ป.ป.ช.จัดหนัก "วัฒนา" ฟันคดีโกงบ้านเอื้ออาทรยุค "แม้ว" โทษสูงสุดประหารชีวิต

ป.ป.ช.จัดหนัก "วัฒนา" ฟันคดีโกงบ้านเอื้ออาทรยุค "แม้ว" โทษสูงสุดประหารชีวิต

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2560 แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายวัฒนา เมืองสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย กับพวก

กรณีถูกกล่าวหาว่า ทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการที่บริษัท พาสทีญ่า ไทย จำกัด ดำเนินการ โดยมีมูลความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 148 ฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิตและมาตรา 149 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

 

เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต

แหล่งข่าว กล่าวว่า ปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสำนวนการไต่สวน และรายงานให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลแล้ว แต่อัยการเห็นว่า คดีดังกล่าวยังมีข้อไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย

จึงต้องตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ก่อนส่งฟ้องต่อศาลต่อไป หากยังหาข้อยุติไม่ได้ ป.ป.ช. สามารถเรียกสำนวนกลับคืนมาส่งฟ้องเองได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้นายวัฒนา กับพวกถูกกล่าวหาว่า เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยเริ่มจากการที่บริษัทพาสทีญ่าได้โควตาเป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ 7 โครงการ 7,500 ยูนิต มูลค่า 2,500 ล้านบาท

 

ประกอบด้วย โครงการสวนพลูพัฒนา โครงการผดุงพันธ์ โครงการนนทบุรี (วัดกู้ 1) โครงการนนทบุรี (วัดกู้ 3) โครงการสมุทรปราการ (วัดคู่สร้าง 1) โครงการปทุมธานี ลำลูกกา คลอง 2 และโครงการกระทุ่มแบน 3 ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติในการเข้าเป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ

แต่ได้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้สามารถเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้ 
 


ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเริ่มมีการตรวจสอบหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

 

ซึ่งโครงการทุจริตบ้านเอื้ออาทรเป็นหนึ่งในโครงการอื้อฉาวที่คตส.เข้าไปตรวจสอบ โดยพบว่ามีหลายโครงการที่ผิดปกติ รวมถึงโครงการที่มีการกล่าวหานายวัฒนาและพวกด้วย ต่อมาเมื่อ คตส. หมดหน้าที่ได้ส่งสำนวนทั้งหมดที่ยังค้างอยู่มาให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อ