งามไส้ไม่เว้นวันจริงๆจนท.รัฐไทย! ควันหลงแรงงานแห่กลับบ้าน"เมียนมา"ร่อนหนังสือจี้ไทยสอบจนท.ไถเงินแรงงาน ขณะ"จักร์ทิพย์"ฮึ่มตร.อย่าริทำเด็ดขาด

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

  

งามหน้าไม่เว้นวันจริงๆ จนท.รัฐไทย!! ควันหลงแรงงานแห่กลับบ้าน หลัง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับปรับหนักบังคับใช้ โดยล่าสุด "ทางการเมียนมา" ร่อนหนังสือจี้รัฐไทยสอบ เจ้าหน้าที่รีดไถเงินแรงงานขณะเดินทางกลับ ด้าน"จักร์ทิพย์" ฮึ่ม ตร.อย่าริทำเรื่องนี้เด็ดขาด หากพบผิดจริงเล่นงานหนัก ขณะรองนายกฯ เผยรัฐบาลขยายเวลาบังคับใช้บางมาตราไป 120 วัน 

 

วันนี้ (3 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน หลัง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับปรับหนักบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นพบว่าแรงงานต่างด้าวทุกสัญชาติทั้งลาว กัมพูชา และพม่า โดยเฉพาะพวกที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ต่างเดินทางกลับประเทศจนแน่นไปทุกด่านชายแดน ล่าสุดสถานการณ์ที่ด่านชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ตรงข้ามกับ จ.เมียวดีของพม่า คาดว่ามีแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับบ้านเกิดยังประเทศพม่าแล้วไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 คน

 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวแจ้งว่า นายทูล วิน ผู้ว่าราชการ จ.เมียวดี ของพม่าได้ทำหนังสือผ่านชุดประสานงานไทย–เมียนมา ถึงนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าฯ จ.ตาก โดยระบุขอให้ไทยช่วยตรวจสอบปัญหาการเรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าที่เดินทางกลับบ้านเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยทางการพม่าระบุว่าแรงงานเหล่านั้น ถูกเจ้าหน้าที่ไทยซึ่งปฏิบัติหน้าที่เส้นทางสายตาก–แม่สอด เรียกรับเงิน จึงขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ 2 ประเทศ ทั้งนี้ หลังฝ่ายไทยได้รับหนังสือจะเร่งตรวจสอบถึงพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่สามรถระบุได้ว่า เป็นเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจใดตามที่ทางการพม่าระบุ

 

อย่างไรก็ตาม ต่อเรื่องนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าววานนี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทางการเมียนมาส่งหนังสือถึงทางการไทยว่า ตนได้สั่งกำชับห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย เรียกรับผลประโยชน์ หรือสินบนจากแรงงานต่างด้าว หากพบมีความผิด ลงโทษทันที พร้อมระบุขอความร่วมมือจากแรงงานต่างด้าวหรือนายจ้าง หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ไปเรียกรับผลประโยชน์ในทุกรูปแบบ สามารถแจ้งข้อมูลมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โดยตรง หากพบว่ามีมูลความจริง จะดำเนินการลงโทษในทันที

 

ขณะที่ทางฝั่งรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ได้เปิดเผยว่า จะมีการออกมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ 3 มาตรา ในพ.ร.ก.ดังกล่าว ได้แก่ ม.101 ม.102 และ ม.122 ซึ่งกำหนดค่าปรับรวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับลูกจ้าง และนายจ้าง ที่ทำผิดกฎหมาย โดยจะมีผลย้อนไปถึงวันที่ 23 มิ.ย. คือวันที่ พ.ร.ก.ประกาศ เนื่องจากพบว่า ทั้ง 3 มาตรามีปัญหาการบังคับใช้ นายกฯ จึงเห็นควรให้ชะลอไปก่อน 120 วัน โดยนายวิษณุ ยังระบุว่า รัฐบาลรับทราบถึงปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว