ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ!! รัชกาลที่ ๓ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี #วันนี้ในอดีต

            เนื่องในวันคล้ายวันวันที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ โดยพระองค์เสด็จเสวยราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗

น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ!! รัชกาลที่ ๓ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี #วันนี้ในอดีต

          เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงประกอบ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างเต็มกระบวนการเยี่ยงอย่างบรรพราชประเพณีสืบ ๆ มา หลังจากที่เสด็จเสวยราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗ 

              พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๓๓๐ ทรงเป็นราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กับ เจ้าจอมมารดาเรียม ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ได้ทรงรับราชการหลายตำแหน่ง อาทิ กำกับราชการกรมท่าและกรมตำรวจ ทรงว่าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวงและตุลาการทุกศาล ทรงค้าขายทางสำเภาจีน นำเงินรายได้เข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา รวบรวมสรรพตำราวิทยาการต่าง ๆ พัฒนาการเศรษฐกิจไทยหลาย ๆ ด้าน โดยการเจริญสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำให้รัฐมั่งคั่งเป็นอันมาก เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๓๙๓ สิริรวมพระชนมายุ ๖๗ พรรษา ทรงครองราชย์นาน ๒๗ ปี เมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลย์ครองราชสมบัติแล้ว ทรงออกพระนามเต็มตามพระสุพรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยดโรมน สากลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีสุวิบูลย คุณอถพิษฐ ฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชาธิราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิ มงกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว" นับเป็น "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6"

              ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ เป็น "พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร์ สยามินทรวิโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" ออกพระนามโดยย่อว่า "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว"

              ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีประกาศให้เฉลิมพระปรมาภิไธย เป็น "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" หรือ "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓"    

              พระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงเสริมสร้างกำลังป้องกันราชอาณาจักร โปรดให้สร้างป้อมปราการตามปากแม่น้ำสำคัญ และหัวเมืองชายทะเล พระองค์ได้ทรงป้องกันราชอาณาจักรด้วยการส่งกองทัพไปสกัดทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ไม่ให้ยกทัพเข้ามาถึงชานพระนครและขัดขวางไม่ให้เวียงจันทน์เข้าครอบครองหัวเมืองอีสานของสยาม นอกจากนี้ พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการทำให้สยามกับญวนยุติการสู้รบระหว่างกันเกี่ยวกับเรื่องเขมรโดยที่สยามไม่ได้เสียเปรียบญวนแต่อย่างใด

น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ!! รัชกาลที่ ๓ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี #วันนี้ในอดีต

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

               ในรัชสมัยของพระองค์ใช้ทางน้ำเป็นสำคัญ ทั้งในการสงครามและการค้าขาย คลองจึงมีความสำคัญมากในการย่นระยะทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง จึงโปรดฯให้มีการขุดคลองขึ้น เช่น คลองบางขุนเทียน คลองบางขนาก และ คลองหมาหอน

               นอกจากนี้พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปมากมายเช่น พระประธานในอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดปรินายก และวัดนางนอง ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น ๓ วัด คือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดเทพธิดารามวรวิหารและวัดราชนัดดารามวรวิหาร ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดเก่าอีก ๓๕ วัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งสร้างมาแต่รัชกาลที่ ๑ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นต้น ทรงทำนุบำรุงและสนับสนุนการศึกษา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นเล่มหนึ่งคือ หนังสือจินดามณี โปรดเกล้าฯ ให้ผู้รู้นำตำราต่างๆ มาจารึกลงในศิลาตามศาลารอบพุทธาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ปั้นตึ้งไว้ตามเขามอและเขียนไว้ตามฝาผนังต่างๆ มีทั้งอักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ พุทธศาสนศึกษา โบราณคดี ฯลฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่วิชาการสาขาต่าง ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของกรุงสยาม

 

น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ!! รัชกาลที่ ๓ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี #วันนี้ในอดีต

        พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎร ด้วยมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ไม่ทรงสามารถจะบำบัดทุกข์ให้ราษฎรได้ หากไม่เสด็จออกนอกพระราชวัง เพราะราษฎรจะร้องถวายฏีกาได้ต่อเมื่อพระคลังเวลาเสด็จออกนอกพระราชวังเท่านั้น จึงโปรดให้นำกลองวินิจฉัยเภรีออกตั้ง ณ ทิมดาบกรมวัง ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อราษฎรผู้มีทุกข์จะได้ตีกลองร้องถวายฎีกาไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้มีการชำระความกันต่อไป โดยพระองค์จะคอยซักถามอยู่เนื่องๆ ทำให้ตุลาการ ผู้ทำการพิพากษาไม่อาจพลิกแพลงคดีเป็นอื่นได้

 

น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ!! รัชกาลที่ ๓ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี #วันนี้ในอดีต

           ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีมิชชันนารีชาวอเมริกันและชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์เพิ่มมากขึ้น หนึ่งในจำนวนนี้คือศาสนาจารย์ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "หมอบรัดเลย์" ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ และการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคและการทำผ่าตัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้หมอบรัดเลย์ยังได้คิดตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้น (ปี พ.ศ. ๒๓๗๙) ทำให้มีการพิมพ์หนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรกโดยพิมพ์คำสอนศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๘๕ หมอบรัดเลย์พิมพ์ปฏิทินภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก

           ในด้านการหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสมัยรัชกาลที่ ๓ หมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์แถลงข่าวรายปักษ์เป็นภาษาไทย ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) มีเรื่องสารคดี ข่าวราชการ ข่าวการค้า ข่าวเบ็ดเตล็ด ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ หนังสือบทกลอนเล่มแรกที่พิมพ์ขายและผู้เขียนได้รับค่าลิขสิทธิ์คือ นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) โดย หมอบรัดเลย์ ซื้อกรรมสิทธิ์ไปพิมพ์ในราคา ๔๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ และตีพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔

           พระองค์ทรงสนับสนุนส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ ทั้งกับชาวเอเชียและชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ากับจีนมาตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ทรงดำรงพระอิสสริยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ส่งผลให้พระคลังสินค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ มีการแต่งสำเภาทั้งของราชการ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าชาวจีนไปค้าขายยังเมืองจีนและประเทศใกล้เคียง รวมถึงการเปิดค้าขายกับมหาอำนาจตะวันตกจนมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างกันคือ สนธิสัญญาเบอร์นี พ.ศ. ๒๓๖๙ และ ๖ ปีต่อมาก็ได้เปิดสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและมีการทำสนธิสัญญาต่อกันใน พ.ศ. ๒๓๗๕ นับเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่สหรัฐอเมริกาทำกับประเทศทางตะวันออก ส่งผลให้ไทยได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก

 

 

 

ที่มาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว