ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

    เมื่อบ่ายวันที่ 22 ก.ค. 2560 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลปากน้ำชุมพร อ.เมืองชุมพร ได้มีการประชุม คณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยสัญจร เพื่อรับฟังปัญหาของชาวประมงในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยมี นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุม มีคณะกรรมการบริหารสมาคมชาวประมงและสมาชิกจาก 13 สมาคม ประมาณ 200 คนเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สมาคมชาวประมงหัวหิน สมาคมชาวประมงปราณบุรี (จ.ประจวบคีรีขันธ์) สมาคมชาวประมงด่านสวี สมาคมชาวประมงหลังสวน สมาคมชาวประมงเรืออวนซั้งและเรือร่วมปากน้ำชุมพร (จ.ชุมพร) สมาคมชาวประมงสุราษฎร์ธานี สมาคมประมงอวนลากสุราษฎร์ธานี (จ.สุราษฎร์ธานี) สมาคมประมงอำเภอขนอม สมาคมชาวประมงปากพนัง สมาคมชาวประมงอำเภอสิชล (จ.นครศรีธรรมราช) สมาคมประมงสงขลา (จ.สงขลา) สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี และสหกรณ์ประมงปัตตานี จำกัด (จ.ปัตตานี)

 

           นายมงคล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า การประชุมสัญจรของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ จะจัดทุกๆ 2 เดือน หมุนเวียนไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีชาวประมงเป็นสมาชิกอยู่ การประชุมครั้งนี้เพื่อต้องการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงฝั่งอ่าวไทยว่าได้รับผลกระทบจาก IUU มากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปเสนอให้รัฐบาลรับทราบ เช่น ในเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่มีผลต่อการทำการประมง เพราะที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายอะไรมา พอชาวประมงทำถูกต้อง ก็จะออกกฎหมายใหม่มาทำให้ชาวประมงผิดอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวประมงทุกคนรับไม่ได้ และชาวประมงคงถอยอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะรัฐบาลจะมองแต่ EU ด้านเดียว โดยไม่ฟังเสียงของชาวประมงไทยเลย สมาคมฯ เคยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานมานานกว่า 6 เดือนแล้ว ขณะนี้มีเรือประมงจำนวนมากที่ทำประมงไม่ได้ต้องจอดเทียบท่า สมาคมฯ เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้เรือประมงที่ถูกกฎหมาย แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมเปิด และไม่มีแนวทางให้ชาวประมงว่าจะทำอย่างไร ทำให้ขณะนี้ทั่วประเทศขาดแคลนแรงงานประมงกว่า 74,000 คน และเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

            “สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยมีสมาชิกทั้งหมด 53 สมาคมใน 22 จังหวัด ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน วันนี้คงต้องขอมติชาวประมงว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร เพื่อให้รัฐบาลสนใจความเดือดร้อนของชาวประมงที่หลายคนกำลังจะหมดตัว ต้นเดือนหน้านี้ คงจะรวบรวมปัญหาทั้งหมดเสนอให้รัฐบาลอีกครั้ง กฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ถือว่าสร้างปัญหากับชาวประมงมาก แค่ทำผิดเล็กน้อย ก็มีโทษถึงขั้นยึดเรือ ถือเป็นการเขียนกฎหมายแบบครอบจักรวาล เพราะการทำประมงผิดกฎหมายตามหลักสากลคือการกระทำต่อทรัพยากร แต่การยึดทรัพย์ของชาวประมงถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม” นายมงคล กล่าว

เตรียมก่อม็อบ - สมาคมประมงไทยพร้อมเคลื่อนไหวใหญ่จี้รัฐบาลแก้ปัญหาขาดแรงงาน อ้าง IUU ต้นเหตุ (มีคลิป)

เตรียมก่อม็อบ - สมาคมประมงไทยพร้อมเคลื่อนไหวใหญ่จี้รัฐบาลแก้ปัญหาขาดแรงงาน อ้าง IUU ต้นเหตุ (มีคลิป)

นายโกศล กูรมะสุวรรณ เลขานุการสมาคมชาวประมงเรืออวนซั้งและเรือร่วมปากน้ำชุมพร กล่าวว่า การะชุมวันนี้คงจะเน้นหนักในเรื่องปัญหาแรงงาน เพราะใน ต.ปากน้ำชุมพรขาดแคลนแรงงานประมงประมาณ 6,000 คนมานานกว่า 2 ปี เพราะรัฐบาลไม่เปิดให้การจดทะเบียนให้ด้วยการทำบัตรสีชมพู สมาคมฯ เคยขอให้รัฐบาลใช้มาตรา 83 ซึ่งเป็นอำนาจของกรมประมง แต่กลับมี พ.ร.ก.แรงงานฉบับใหม่ออกมา ทำให้ชาวประมงเสียเปรียบมาก เพราะลูกจ้างประมงเปลี่ยนไปหานายจ้างใหม่ได้โดยนายจ้างเก่าไม่ต้องเซ็นยินยอม เพียงแต่ไปเซ็นรับสภาพหนี้ ซึ่งนายจ้างเก่ากับนายจ้างใหม่ก็ไม่รู้จะเจอกันได้เมื่อไหร่ การประกาศเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม-7 สิงหาคม 2560 ให้นำลูกจ้างผิดกฎหมายก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ไปขอขึ้นทะเบียน ชาวประมงก็จะต้องถูกหาว่าใช้แรงงานเถื่อนและเจอคดีค้ามนุษย์ แล้วทาง EU ก็จะบอกว่าเราใช้แรงงานเถื่อนและค้ามนุษย์อีก

            “ผมมีเรือประมง 1 ลำจากเดิมที่ต้องใช้แรงงานประมง 9-10 คน แต่ตอนนี้ต้องลดเหลือแค่ 6 คนเท่านั้น ทำให้จับปลาได้น้อยลง ส่วนหลายคนที่มีเรือ 2-3 ลำ ก็ต้องเอาเรือออกทำประมงแค่ลำเดียว และเรือที่ต้องจอดเทียบท่าก็ต้องเสียค่าบำรุงรักษา เพราะยิ่งจอดนานก็ยิ่งต้องดูแลมากขึ้น ลูกจ้างที่เคยทำงานกับผม 3-4 คน เปลี่ยนไปทำงานโรงงานโดยไม่สนใจเอาบัตรสีชมพูที่ยังอยู่กับผม เพราะเขาบอกว่าไปทำบัตรใหม่ที่ใช้กับโรงงานได้แล้ว ซึ่งเป็นผลจาก พ.ร.ก.ฉบับใหม่ที่ระบุว่าไม่ต้องขออนุญาตนายจ้างเก่า” นายโกศล กล่าว
 

เตรียมก่อม็อบ - สมาคมประมงไทยพร้อมเคลื่อนไหวใหญ่จี้รัฐบาลแก้ปัญหาขาดแรงงาน อ้าง IUU ต้นเหตุ (มีคลิป)

พงศกร นวนละมัย / ทีมข่าวทีนิวส์ชุมพร (มีคลิบข่าว)