ย้อนรอย!! “หมอเลี้ยบ-นกม.ภาพสวย" นอนซังเตกว่า10 เดือน บทเรียนราคาแพงเซ็นแก๊กเดียว-นายใหญ่รวยอื้อ-ตัวเองซวยนอนมุ้งสายบัวเกือบปี?

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th


อารมณ์ เคนหล้า สำนักข่าว Tnews

คงไม่ใช่ฟ้าบันดาล หรือสวรรค์กลั่นแกล้งแต่อย่างใด ที่ในช่วง 1 ถึง 2 ปีมานี้บรรดาลิ่วล้อหรือคนในเครือข่าย "ระบอบทักษิณ" พาเหรดกันเข้าคุกเป็นทิวแถว ไม่เว้นแม้กระทั่ง "หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" นักการเมืองภาพสวยแห่งค่ายไทยรักไทย ที่ตัวเขาเองถูกศาลนักการเมืองสั่งจำคุก 1 ปี เหตุแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อบริษัท ชินคอร์ป ของตระกูลนายใหญ่ ในช่วงที่ "ทักษิณ ชินวัตร" เรืองอำนาจถึงขีดสุด ช่วงปี 45-46-47 และเพิ่งพ้นโทษ (พักโทษ) ออกมาเมื่อวานนี้ หลังถูกจองจำนานกว่า 10 เดือนตามที่เป็นข่าวใหญ่ไปแล้ว

 

เรื่องนี้ต้องย้อนไปไกลกว่า 25 ปี  เมื่อ ครม.สมัยรัฐบาลทหาร รสช. มีมติอนุมัติให้ บริษัท ชินคอร์ป เป็นผู้รับสัมปทานดาวเทียม และนับเป็นต้นทางของเรื่องทั้งหมด เพราะจากนั้นวันที่ 11 ก.ย. 2534 ก็มีการทำสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด  (ชื่อเดิม) โดยนายทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริษัทตามที่มติ ครม.อนุมัติเอาไว้แล้ว (ช่วงนั้นทักษิณยังไม้ได้เล่นการเมือง ยังวิ่งขอสัมปทานจากรัฐอยู่-ดังที่หลายคนพูดว่าทักษิณ รวย เพราะทหารนี่แหล่ะ) จากนั้นทักษิณก็เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น บริษัท ชินคอร์ป จำกัด ซึ่งตามสัญญาข้อ 4 กำหนดให้บริษั ชินคอร์ป จะต้องจัดบริษัทขึ้นใหม่มาดำเนินการตามสัญญาภายใน 12 เดือน และจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 


 

นอกจากนี้ บริษัทชินคอร์ป และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวต้องรับผิดชอบตามสัญญาต่อกระทรวงในลักษณะร่วมกันและแทนกัน ซึ่งภายหลังมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่คือบริษัท ชิน แซทฯ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) แล้วมีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 1 เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เข้ามาร่วมรับผิดตามสัญญา โดยมีนายทักษิณ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทเป็นผู้ลงนามในสัญญา และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วย

 

ต่อมาวันที่ 24 ธ.ค. 2546 บริษัทชิน แซทฯ มีหนังสือถึง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นั่งเป็นเจ้ากระทรวง เพื่อขออนุมัติให้ บริษัทชินคอร์ปฯ ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทชิน แซทฯ ให้เหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยอ้างว่าธุรกิจให้บริการช่องดาวเทียมไอพีสตาร์ต้องใช้เงินทุนสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องให้พันธมิตรหรือเจ้าของแหล่งทุนเข้ามามีส่วนในการถือหุ้น โดยให้นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ศึกษาวิเคราะห์การขอแก้ไขสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ และนายไกรสร พรสุธี ในฐานะปลัดกระทรวงเสนอความเห็นว่า การลดสัดส่วนถือหุ้นดังกล่าวบริษัท ชินคอร์ป ยังคงรับผิดชอบการทำตามสัญญาได้ต่อไปและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยในท้ายที่สุด นพ.สุรพงษ์ ผู้เป็นเจ้ากระทรวง ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานตามที่วางแผนกันมาอย่างดีนั้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2547 แถมไม่ได้นำเข้า ครม.ที่มีนายทักษิณ เป็นนายกฯ ในขณะนั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกด้ว

คงจริงดังคำโบราณว่า ไม่มีใคร "ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือได้" ระบอบทักษิณก็เช่นกัน เมื่อเหิมในอำนาจถึงขีดสุด ทำได้แม้แต่กระทั่งแก้ไขสัญญาสัมปทานที่รู้ทั้งรู้ว่าผิดกฎหมายแน่ก็ยังกล้า...ก็ย่อมมีวันหมดจากอำนาจ...หลังถูก พล.อ.สนธิ บุญญรัตกลิน ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ระบอบทักษิณที่ครองอำนาจมายาวนานกว่า 5 ปีก็ถึงกาลอวสาน (ชั่วคราว) และเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมที่สุดฉ้อฉลก็ได้รับการหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ แต่กระนั้นอิทธิฤทธิ์ของระบอบทักษิณที่เริ่มฟื้นตัวแล้วก็ทำให้เรื่องถูกยืดเยื้อออกไปอีกร่วมๆ 7 ปี เมื่อ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล 6 ต่อ 2 เสียง เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 56 ว่า การกระทำของ นพ.สุรพงษ์ , นายไชยยันต์ และนายไกรสร ที่ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ดังกล่าว มีมูลความผิดทางอาญา และยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 3 นาย เป็นคดีหมายเลขดำ อม.66/2558 
 
โดยเมื่อถึงวันพิพากษาวันที่ 25 สิงหาคม 2559 หรือกว่า 10 เดือนเมื่อปีก่อน ศาลฯ ได้สั่งจำคุก นพ.สุรพงษ์ เป็นเวลา 1 ปีไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยอีก 2 คน จำคุก 1 ปีแต่โทษให้รอลงอาญาเป็นเวลา 5 ปี และหลังศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษานับจากวันนั้น "นัการเมืองภาพสวยอย่างหมอเลี้ยบ" ก็นอนคุกทันที...และหากไล่เรียงเวลาจะพบว่า แม้ความผิดที่ซุกไว้จะเกิดขึ้นมากว่า 12-13 ปี แต่หากกรรมไล่ล่าเสียแล้ว...ก็ย่อมยากที่จะรอดพ้นไปได้..."หมอเลี้ยบ" เป็นหนึ่งกรณีตัวอย่าง...ที่ผู้เอาใจนักการเมืองที่ฉ้อฉลควรพึงสังวรณ์ให้มาก