ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

ความคืบหน้าภายหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 176 เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเปิดช่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมือง รับฟ้องและสามารถพิจารณาคดีลับหลังนักการเมืองที่ถูกยื่นฟ้องคดีต่อศาล แต่มีพฤติกรรมหลบหนีคดีได้ รวมถึงไม่ให้นับอายุความของคดีในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี นั้นล่าสุด

นายสมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้เปิดเผยภายหลังการพิจารณาของ สนช. ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อบังคับใช้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะการใช้กฎหมายจะต้องบังคับกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คือ การบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ รวมไปถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย

ขณะเดียวกัน การกำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถไต่สวนลับหลังจำเลยได้ตามกฎหมายนั้น เพราะต้องการให้กระบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบการทุจริตสามารถเดินไปได้ แม้ว่าจะไม่มีตัวจำเลยมาปรากฏตัวต่อศาลก็ตาม อย่างไรก็ตาม การไต่สวนคดีลับหลังจำเลยจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้หลบหนีภายหลังมีการออกหมายจับ

นายสมชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุที่จำเลยหนี ไม่ว่าก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดี ส่งผลให้ศาลจำเป็นต้องจำหน่ายคดีเป็นการชั่วคราว แต่สำหรับกฎหมายฉบับใหม่นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ เพื่อไม่ให้กระบวนการสะดุดลง

แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวจาก สนช. แจ้งว่า การที่ สนช. ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจส่งผลต่อคดีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลจำหน่ายออกจากระบบชั่วคราว เนื่องจาก นายทักษิณ อยู่ระหว่างหลบหนีคดี

ทั้งนี้สืบเนื่องจากในบทเฉพาะกาล มีการระบุถึงคดีที่ได้ยื่นฟ้องและได้ดำเนินการไว้ก่อนที่กฎหมายบับนี้บังคับใช้ ให้ดำเนินการต่อไปตามพ.ร.ป.นี้ทั้งหมด

โดยปัจจุบันมีคดีที่ นายทักษิณ ถูกออกหมายจับโดยศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ 5 คดี ประกอบด้วย

1.คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท  เป็นการออกหมายจับ นายทักษิณ เมื่อ 16 กันยายน 2551 เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีคดี เพื่อติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาฟังการพิจารณาของศาลนัดแรก

2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) เป็นการออกหมายจับเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 เพื่อติดตามตัว นายทักษิณ มาพิจารณาคดีนัดแรก

3.คดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เป็นการออกหมายจับเมื่อวันที่  15 ตุลาคม 2551 เพื่อติดตามตัวมาพิจารณาคดีนัดแรก

4.คดีการทุจริตกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้ บริษัทกฤษฎามหานคร โดย นายทักษิณ ถูกอัยการยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 27 คน ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยศาลได้ออกหมายจับเนื่องจาก นายทักษิณ ไม่มารายงานตัวต่อศาลในการนัดสอบคำให้การนัดแรก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555

5.คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาทเศษ ตามคำพิพากษาที่ให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี โดยออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีที่ 5 นั้น ศาลได้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดแล้ว โดยให้จำคุก นายทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี นอกจากนี้ นายทักษิณ ยังถูกศาลอาญาออกหมายจับเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 ในคดีก่อการร้ายอีกหนึ่งคดี แต่สำหรับคดีนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การพิจารณาของกฎหมายฉบับนี้

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นอกจากคดีของ นายทักษิณ แล้ว ยังรวมถึงคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จากกรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย