ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

วันที่ 23 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนดินแดนที่ได้ชื่อว่ามรดกโลก เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานที่เห็นเด่นชัดด้านศิลปกรรมอันเป็นมรดกอันทรงคุณค่าบนแผ่นดินพระร่วง ได้แก่ เจดีย์ทรงดอกบัวตูม และพระพุทธรูปปางลีลา ที่มีความงดงามอ่อนช้อยอันเป็นผลงานชิ้นเอก ที่ยูเนสโกยอมรับในผลงานที่มีความงามเป็นเลิศ และเป็นต้นแบบให้มีวิวัฒนาการในสมัยต่อมา

 

อพท.4 หนุนภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างโบราณ “แผ่นดินพระร่วง” ต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

นายสมชาย  เดือนเพ็ญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ศิลปสมัยสุโขทัยที่เหลือปรากฏหลักฐานให้เราภาคภูมิใจนั้น ล้วนมีรากฐานมาอย่างยาวนานจากการค้าขายแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงเส้นทางระหว่างชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังจะพบหลักฐานการพบเครื่องประดับทองคำเป็นจี้ห้อยคอรูปใบหน้าที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหิน และต่อมาก็พัฒนาวิทยาการจนสามารถถลุงโลหะได้ ดังที่นักโบราณคดีได้สำรวจพบกลองมโหระทึก เครื่องมือโลหะ และเตาถลุงโลหะมากมาย ซึ่ง ดร.ธิดา  สาระยา ได้เข้ามาสำรวจและพบว่าเป็นแหล่งผลิตครบวงจรขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งแหล่งแร่ แหล่งถลุง และแหล่งแปรรูปชิ้นงาน

 

ต่อมา รศ.ดร.ศรีศักร์  วัลลิโภดม ได้ทำการศึกษารูปแบบของเครื่องประดับทองคำรูปใบหน้า และเตาเหล็กสามขาโบราณ ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า “แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาดเป็นชุมชนของผู้ร่ำรวยในวิทยาการโลหะกรรม” จากการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ซึ่งอยู่ที่ต้นสายน้ำแม่ลำพันนั้นไหลมาหล่อเลี้ยงถึงยังกำแพงเมืองสุโขทัย คือต้นสายอันเป็นรากฐานงานศิลปะจากชุมชนโบราณยุคก่อนนครรัฐ นั้นมีรากฐานยาวนานมาแล้วอย่างน้อยก็ร่วมสมัยพุทธกาลคือกว่า 2,500 ปี และเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า การที่กรุงสุโขทัยสามารถหล่อพระพุทธรูปได้ด้วยศิลปะอันงดงามนั้น จากการมีรากฐานที่ดีนั่นเอง งานศิลปะเชิงช่างโบราณสุโขทัยยังคงหลงเหลือให้ลูกหลานได้ศึกษา และสืบสานภูมิปัญญาจากรุ่นต่อรุ่นอย่างไม่ขาดสาย ตัวอย่างสำคัญดังเช่น เมื่อคราวบูรณะพระพุทธรูปปูนปั้นวัดศรีชุม โดยฝีมือเชิงช่างมหาบุญธรรม  พูนสวัสดิ์ ชาวบ้านเมืองเก่า ก็ได้ใช้สูตรปูนแบบโบราณอันประกอบไปด้วย ปูนจากหินเผาจากเขานาขุนไกร น้ำอ้อย กาวจากไขมันวัวควาย และน้ำที่หมักจากเปลือกประดู่ ซึ่งได้เป็นผลงานที่คงทนอวดสายตาแก่นักท่องเที่ยวมาจนปัจจุบัน นอกจากนี้รูปแบบมณฑปหลังคาศิลาแลงทรงประทุนโค้งของเมืองศรีสัชนาลัย เช่นที่ วัดพญาดำ นั้นเป็นความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมที่น่ายกย่อง โดยปรากฏรูปทรงหน้าจั่วที่หน้ามณฑปวัดสระปทุม อันเป็นต้นแบบให้กับปั้นลมเรือนไม้ บ้านเรือนทรงไทย ในสมัยต่อมา ซึ่งต้นสายของการนำไม้สักไปใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่ภาคกลางคือที่นี่ นับจากด้านล่างของจังหวัดชัยนาทลงไปนั้นไม่มีไม้สัก หากแต่ต้องนำเข้าไม้จากหัวเมืองเหนือลงไป ส่วนเครื่องประดุหรือเครื่องไม้ประกอบอาคารที่ยังคงหลงเหลือให้ศึกษาก็ได้แก่ บานประตูไม้สักแกะสลักรูปเทวดา เพดานไม้แกะสลักของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระปรางค์) และเพดานกรุวัดนางพญา ซึ่งเป็นงานลงรักปิดทองที่งดงาม ส่วนที่เมืองกำแพงเพชรสิ่งสำคัญที่น่ายกย่องได้แก่ การเลือกวัสดุที่มีในท้องถิ่นเป็นจำนวนมากมาใช้ก่อสร้างศาสนสถาน ดังปรากฏผลงานอันน่าทึ่งคือเสาศิลาแลงขนาดยักษ์ที่วัดพระนอน แสดงให้เห็นถึงการทุ่มเทสรรพกำลังความสามารถ ด้วยความศรัทธาอย่างสูงต่อพระพุทธศาสนา และสิ่งที่ปรากฏพบว่ามีร่วมกันในเมืองมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ก็คือ ศิลปะของฝีมือช่างทองที่สร้างสรรค์กัลปนาเครื่องอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินพระร่วงเจ้า ทั้งพระหน้าทอง ผอบ สถูป เจดีย์ ล้วนเป็นสักขีเชิงช่างของบรรพกาลที่ได้สร้างสรรค์ไว้โดยลูกหลานพระร่วง ในวันนี้ยังคงสืบสานงานฝีมือไว้ด้วยความภาคภูมิใจ

