ้าของพรรค ไม่ต้องไปดูพรรคชาติไทยพัฒนาของคุณบรรหาร พรรคชาติพัฒนาของคุณสุวัจน์ พรรคภูมิใจไทยและทุกพรรคที่เป็นพรรคเล็กพรรคน้อย กุมอำนาจหมด หากจะปฏิรูปการเมืองในตรงนี้ทำอย่างไรที่ให้ ส.ส.ทั้งหลายไม่ถูกกุมอำนาจ เช่น มีความพยายามในการเสนอทำไพรมารีโหวต ให้สมาชิกพรรคเข้ามามีกำหนด มีบทบาทในการคัดสรรการเลือกตั้ง เป็นอย่างไรครับพรรคการเมืองทั้งหลายคัดค้านหมด ปัจจัยในการปฏิรูปไม่ได้อยู่อยู่ในมือพล.อ.ประยุทธ์อย่างเดียวในทางการเมือง ก็ต้องรอกฎหมายเลือกตั้งที่จะออกมา รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้แล้ว ต้องดูฝีมือของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ชุดที่มีพล.อ.สมเจตเป็นประธานว่าจะสามารถทำออกมาได้มากน้อยขนาดไหน 2.ระบบราชการที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แน่นอนครับ พล.อ.ประยุทธ์ สิ่งที่ท่านพลั้งปากออกมาจะโดยตั้งใจหรือไม่ อย่างไรก็ตามแต่ที่อยากจะเห็นการปฏิรูปตำรวจด้วยการย่อสัดส่วน ด้วยการกระจายออกไปในต่างจังหวัด ไม่ให้โครงสร้างเทอะทะ เพราะเป็นกลไกหรือส่วนส่งเสริมให้เกิดระบบของการซื้อเสียง ถ้าทำทำจริง นี่ล่ะครับคือสิ่งที่ประชาชนรอคอยและก็หวังอยู่นะครับท่าน ก็ต้องทำให้เสร็จ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องจัดการให้เสร็จภายในหนึ่งปี ทีนี้การปฏิรูปอื่น ๆ การศึกษา เศรษฐกิจ เกี่ยวเนื่องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่สามารถทำได้ในวันเดียว องคาพยพของกลไกในสังคมนั้นเยอะ ก็ต้องเดินไปตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี พล.อ.ประยุทธ์ก็พยายามเหมือนกันในการที่จะบล็อคบางอย่างไว้ เพื่อให้พรรคการเมืองไม่ใช้นโยบายประชานิยม ไม่เอารถคันแรก ไม่เอาบ้านหลังแรก ไม่เอาจำนำข้าว ไม่เอาอะไรต่าง ๆ มา ในรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างนี้ไว้ แต่ได้รับการต่อต้านจากนักการเมืองอยู่นะครับ บอกว่า มาจากการเลือกตั้ง อะไรก็มาบล็อคไว้หมด มาจากประชาชน กระบวนการเวลาเราพูดทางการเมืองมีสองด้านในการปะทะกัน ถ้าดูวันนี้น่าจะเชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสู้ ความหมายที่พล.อ.ประยุทธ์จะสู้จากที่เคยเบื่อหน่าย ความหมายว่าจะสู้นั้นคืออย่างไร

 

ยุคล : สู้จะอยู่ต่อ

 

สนธิญาณ สู้ก็คืออยู่ต่อ ก็ทำสิ่งที่ทำอยู่ไม่ให้คั่งค้าง แต่จะสู้ได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ประชาชน อยู่ที่คนไทยทุกคน

ยุคล : เลยคิดว่าต้องทดลองสักหน่อย ส่ง 4 ข้อนี้ไป

สนธิญาณ : ไม่ใช่แค่ทดลอง กระบวนการกลไกที่เดินไปถึงประชาชน คำตอบเป็นแค่ระดับหนึ่งของการทดสอบที่ว่า แต่กลไกที่เดินไป เมื่อกลไกของรัฐเดินไปและประชาชนสะท้อนมา เพราะแรงสะท้อนนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นแบบนี้ในโลกโซเชียลยังเป็นอีกโลกหนึ่ง ในโลกของการชุมนุมตอนที่ผ่านมา 5 ล้านเสียง ก็เป็นอีกโลกหนึ่งเป็นข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง อีก 16 ล้านเสียงที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกมิติหนึ่ง

