ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

กระทรวงอุตสาหกรรม บุกภาคเหนือตอนล่าง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อมโยงกับเขตการค้าเมียวดี (Myawady Trade Zone) และนิคมอุตสาหกรรมเมียวดี (Myawady Industrial Zone) เตรียมความพร้อมก้าวสู่ AEC ตอบรับนโยบายรัฐบาลมุ่งก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0  จับมือ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี  เดินหน้าสานต่อ “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งที่ 7  เร่งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุลตามแนวประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) รองรับการขยายตัวของเมืองทั้งด้านศักยภาพและความพร้อม ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การลงทุนภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว โดยได้รับเกียรติจาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา แม่สอด ฮิลล์ รีสอร์ท จังหวัดตาก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า การจัด “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 โดยผลักดันการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจากการ “เพิ่มมูลค่า” ไปสู่การ “สร้างมูลค่า” และการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) ด้วยการเร่งพัฒนาเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สำหรับครั้งนี้มีเป้าหมายลงพื้นที่ในจังหวัดตาก ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอยู่บน ระเบียงเศรษฐกิจตามแนว ตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor (EWEC) หรือที่เรียกว่าเส้นทาง R9 ซึ่งเชื่อม 2 มหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้ กล่าวคือจากเมืองเมาะละแหม่ง เมียนมา ผ่านจังหวัดตาก พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร ข้ามเขตแดนไปยังเมืองดองฮาและไปจรดปลายทางที่เมืองดานัง เวียดนาม เป็นจุดแข็งที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญ โดยได้มีการกำหนดบทบาทของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากให้เป็น ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ / เครือข่ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เกษตรแปรรูปและอาหาร เครื่องเรือนจากไม้ และ อัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น 

กระทรวงอุตสาหกรรม!! บุกเขตเศรษฐกิจพิเศษ TAKSEZ เตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรม พร้อมเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี 9 จังหวัด มุ่งก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

จากลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ชายแดน และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค รวมถึงความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุนภาคอุตสาหกรรม  ภาคเกษตร  และการท่องเที่ยว โดยพื้นที่แม่สอด สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี (Myawady Trade Zone) ของสหภาพพม่า ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเพียง 10 กิโลเมตร และมีพื้นตั้งอยู่ปลายแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ  (East-West  Economic  Corridor  :  EWEC) เป็นจุดตัดระหว่างแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ  North-South  Economic  Corridor  (NSEC)  มีโครงข่ายการคมนาคมทางบกที่สนับสนุนการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า  มีสนามบินพาณิชย์ เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ตลอดจนเป็นประตูสู่อันดามัน และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  คือ  พม่า  จีน  และสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าขายเป็นประตูสู่ยุโรปได้ โดยในปีที่ผ่านมา 2559 สถิติมูลค่าสินค้าส่งออก ด่านศุลกากรแม่สอด อยู่ที่ประมาณ 79,627 ล้านบาท และในปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน อยู่ที่ 61,422 ล้านบาท ด้านธุรกิจนำเข้าอยู่ที่ 4,179 ล้านบาท และในปีล่าสุด 2560 เดือนมกราคม – มิถุนายน 3,932 ล้านบาทซึ่งมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 

 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ต่างสนใจมาลงทุนในพื้นที่อำเภอแม่สอด  ด้านการค้าขาย ด้านอุตสาหกรรม  ด้านการท่องเที่ยว  ด้านค้าอัญมณี ด้านเกษตรกรรม  และโดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจจีนที่ได้ มีความสนใจที่จะมาลงทุนหรือร่วมทุนกับรัฐบาลไทยในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 โครงการขุดเจาะอุโมงค์ถนนสายเอเชีย (แม่สอด-ตาก)  โครงการศูนย์อุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงด้านเกษตรกรรม 