นายสิทธิพร  สุขเกษม หรือช่างระ แห่งโรงหล่อศิลปะเสรี ซึ่งรับปั้นหล่อ ออกแบบ เขียนแบบ งานประติมากรรมทุกขนาด ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง เปิดเผยว่า ผู้ริเริ่มการศึกษาภูมิปัญญางานหล่อแบบโบราณนั้นต้องยกให้พระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) เจ้าอาวาสวัดราชธานี อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ผู้ริเริ่มบูรณะวัดตระพังทองเมื่อปี พ.ศ. 2470 เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งต่อมาได้ฟื้นภูมิปัญญาโบราณด้วยการบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปที่แตกหักชำรุด ให้กลับมาครบองค์ประกอบมีความงดงามได้ดังเดิม ซึ่งโรงหล่อของหลวงพ่อตั้งอยู่ที่วัดราชธานี ต่อมาได้มีการสืบทอดภูมิปัญญาให้กับคนภายในชุมชนซึ่งได้แก่ นายบุญชู  ทิมเอม หรือบุญชูวัตถุโบราณ ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่สามารถหล่อซ่อมแซมพระพุทธรูปและวัตถุโบราณ ซึ่งนายเสรี  สุขเกษม พ่อของผมเป็นช่างอยู่กับลุงบุญชู จึงได้สืบสานภูมิปัญญานี้ไว้เมื่อลุงบุญชูเลิกกิจการไป โดยพ่อได้ก่อตั้งเป็นโรงหล่อศิลปะเสรีในเวลาต่อมา ส่วนตัวผมก็ได้ไปศึกษาที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ สาขาจิตรกรรมสากล จนสามารถออกแบบประติมากรรม ทั้งเพิ่มลดขนาดสัดส่วนได้ทุกประเภท งานปั้นหล่อประติมากรรมนั้นถือว่าเป็นการสืบสานงานฝีมือเชิงช่างไว้ได้หลายแขนง ทั้งงานร่างแบบเขียนแบบ , งานปั้นหุ่น , งานขี้ผึ้ง , งานสร้างแบบ , งานหล่อโลหะ , งานตกแต่งผิวชิ้นงาน ทั้งงานลงรักปิดทอง , งานรมดำ และงานทำสี ในปัจจุบันก็มีผู้ที่สนใจแวะเวียนเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมอยู่เป็นประจำ ยิ่งทำให้รู้สึกภาคภูมิใจว่าได้ร่วมรักษาคุณค่างานเชิงช่างเอาไว้ และสามารถถ่ายทอดความรู้ได้อีกด้วย ขณะนี้กำลังปรับอาคารให้เป็นส่วนจัดแสดงผลงาน เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้ในเร็ววันนี้

อพท.4 หนุนภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างโบราณ “แผ่นดินพระร่วง” ต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

นางอุษา  ทัฬหสิริเวทย์ แห่งอุษาสังคโลก เปิดเผยว่า เครื่องถ้วยชามสังคโลกนั้นเป็นสิ่งที่เห็นกันจนชินตาเพราะพบว่ามีอยู่ทั่วไป ในอดีตขุดตรงไหนก็เจอ ชิ้นที่สมบูรณ์ก็เก็บกันไว้ ชิ้นไหนที่แตกหักเสียหายก็ทิ้งกันไป เพราะโบราณถือกันมากจะไม่นำของแตกเข้าบ้าน เพราะถือว่าของแตกเป็นสิ่งไม่ดี ต่อมาก็ได้รับความนิยมจากผู้สะสมวัตถุโบราณ ซื้อเก็บสะสมทำให้ของเก่าโบราณเริ่มหมดไปจากชุมชน ในท้องถิ่นของเราในอดีตก็มี กำนันจิตร  พ่วงแผน ได้เก็บรวบรวมเครื่องสังคโลกที่สมบูรณ์และแตกหักชำรุดไว้เป็นจำนวนมาก มีลุงบุญชู ทิมเอม เป็นเจ้าแรกที่ซ่อมแซมสังคโลกที่แตกหักให้สมบูรณ์ได้ สำหรับอุษาสังคโลกนี้ ผลิตสังคโลกขึ้นเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจาก อพท.4 ให้ความรู้ด้านการพัฒนาให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทดลองปั้นและเขียนลวดลายสังคโลกได้ด้วยตัวเอง  ซึ่งเมื่อเคลือบและเผาชิ้นงานแล้วก็จะส่งชิ้นงานไปให้นักท่องเที่ยว โดยได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็นับว่าเป็นความภาคภูมิใจที่นอกจากได้ร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาแล้ว ยังสามารถมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสจริงในภูมิปัญญาของเราในกิจกรรม เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย สมัยหนึ่งอุทยานประวัติศาสตร์ได้รับทุนวิจัยจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพราะพบว่าเป็นเครื่องถ้วยโบราณที่ชาวญี่ปุ่นนิยมนำมาใช้เป็นถ้วยชงชาเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วนั้น คือ สังคโลกสุโขทัย จึงเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งมีคุณประโยชน์อย่างมาก เครื่องสังคโลกโบราณนับวันจะหมดไปจากท้องถิ่น คุณสมเดช  พ่วงแผน แห่งอาณาจักรพ่อกูสังคโลก เป็นเจ้าแรกที่ได้รื้อฟื้นการผลิตเครื่องถ้วยชามสังคโลกขึ้น โดยศึกษาเทคนิควิธีการขึ้นรูปจากช่างปั้นหม้อบ้านทุ่งหลวง ผสานเทคนิคการเผา นำมาเขียนลายและเคลือบผิวแบบโบราณ จากสูตรในงานวิจัยซึ่งต้องปรับให้เข้ากับวัตถุดิบเดิมที่มีในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ที่สูตรการเคลือบแบบโบราณได้มีการวิจัย และค้นหาวัตถุดิบในท้องถิ่นจนสามารถสร้างเป็นเครื่องสังคโลกแบบโบราณได้ทุกประการ นายนัน  เชื้อบัว หรือช่างนัน ผู้แกะสลักพระพุทธรูปไม้ เปิดเผยว่า แต่เดิมมีอาชีพทำนา เมื่อว่างเว้นจากฤดูทำนามีเวลาว่างก็หาไม้เก่าจากหัวไร่ปลายนามาแกะสลักเป็นชิ้นงาน เริ่มต้นด้วยการทำชิ้นงานตามแบบของโบราณที่เคยเห็นแบบอย่างพระพุทธรูปไม้โบราณ เมื่อผ่านกาลเวลามักจะผุกร่อนชำรุด โดยที่พระพุทธรูปแกะสลักจากหินของโบราณนั้นยังคงหลงเหลือความงดงาม ซึ่งพบว่าครูช่างโบราณมีความละเอียดลออน่าชื่นชมในภูมิปัญญาของครูช่าง เมื่อได้ศึกษาและฝึกฝนจนชำนาญก็สามารถที่จะถอดรหัสจากครูช่างโบราณได้ในที่สุด เป็นรหัสลับของสัดส่วนที่เหมาะสมในชิ้นงานโบราณ กล่าวคือความกว้างของไหล่จะเท่ากับความสูงจากพระบาทจนถึงหัวเข่า ช่วงหัวเข่าถึงเอวจะเท่ากับช่วงเอวไปถึงอก และจะเท่ากับช่วงอกไปถึงยอดรัศมี ซึ่งถ้าแกะสลักตามสูตรนี้จะได้พระพุทธรูปที่มีสัดส่วนที่งดงามทุกองค์ ในช่วงแรกๆได้นำชิ้นงานไปฝากขายตามร้านขายของที่ระลึกก็ขายได้เรื่อยมา กระทั่งมีผู้ที่ชอบในผลงานตามมาสั่งให้แกะสลักตามแบบ โดยนำไม้มงคลคลชนิดต่างๆมาให้แกะ จนมีลูกค้าประจำอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันนายนะ  เชื้อบัว ลูกชายก็ได้สืบทอดฝีมือเชิงช่างไว้ได้อีกทอดแล้ว โดยตั้งเป็นบ้านช่างนะอยู่ใกล้ๆกัน ซึ่งทาง อพท.4 ก็มาส่งเสริมโดยหาช่างมาสอนงานดุนโลหะและลงรักปิดทอง จนปัจจุบันสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานได้จากพระพุทธรูปไม้ขัดผิวแบบเดิม ต่อไปนี้ลูกสะใภ้ก็จะสามารถลงรักปิดทอง และตอกดุนลายจากแผ่นโลหะ นำมาประดับตกแต่งองค์พระพุทธรูปให้มีความงดงามได้อีกด้วย