 

ยุคล : ต้องเอาหลายส่วนมาวินิจฉัยประกอบร่วมกัน

 

สนธิญาณ : แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งไว้แล้วในรัฐธรรมนูญคืออะไร คือไม้ตายวุฒิสมาชิก 250 คน ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี นี่เป็นหมากที่ล็อคเอาไว้แล้ว ภายใต้หมากที่ล็อคไว้แล้วเรามาดูแบบนี้ ผมเรียนว่า ทำไมยังยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์เลือกตั้งก็ต้องแพ้ ฟังดูเหมือนปรามาส เหมือนดูถูก

ยุคล : มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลยใช่ไหมครับ

สนธิญาณ : ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน แต่ครั้งปี 2554 ผมเอาภาพรวมในทางตัวเลขก่อน ดูปาร์ตี้ลิสต์

 

ยุคล : ปี 2554 การเลือกตั้งครั้งล่าสุด

 

สนธิญาณ : ถูกครับ เพราะครั้งนี้วัดกันที่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นหลัก คือคะแนนรวมไม่ว่าคุณจะเลือกเป็น ส.ส. ส่วนบุคคล หรือเลือกเป็นรายพรรค ใช้ใบเดียว แล้วค่อยกลับไปคำนวณ ครั้งที่แล้วเพื่อไทย ชุมนุมปิดราชประสงค์เอากองกำลังชุดดำ ผู้คนเดือดร้อนทั้งประเทศมีปัญหา แต่เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง คุณอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาล เลือกตั้งแพ้เขา ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์อาจจะบอกว่า เสียงในอีสานที่เลือกตัวบุคคลอาจจะกระเตื้องขึ้น แต่เราต้องกลับมาดูว่า ส.ส.เที่ยวนี้ปาร์ตี้ลิสต์มี 150 คน ครั้งที่แล้วมี 125 คน ใน 150 คน ประชาธิปัตย์อาจจะได้ 40 - 50 คน มาเติมเต็ม แต่ ส.ส.เขตพรรประชาธิปัตย์จะได้เท่าไหร่ ผมอยากให้ดูตัวเลขบางตัวเลขในภาคอีสาน แล้วคนในพรรคประชาธิปัตย์ไปพิจารณา ประชามติ 16 ล้านเสียง ชนะ 10 กว่าล้านเสียง ท่านผู้ชมเชื่อไหมครับว่าในภาคอีสาน มีอยู่ 20 จังหวัด ประชามติที่เห็นชอบชนะไม่เห็นชอบมีเพียง 5 จังหวัด อีก 15 จังหวัดแพ้

 

ยุคล : ก็คือคนไม่เอารัฐธรรมนูญ

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ รัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วไม่ได้วัดกันเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่วัดเชียร์ คสช. หรือเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ กระแสไปแบบนี้ เรามาดูกาฬสินธุ์เห็นชอบ 167,995 ไม่เห็นชอบ 206,069 คะแนน ที่ขอนแก่นเห็นชอบ 287,423 คะแนน ไม่เห็นชอบ 364,090 คะแนน ที่ชัยภูมิเห็นชอบ 190,838 คะแนน ไม่เห็นชอบ 226,079 คะแนน ที่นครพนมเห็นชอบ 118,947 คะแนน ไม่เห็นชอบ 132,201 คะแนน แต่มาชนะที่จ.นครราชสีมา เห็นชอบ 690,698 คะแนน ไม่เห็นชอบ 387,028 คะแนน ที่ชนะใน จ.นครราชสีมา เพราะมีพรรคคุณสุวัจน์ มีประชาธิปัตย์บางส่วน

 

ยุคล : ไม่ได้แบ่งเพื่อไทย

 