ทั้งนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เตรียมโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากไว้แล้ว ณ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด มีพื้นที่ประมาณ 671 ไร่ อยู่ห่างจากห่างจากทางหลวง EWEC ประมาณ 7 กิโลเมตร ในบริเวณที่ติดกับพื้นที่ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 (ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 ประมาณ 8 กิโลเมตร) โดยมีระบบไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่แล้ว และมีแหล่งน้ำคือแม่น้ำเมย โดยได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับนิคมดังกล่าวให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจจังหวัดตาก คือ การให้บริการโลจิสติกส์ เช่น คลังสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ (พื้นที่รวมประมาณ 33%) และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เกษตรแปรรูปและอาหาร เครื่องเรือนจากไม้ และ อัญมณีเครื่องประดับ (พื้นที่รวมประมาณ 66%) โดยมีการกำหนดพื้นที่โซนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งมีศูนย์ SMEs Development Center ซึ่งจะให้บริการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์กลาง เช่น 3D-Priner  Co-Working Space และการพัฒนา SMEs ที่ตั้งอยู่ในนิคมและบริเวณใกล้เคียงด้วย ในขณะที่พื้นที่ที่เหลือจะถูกกันไว้เป็นเขตพาณิชยกรรม ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแนวกันชน โดยประมาณการมูลค่าการพัฒนาไว้ที่ 835 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการพื้นที่ในเฟสแรกได้ตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นไป

กระทรวงอุตสาหกรรม!! บุกเขตเศรษฐกิจพิเศษ TAKSEZ เตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรม พร้อมเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี 9 จังหวัด มุ่งก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทย-สหภาพพม่า ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดตาก “บ้านเมืองน่าอยู่ ประตูการค้าชายแดน ชุมชนเข้มแข็งขจัดความยากไร้ ใส่ใจทรัพยากรสิ่งแวดล้อมพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว” กระทรวงฯ จึงได้ให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วยเครื่องมือในการต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผู้ประกอบการให้ก้าวสู่ SMART SMEs การเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ และการบริการผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 (จังหวัดพิษณุโลก) และ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 (จังหวัดพิจิตร) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ รวมถึงการช่วยเหลือด้านมาตรการการเงินในรูปแบบสินเชื่อกองทุนต่าง ๆ ได้แก่ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และมาตรการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเงินทุน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับเอสเอ็มอีมีเงินทุนนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาสินค้า และกำลังการผลิตที่จะไปแข่งขันในตลาดโลก โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการจากทั่วประเทศยื่นคำขอทั้ง 4 มาตรการแล้ว 10,558 ราย วงเงิน 30,161.60 ล้านบาท อนุมัติแล้วจำนวน 2,954 ราย ในวงเงิน8,514.86 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560)

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายพื้นที่ 2 กลุ่มจังหวัด ประกอบไปด้วย 9 จังหวัด ที่ประสงค์จะขอเข้าร่วมโครงการประกอบด้วยจังหวัดตาก จำนวน 148 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 45 ราย วงเงิน 147.48 ล้านบาท จังหวัดสุโขทัย จำนวน 83 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 20 ราย วงเงิน 63.70 ล้านบาท จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 112 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 32 ราย วงเงิน 66.14 ล้านบาท จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 61 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 39 ราย วงเงิน 96.40 ล้านบาท จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 193 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 48 ราย  วงเงิน 185.20 ล้านบาท จังหวัดพิจิตร จำนวน 69 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 28 ราย วงเงิน 71.00 ล้านบาท จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 102 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 49 ราย วงเงิน 126.85 ล้านบาท จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 162 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 62 ราย วงเงิน 166.50 ล้านบาท จังหวัดอุทัยธานี จำนวน 52 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 16 ราย วงเงิน 49.60 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี  www.smessrc.com หรือ Call Center 1358

กระทรวงอุตสาหกรรม!! บุกเขตเศรษฐกิจพิเศษ TAKSEZ เตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรม พร้อมเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี 9 จังหวัด มุ่งก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

กระทรวงอุตสาหกรรม!! บุกเขตเศรษฐกิจพิเศษ TAKSEZ เตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรม พร้อมเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี 9 จังหวัด มุ่งก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

กระทรวงอุตสาหกรรม!! บุกเขตเศรษฐกิจพิเศษ TAKSEZ เตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรม พร้อมเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี 9 จังหวัด มุ่งก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

ภาพ/ข่าว ศุภกร   จรูญวาณิชย์  ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จังหวัดตาก