นายประครอง  สายจันทร์ รักษาการผู้จัดการ สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร หรือ อพท.4 กล่าวว่า อพท.ได้ดำเนินโครงการรวบรวมและอนุรักษ์ช่างสิบหมู่-ศิลปะสุโขทัย เพื่อสืบค้นรวบรวมข้อมูลช่างสิบหมู่ และพัฒนาส่งเสริมศักยภาพช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อต่อยอดในคุณค่าของงานฝีมือนั้นๆ ให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว ข้อเท็จจริงของช่างสิบหมู่นั้น ศาสตราจารย์สันติ เล็กสุขุม แสดงทรรศนะว่า “พูดถึงช่างสิบหมู่โดยตรงนั้น จะต้องเป็นงานช่างที่เชื่อมโยงกับเรื่องของราชสำนัก เป็นศิลปหัตถกรรมระดับสูง สร้างขึ้นตามความมุ่งหมายตอบสนองราชการในราชสำนัก”

 

อพท.4 หนุนภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างโบราณ “แผ่นดินพระร่วง” ต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

อพท.4 หนุนภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างโบราณ “แผ่นดินพระร่วง” ต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

สอดคล้องกับอาจารย์วงฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา กล่าวว่า “กรมศิลปากรจัดตั้งสำนักช่างสิบหมู่ขึ้นเพื่อรองรับงานพระราชพิธี ซึ่งตอนนี้งานพระเมรุมาศก็เป็นฝีมือช่างสิบหมู่” พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงอธิบายว่า ช่างสิบหมู่เป็นคำที่เลือนมาแต่คำว่าช่างสิปปะ คำว่า สิปปะ เป็นภาษาบาลีมีความหมายเดียวกับคำว่าศิลปะ ในภาษาสันสกฤต คือ ฝีมือทางการช่าง การแสดงออกมาปรากฏขึ้นได้อย่างงดงามพึงชม และเกิดอารมณ์สะเทือนใจ ดังนั้นช่างสิปปะก็คือช่างศิลปะนั้นเอง แต่คนไทยออกเสียงเป็นช่างสิป ต่อมาแก้เสียให้เป็นสิบ คือจำนวน 10 เป็นช่างสิบ ซึ่งดูไม่สู้ได้ความว่าเป็นช่างอะไร ต้องเอาหมู่ใส่ให้เป็นหมู่เป็นพวก จึงสรุปได้ว่า ช่างสิบหมู่ หมายถึงหมู่ช่างที่สนองงานในราชสำนักมาจนถึงปัจจุบัน และโดยนัยยะทางความหมายของรูปศัพท์ ช่างสิปป์หมู่ จึงแปลความว่า “หมู่ช่างผู้สร้างงานศิลปะ” ซึ่งในสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร นั้นปรากฏงานศิลปะที่งดงามพึงชมอย่างมากมายเป็นที่ประจักษ์ชัด เป็นเครื่องยืนยันว่าอาณาจักรแห่งนี้เคยอุดมรุ่งเรืองไปด้วยช่างสิปป์หมู่ตามนัยยะความหมายที่กล่าวไปแล้ว อพท.4 จึงใช้นิยามความหมายดังกล่าวเพื่อการพัฒนางานเชิงช่างในพื้นที่ ให้เกิดเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว โดยทำการสำรวจค้นหาช่างฝีมือพบว่ามีช่างแขนงต่างๆที่ยังคงสืบสานงานฝีมือจากบรรพบุรุษไว้ สามารถใช้งานศิลป์ที่มีอยู่เพื่อประกอบเป็นอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้ จึงสนับสนุนการพัฒนายกระดับต่อยอดฝีมือช่างจากความรู้เดิม โดยนำองค์ความรู้ไปส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มมูลค่า ให้เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติได้ และส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปสัมผัสถึงคุณค่างานฝีมือ และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอยู่แต่เดิม ทั้งในจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร ได้แก่ การลงรักปิดทองพระพิมพ์ดินเผา และพระไม้แกะสลัก การทำกระดิ่งพ่อขุน ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย การทำสมุดไทยเป็นหนังสือสวดมนต์จากกระดาษสา การฟั่นเทียนขี้ผึ้งแท้สำหรับนำไปบูชาพระ อ.ศรีสัชนาลัย การชมบ่อขุดศิลาแลง อ.พรานกระต่าย และการนำสีจากศิลาแลงไปสร้างงานศิลปะ จ.กำแพงเพชร การนำเสนอคุณค่างานช่างไม้เรือนไทย พิพิธภัณฑ์เรือนไทย จ.กำแพงเพชร เป็นผลงานการปรุงเรือนด้วยไม้สักทองที่สวยสง่า ได้สัดส่วนลงตัวแบบเรือนไทยของช่างไม้กำแพงเพชร พร้อมให้นักท่องเที่ยวลองนุ่งโจงห่มสไบ งานเชิงช่างที่คัดเลือกมาครั้งนี้ อพท. อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวและเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งจะจัดเป็นงาน event นำเสนองานฝีมือช่าง เผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมได้ โดยจะเก็บข้อมูลด้านการรับรู้ถึงคุณค่ามรดกพระร่วง ความประทับใจหรือความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว เพื่อนำไปเป็นข้อมูลต่อพัฒนางานเพื่อสร้างรายได้และความสุขของชุมชนต่อไป

อพท.4 หนุนภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างโบราณ “แผ่นดินพระร่วง” ต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

อพท.4 หนุนภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างโบราณ “แผ่นดินพระร่วง” ต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

อพท.4 หนุนภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างโบราณ “แผ่นดินพระร่วง” ต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

อพท.4 หนุนภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างโบราณ “แผ่นดินพระร่วง” ต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

อพท.4 หนุนภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างโบราณ “แผ่นดินพระร่วง” ต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

ข่าว  ภูเบศวร์  ฝ้ายเทศ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.สุโขทัย

(ขอบคุณภาพ/ข้อมูลจากสุพจน์  นาครินทร์ และ อพท.4)