สนธิญาณ : ไม่ได้แบ่งเสียทีเดียว ที่นครราชสีมา เพื่อไทยไม่ได้ ส่วนใน จ.บึงกาฬ เห็นชอบ 59,270 คะแนน ไม่เห็นชอบ 90,601 คะแนน ใน จ.บุรีรัมย์ เห็นชอบ 345,820 คะแนน ไม่เห็นชอบ 230,281 คะแนน ที่ชนะเพราะบารมีคุณเนวิน ชิดชอบ ใน จ.มหาสารคาม เห็นชอบ 166,177 คะแนน ไม่เห็นชอบ 226,146 คะแนน ใน จ.มุกดาหาร เห็นชอบ 50,532 คะแนน ไม่เห็นชอบ 82,100 คะแนน จ.ยโสธร เห็นชอบ 64,261 ไม่เห็นชอบ 113,237 คะแนน ใน จ.ร้อยเอ็ด เห็นชอบ 180,628 คะแนน ไม่เห็นชอบ 322,184 คะแนน ใน จ.เลย 145,102 คะแนน ไม่เห็นชอบ 122,584 คะแนน จ.ศรีสะเกษ เห็นชอบ 232,078 คะแนน ไม่เห็นชอบ 317,950 คะแนน ใน จ.สกลนคร แพ้ จ.สุรินทร์ แพ้ จ.หนองคาย แพ้ จ.หนองบัวลำภูแพ้ จ.อำนาจเจริญ ชนะ จ.อุดรธานี แพ้ จ.อุบลราชธานี ชนะเพราะมีประชาธิปัตย์อยู่บางส่วน

ยุคล : คะแนนสะท้อนระบบฐานเสียงของนักการเมือง

 

สนธิญาณ : และฐานเสียงของเพื่อไทย นี่ชัดเจนครับ ขนาดทหารทำงานกันอย่างเต็มที่ กระแสนิยมพล.อ.ประยุทธ์สูงยิ่ง แต่พื้นที่ในภาคอีสาน พรรคประชาธิปัตย์ที่ผมเรียนว่าคุณไม่เคยลงไป ข้อมูลตัวเลขแบบนี้คุณไปวิเคราะห์ให้ตายก็ไม่มีทางหรอก เพราะคุณไม่เคยได้ไปทำการบ้าน คุณไม่เคยไปทำงานจริง ๆ

 

ยุคล : มีไลน์หลุดออกมาของคุณเถกิง เทพไทย ที่บอกว่า อยู่ไปนานวันเข้าคนรู้สึกว่าประชาธิปัตย์กับ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนเป็นอันเดียวกัน

 

สนธิญาณ : อันเดียวกันไม่ได้หรอกครับ รายนั้นไปบอกว่าใครที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นขี้ข้า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งค่อนข้างจะแรง ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างขึ้น ทำให้การเมืองมึนงง นั่นก็คือการเดินเข้าพรรคของ กปปส. ที่ไม่มีคุณสุเทพ แล้วมาประกาศว่าจะสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์เป็นนายก นี่ก็มีนัยยะทางการเมือง

 

ยุคล : หลายซับหลายซ้อน หลายเหตุหลายปัจจัย

 

สนธิญาณ : ทางการเมือง ไม่สามารถมองมิติเดียวได้ครับคุณยุคลง

 

ยุคล : แต่ที่แน่ ๆ วันนี้หัวข้อที่เราคุยกัน "ลุงตู่อยู่ยาวประชาชนว่าไง?" และเบรคสุดท้ายคุณสนธิญาณจะมาฉายภาพที่เป็นทางที่สมเหตุสมผล หากพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่อ จะอยู่ด้วยกลไกช่องทางใดบ้าง ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่เดียวครับ (พักช่วง)

ยุคล : ในเบรคที่แล้วคุณสนธิญาณทิ้งท้ายไว้ว่า การเมืองไม่สามารถที่จะมองปัจจัยหรือมิติเดียวได้ ต้องมองปัจจัยทุกอย่างให้ครบถ้วนสมบูรณ์ มีหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หลายคนสับสน เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองก็คือการที่แกนนำ กปปส. 8 คน กลับคืนสู่พรรคประชาธิปัตย์และบอกว่าจะสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์รายละเอียดเป็นอย่างไรเราไปถามคุณสนธิญาณ มีหลายมิติเหลือเกินครับคุณผู้ชม

 

สนธิญาณ : เกี่ยวพันกับเรื่องนี้เหมือนกัน เรื่องลุงตู่อยู่ยาวนะครับ เราต้องถอดรหัสแบบนี้ก่อน วันดีคืนดี ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แแล้วที่คุณสุเทพ ออกมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก่อนที่คุณสุเทพจะพูด มีข่าวของคุณอภิสิทธิ์ออกมาก่อน  ว่าจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกวาระหนึ่ง ซึ่งในการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแน่นอนคุณอภิสิทธิ์ในฐานะนักประชาธิปไตยเคารพการเลือกตั้งก็จะต้องเสนอชื่อตัวเอง เป็นนายกรัฐมนตรี คุณสุเทพเหมือนจะออกมาสวนคุณอภิสิทธิ์ว่า "ผมยังไงก็ตามแต่ แม้จะมีการเลือกตั้งก็สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี" คนที่เคยกอดคอกันมา เดินกันคนละทาง ไลน์จึงหลุดออกมา คุณเทพไท เสนพงศ์ เป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับคุณอภิสิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง บอกว่าพวกที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นขี้ข้าประยุทธ์ ซึ่งอันนี้ก็ต้องพิจารณากันเพราะคุณสุเทพก่อนหน้านั้น เป็นผู้บังคับบัญชา พล.อ.ประยุทธ์ เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเคยทำงานร่วมกับกองทัพในการสู้กับระบอบทักษิณเมื่อ พ.ศ. 2553 เมื่อครั้งเลือดนองแผ่นดิน หัวใจผูกพันของความเป็นเลือดผู้ชาย สิ่งที่เราเรียกว่ารู้ทางกันลึกซึ้ง ในขณะปี 2553 แม้คุณอภิสิทธิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การเข้ามามีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้ง ในการแก้ไขปัญหาครั้งนั้นไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์ บทบาทอยู่ที่คุณสุเทพ จึงผูกและรู้หัวใจกัน หลังจากนั้น กปปส. ก็ออกมาแถลงอีกว่า ทุกคนเห็นเป็นเอกภาพ ปรากฏว่าปฏิกิริยาในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งวันนี้แน่นอนว่าคุณอภิสิทธิ์ค่อนข้างจะกุมอำนาจได้มากกว่าฝั่งคุณสุเทพ ทำให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างการเดินเข้าพรรคของทั้ง 8 คน ผมว่าเป็นหนังยาวที่ต้องดูกันไป ทั้ง 8 คนก็ทิ้งอุดมการณ์หรือครับ ก็ไม่ใช่ เพราะหลังจากที่เข้าพรรค แล้วบอกว่าสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เย็นวันนั้นคุณสุเทพก็ยังออกมายืนยันว่าเชื่อมั่นในอุดมการณ์ ซึ่งการเชื่อมั่นในอุดมการณ์อง 8 คนที่ผูกกันมา คนหนึ่งที่เราจะต้องดูอย่างละเอียด คือคุณเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ ท่าทีค่อนข้างที่จะชัดเจนว่า สิ่งที่พูดกันไปนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพูดไปตามกลไกและระบบของพรรค เมื่อคุณเข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองและหัวหน้าพรรคจะเป็นแบบนั้น จะมีส่วนหนึ่งที่ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า "อ้าว ต้องดูก่อน เวลาระยะยาวมันมี" นี่เป็นประเด็นที่ต้องดู ทีนี้เราจะต้องมาดูว่า ทำไมพรรคประชาธิปัตย์เป็นเป้าหมายในทางการเมืองที่แหลมคมในขณะนี้ ต้องกลับมาดูว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่อนั้นมีอยู่หลายสูตร สูตรแรกคือทหารรัฐประหารยึดอำนาจต่อล้มรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนทางที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากจะเลือกและไม่อยากให้ทำ จะถูกแรงเก็บกดมาจากต่างชาติแน่นอน ในประเทศก็อาจจะมีปัญหาได้ แม้อาจจะมีบางกลุ่มอาจจะสะใจ สำหรับคนที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ แต่นั่นไม่ใช่หนทางที่ควรจะเลือก ดังนั้นก็ต้องมาดูหนทางทางรัฐสภาและกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า หลังจากที่กฎหมายลูกเกี่ยวเนื่องกับพรรคเลือกตั้งออกมา ต้องเลือกภายใน 150 วัน กลายเป็นโรดแมปที่เราพูดกันว่าตามห้วงเวลาที่จะต้องไปเลือกตั้งกันที่ปลายปี ก็ต้องมาดูว่านั่นล่ะครับก็คือสิ่งที่กำหนดไว้ในโรดแมป ต้องเป็นแบบนั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งตามที่ผมได้เรียนไว้แล้วว่า แน่นอนพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคเพื่อไทยก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้

