"คิดถึงสมเด็จย่า"...18ก.ค. วันสวรรคต "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" ผู้เป็นต้นแบบแห่ง "ความพอเพียง"

18 ก.ค. วันสวรรคต สมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเด

พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง พลตำรวจเอกหญิง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  พระนามเดิม: สังวาลย์ ตะละภัฏ เป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยยิกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2456 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงตัดสินพระทัยเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ตามคำชักชวนจากพระยาดำรงแพทยกุล หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้ไปทรงศึกษาวิชาพยาบาลต่อที่ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์

 

เมื่อไปเรียนต่างประเทศจำเป็นที่จะมีนามสกุลในหนังสือเดินทาง เมื่อขณะนั้นยังไม่มีนามสกุล จึงจำเป็นต้องมีการหานามสกุลให้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ใช้นามสกุลของข้าราชบริพารที่มีนามสกุลคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้ากรมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ คือ ขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฎ)  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงมีพระนามในหนังสือเดินทางว่า นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี พ.ศ. 2460)

สมเด็จย่า

ต่อมา คุณถมยา พระอนุชาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปขอจดทะเบียนที่อำเภอใช้นามสกุล "ชูกระมล" ถึงแม้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่เคยใช้นามสกุลชูกระมล ก็อยากจะถือว่าทรงเกิดมาในสกุลนี้

 

ขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่น ๆ ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับนางสาวสังวาลย์ ทั้งนี้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงกล่าวกับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไว้ ความว่า "สังวาลย์เป็นกำพร้า...แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง"

 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และ  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

และเมื่อถึงวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม และให้กำเนิด พระธิดาและพระโอรส 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กับ พระโอรสและพระธิดา

พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสธิดา ให้รู้จัก “การให้” โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า “กระป๋องคนจน” เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก “เก็บภาษี” หยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

 

ทั้งพระโอรสและพระธิดาในพระองงค์ จะทรงได้ค่าขนม อาทิตย์ละครั้ง แม้จะได้เงินค่าขนมทุกอาทิตย์ แต่ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม และหากอยากได้ของเล่นอะไรต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเอง หรือ ประดิษฐ์เอง

ครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมัยพระเยาว์ กราบทูลสมเด็จย่าว่า อยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าก็ตอบว่า “ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มากค่อยเอาไปซื้อจักรยาน”….

สมเด็จย่า กับในหลวง ร.9

พระองค์มีพระนามที่นิยมเรียกกันว่า สมเด็จย่าทั้งนี้พระองค์ยังได้ประกอบพระราชกรณียกิจเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร และได้พระราชทานความช่วยเหลือผ่านทางเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เปรียบเสมือนพระองค์เสด็จมาจากฟากฟ้าช่วยให้พวกเขามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระสมัญญานามว่า "แม่ฟ้าหลวง"

แม่ฟ้าหลวง

วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
- พระมิ่งขวัญแห่งพยาบาลไทย!! ๒๑ ตุลาคม วันพยาบาลแห่งชาติ เทิดพระเกียรติ "สมเด็จย่า" เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้!!
- ร้องไห้ได้ไหม !! "ในหลวง ร.๙" ทรงตรัสถาม "สมเด็จย่า" เมื่อครั้งวัยเยาว์ในยามที่ประชวรหนัก !!