 

ยุคล : ทำไมครับ ชนะการเลือกตั้งแต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้

 

สนธิญาณ : เพราะ 250 เสียงของ ส.ว. ที่มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี สภามีสมาชิก 750 คน ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะต้องได้เสียงอย่างน้อย 376 คนขึ้นไป 

 

ยุคล : เกินกึ่งหนึ่ง

 

สนธิญาณ : เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือ 2 สภารวมกัน ฉะนั้นเพื่อไทยจะเลือกตั้งอย่างไรก็ตามแต่ ด้วยคะแนนเสียงพื้นฐานมา ก็น่าจะอยู่ที่ 200 เสียง เพราะกลไกของระบบการเลือกตั้งในแบบสัดส่วนผสมกำหนดไว้แบบนั้น พรรคเพื่อไทยก็คิดแก้เกมนะครับ ไปสนับสนุนพรรคเล็กเอาคนของตัวเองที่จะได้เป็นที่สองไปอยู่ตามพรรคเล็ก คำว่าเป็นที่สองคือรู้แล้วว่าจังหวัดนี้แพ้ จังหวัดก็ลงไปเพื่อจะลงพื้นที่

 

ยุคล : เพื่อกว้านคะแนนเอามาลงในปาร์ตี้ลิสต์

 

สนธิญาณ :  เพราะถ้าคนที่ได้ที่สองไปอยู่ในพรรคเพื่อไทย ถ้าคุณได้ ส.ส.เขตไปแล้ว 180 คน คุณไม่ถูกนับรวม คุณเหลือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 20 คน แต่ถ้าคุณเอาคนที่ได้คะแนนเยอะ ๆ แต่เป็นที่สอง ไม่ได้ที่นั่งใน ส.ส.เขตไปอยู่ในพรรคอื่น คะแนนนี้จะมีความหมายที่ถูกนับ ไม่เป็นคะแนนที่สูญเปล่า

 

ยุคล : แต่ก็ถือว่าผิดกฎหมายการเลือกตั้ง

 

สนธิญาณ : ไม่ผิดครับ ก็เขาลงสมัครปกติในพรรคอื่น

 

ยุคล : อาจจะเป็นนอมินี

 

สนธิญาณ : ก็ไม่เป็นนอมินี ทำกันตามปกติ นี่ให้ชัดเจนก่อน เพราะฉะนั้นแต่อย่างไรก็ตามแต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่สามารถที่จะผ่านทะลุไปถึง 250 เสียงได้ เมื่อไม่ถึง 250 เสียงมาดูพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตามแต่พรรคประชาธิปัตย์ก็จะอยู่ที่ประมาณ 150 เสียง ก็แสดงว่ามี ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่น ๆ ประมาณ 100 เสียง ซึ่งจะไปรวมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ไม่ถึง 250 เสียง และไม่ถึง 376 เสียงก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะ 250 เสียง  ส.ว. เป็นอาวุธของ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ก็กลับมาดูฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ บวกพรรคเล็กและบวก ส.ว. นี่ตั้งนายกรัฐมนตรีได้ ส.ว.บวกพรรคประชาธิปัตย์ บวกพรรคเล็กอีก 100 เสียงก็ตั้งได้ แต่คุณอภิสิทธิ์จะยอมไหม ตั้งแล้วยกให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ส.ว. 250 เสียงจะเทให้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่น่าจะเป็นไปได้อีก หมากนี้จึงทำให้การเมืองตีบตันที่นำพาไปสู่การยุบสภาของพล.อ.ประยุทธ์ได้ เพราะสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญยังอยู่ เป็นรัฐบาล รัฐบาลใหม่ตั้งไม่ได้เพราะล็อค เว้นอีกทางหนึ่งคนในพรรคประชาธิปัตย์พลิกอุดมการณ์ของตัวเอง แพ้ไม่ชนะเพื่อไทยแล้ว แต่รวมกับพรรคเล็กแล้วเสียงมากกว่า 250 เสียง มาบวกกับ ส.ว. เป็น 500 - 600 เสียง โหวตพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลด้วยแต่นั่นพลิกอุดมการณ์ อุดมการณ์ที่เคยพูดว่าต้องเคารพกฎกติกาการเลือกตั้งถึงขนาดเสนอให้ 4 พรรคมารวมกันเสียด้วยซ้ำไป ทีนี้หมากแบบนี้อย่างไรก็เหนื่อย ถามว่าประชาชนเราต้องรอการเลือกตั้ง สิ่งที่ทำอะไรได้สำหรับคนที่อยากจะเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ มีช่องนะครับไม่ใช่ไม่มี ช่องอยู่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ฉบับปัจจุบัน ว่าเอาไว้ว่า "ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้..."

 

ยุคล : กำลังพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

สนธิญาณ : ก็แก้ให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไปเลยอย่างไรล่ะครับ 

 

ยุคล :  อย่างนั้นเลยนะครับ

 

สนธิญาณ : ก็แล้วแต่ประชาชน เพราะเขาบอกว่าการแก้มีอยู่ 3 - 4 วิธี วิธีแรกคือ คณะรัฐมนตรี

 

ยุคล : แบบนั้นก็ทำได้เลยนี่ครับ ไม่ต้องถามประชาชน

 

สนธิญาณ : ต้องเอาเสียงประชาชน อยู่ที่ประชาชน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ทำเองจะน่าเกลียดครับ 2. "...จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร..." 

 

ยุคล : ก็คือ สนช. ในปัจจุบัน

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ สนช.ก็ทำได้ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 263 บอกว่า ตอนที่ยังไม่มีรัฐสภา สนช. ทำงานแทนก่อน แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ "...หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย" แก้ไขตรงไหนล่ะครับ ก็ไปแก้มาตรา 268 บอกว่า "ภายในระยะหลังจากที่กฎหมายลูกออกมาแล้ว 150 วันให้เลือกตั้ง" ก็คือโรดแมปก็ไปแก้โรดแมปว่า ไม่จำเป็นต้อง 150 วันหรอก หลังจากกฎหมายนี่แล้ว 150 วัน ก็ให้รัฐบาลนี้รักษาการไปอีก 5 ปีเฉยๆ

 

ยุคล : อย่างนี้ก็ใช้คน 50,000 คนจะชอบธรรมหรือครับคุณสนธิญาณ

 

สนธิญาณ : สนช.

 

ยุคล : สนช. ก็รู้กันว่าอยู่ฝั่ง คสช.

 

สนธิญาณ : ก็ผมบอกว่ารัฐธรรมนูญเปิดช่อง จะชอบธรรมหรือไม่อยู่ที่ประชาชน ผมย้ำอยู่ที่ประชาชนครับ ประชาชนอาจจะส่งชื่อมา 3 ล้านคนก็เป็นได้ครับ เป็นไปได้ถ้าสมมุติแนวทางนี้คุณสุเทพจะทำ คุณสุเทพบอกว่า พี่น้องประชาชนมวลมหาประชาชน กปปส. เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 3 ล้านคน 5 ล้านคน 

 

ยุคล : แล้วถ้าอีกฝั่งหนึ่งไปปลุกบ้าง

 

สนธิญาณ : นี่เขาแก้รัฐธรรมนูญ

 

ยุคล : ถ้าฝั่งนี้ก็ไม่ยอมเอาคนขึ้นมา 3 ล้านคน 5 ล้านคนเหมือนกัน

 

สนธิญาณ : ก็แก้รัฐธรรมนูญตามรายชื่อครับ คุณก็ไม่อยากแก้ก็มาสิครับ นี่กลไกอยู่ครับ นี่ทางหนึ่ง ทางที่สองเราต้องมาดูตรงนี้ ถามว่าวันนี้คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ถามมาทั้งสิ้นจะถามไปทำไมถ้าจะไปอยู่แล้ว

 

ยุคล : ถ้าไม่อยู่จะถามทำไม

 

สนธิญาณ : นั่นสิครับ ถ้าไม่อยู่จะถามทำไม นักการเมืองจะมาจะดีจะเลวก็แล้วแต่ พวกคุณคุณก็เลือกตั้ง คุณไม่รู้จักคิด คุณอะไรก็ว่ากันไป

 

ยุคล : เห็นแต่ทางออกของตนเอง

 

สนธิญาณ : ก็ว่าไป เพราะฉะนั้นวันนี้ผมเพียงแต่มาวิเคราะห์ให้ฟังว่ามีช่องทางที่จะเป็นแบบนี้ ส่วนใครจะทำหรือไม่ ใครจะกล้าทำหรือไม่ สาระสำคัญเป็นแบบนี้ครับ ในคำถาม 4 ข้อ บทสรุปสำหรับวันนี้ ที่นักการเมืองออกมาตอบโต้ พล.อ.ประยุทธ์ ผมเรียนเลยนะครับว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนเผด็จการอื่น ๆ เหมือนนายทหารอื่น ๆ ที่เคยยึดอำนาจ ไม่ต้องตั้งคำถาม 4 คำถามนี้หรอกครับ ประชาชนเขาก็จัดการไปแล้ว เหมือนตอนพฤษภา35 แต่วันนี้ที่ถามออกไป เพราะคนส่วนใหญ่ยังหนุนพล.อ.ประยุทธ์ กระแสเสียงยังบวกกว่านักเลือกตั้งอยู่ถึงทำได้ เผด็จการถ้าไม่ยืนข้างประชาชน ประชาชนไม่สนับสนุนนะครับ ก็จะไปเร็วกว่านักเลือกตั้ง นี่ชัดเจนอยู่แล้วครับ

 

ยุคล : ที่มาภาพลักษณ์ก็แย่กว่าอยู่แล้ว

 

สนธิญาณ : ทางที่มาก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ทำไมมาแล้วคนชื่นชมคนถึงเชียร์  สนธิญาณเชียร์ แต่คนทั้งประเทศสนับสนุน สนับสนุนนักการเมือง แล้วไม่เอาทหารไม่เอาเผด็จการ 

 

ยุคล : ก็แค่นั้น

 

สนธิญาณ : สนธิญาณก็เป็นสุนัขตัวหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่คนส่วนใหญ่ อยู่ที่ประชาชน ไม่ต้องถามหรอกผมบอกเลย ทำตัวทุจริตคอร์รัปชั่นเอาแต่พรรคพวกสิ ทำทุกอย่างให้ประชาชนเห็นเป็นตรงข้ามกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องนักการเมืองหรอกครับ ประชาชนออกมาไล่ พล.อ.ประยุทธ์ เอง แต่วันนี้ ถ้าอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ อยู่ที่ประชาชน ผมบอกเลยว่าวิถีแห่งการเลือกตั้งจะเหนื่อยสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์และประเทศ แต่ช่องทางไหนที่จะออกไปก็แล้วแต่ หรืออีกทางหนึ่งที่เรียกว่าเยี่ยมยอด สุดยอดที่สุดก็คือพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเองโดยคุณอภิสิทธิ์หลบไปเป็นประธานรัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ และ พล.อ.เปรมก็แก้ไขปัญหาประเทศได้จริง เป็นเกียรติภูมิส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ที่เห็นแก่ประเทศชาติมากกว่าพรรค เที่ยวนี้ถ้าทำแบบนี้ผมรับรองว่าคะแนนพรรคประชาธิปัตย์จะชนะพรรคเพื่อไทย เพราะคนที่ลงประชามติบวกกับคนที่ศรัทธาพรรคประชาธิปัตย์จะทุ่มเทและเชียร์ให้ ทางออกแบบนี้ล่ะครับ สวยงาม แต่ทั้งสิ้นอยู่ที่การตัดสินใจของคุณอภิสิทธิ์คนเดียว

ยุคล : ชัดเจนนะครับ วันนี้ปิดท้าย วันนี้ต้องขอขอบพระคุณคุณสนธิญาณเป็นอย่างมากนะครับ ที่มาชี้ทางทางการเมืองให้กับพวกเราได้เห็นกัน ล่าคุณผู้ชมแต่เพียงเท่านี้กลับมาพบกันใหม่สัปดาห์หน้าสวัสดีครับ