มองวิกฤต EARTH อย่างมีสติ!!  ชำแหละอาการ “เน่าใน” หุ้นดัง  ก่อนก.ล.ต.ผ่าตัดเนื้อร้ายทิ้ง #ต้องรู้ด้วยว่า...เชื้อโรคร้ายแพร่กระจายจากตรงไหน??

ติดตามรายละเอียด http://www.tnews.co.th

ร้อนแรงต่อเนื่องกับกระแสหุ้นดัง อย่างบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ  EARTH ที่ยังไม่รู้ว่าบทสรุปสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร จากสถานการณ์ล่าสุดผู้บริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มีกำหนดหารือกับธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ อย่าง ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของ EARTH หลังจากเกิดกรณีพิพาทระหว่าง ธนาคารธนชาตกับ EARTH ถึงขั้นมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่าถึง  6 พันล้านบาท !!!!

ต่อมามีข่าวใหญ่ว่า ก.ล.ต. ได้ใช้อำนาตามมาตรา 58  สั่งให้  EARTH นำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นภายใน  5 วัน โดยเป็นคำสั่งที่มีผลว่า   (1) หากฝ่าฝืนไม่ส่งเอกสารมีโทษตามมาตรา 274 วรรคหนึ่ง โดยปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทและปรับรายวันไม่เกินวันละสามพันบาท แต่หากนำส่งเอกสารหลักฐานที่เป็นเท็จหรือปกปิดความจริง มีโทษตามมาตรา 281/10   จำคุกไม่เกิน  2 ปี  หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยความผิดตามมาตรา 281/10 นี้ ถือเป็นความผิดที่อาจดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางแพ่งได้ตามมาตรา 317/1 (2)

 


ขณะเดียวกันกับคอลัมน์ “พอเพียงอย่างพอใจ” โดยผู้สันทัดกรณีเรื่อง “หุ้น” อย่าง “ฉาย  บุนนาค”ก็สะท้อนมุมมองความเห็นในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง   ตามรายละเอียดปรากฏดังนี้    “จริงๆ แล้ว ผู้อ่านหลายท่านคงเบื่อที่จะอ่าน  ไม่ต่างจากผู้เขียนที่จะเขียนเรื่องของบริษัทที่ชื่อ เอิร์ธเอ็นเนอร์ยี่ หรือ  “EARTH” แล้ว   หากแต่จุดประสงค์ของบทความนี้เพียงเพื่อต้องการสะท้อนให้ผู้อ่านได้มุมมองแนวคิดอีกมุมหนึ่ง เพื่อพิจารณาเป็นอุทาหรณ์สอนใจและประสบการณ์ชีวิตในเส้นทางการลงทุนต่อไป... การจะเข้าแผนฟื้นฟูของ EARTH บริษัทที่เคยมีส่วนผู้ถือหุ้นกว่าหมื่นล้านบาท อาจเป็นสิ่งที่สะเทือนใจนักลงทุนและสังคมวงกว้าง เพราะถือเป็นเหตุฉับพลันและคาดไม่ถึง

 

 

ประเด็นหนี้งอก (เพราะถูกฟ้องจากคู่ค้า) ประเด็นเบี้ยวหนี้  ,ประเด็นผู้สอบบัญชี ,ประเด็นการเมืองภายในของธนาคารกรุงไทย  ,ประเด็นการกลั่นแกล้งลูกหนี้ , ประเด็นการตัดสินเชื่ออย่างไม่ชอบธรรมของธนาคารกรุงไทย , ประเด็นการปล่อยกู้แบบไม่สุจริต หรือ  ประเด็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริหาร   EARTH   ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นและข้ออ้างของแต่ละฝ่าย จริงเท็จประการใด  ตอนนี้มีเพียงผู้บริหาร  EARTH และทีมอนุมัติสินเชื่อธนาคารกรุงไทยเท่านั้นที่รู้อยู่แก่ใจ

อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน ไม่มั่นคง และเป็นกฎธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งปวง การที่ EARTH ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนใกล้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาของโลกและเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ มีดี มีเจ๊ง เช่นเดียวกับการเล่นหุ้น หากแต่เจตนาและความสุจริตที่แท้จริงต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญ หาก EARTH จะล้มละลายอย่างสุจริต เพราะปัจจัยภายนอก เช่น เพราะถูกโกงโดยผู้ประกอบการต่างชาติ หรือเพราะอุตสาหกรรมไม่ดี  การที่สังคมไปซ้ำเติมโกรธแค้นก็ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ แต่หากเรื่อง  EARTH เป็นการจัดฉากวางแผนอย่างแยบยล อย่างไม่สุจริตจริง เราก็ควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน นักลงทุนไม่ควรไปโทษ ไปด่า ก.ล.ต.ในกรณีนี้ เพราะ ก.ล.ต. เปรียบดั่งผู้คุมกฎในตลาดทุน เหมือนพ่อปกครองลูก เป็นไปไม่ได้หรอกที่ ก.ล.ต.จะรู้ทุกอย่างที่ทุกบริษัทจดทะเบียนดำเนินการทั้งบนดินและใต้ดิน

 


ก.ล.ต.มีหน้าที่กำกับดูแลอย่างเที่ยงตรง เป็นธรรม และโปร่งใส ก.ล.ต.มีกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนต้องดำเนินการหากบริษัทจดทะเบียนไม่ทำหรือทำผิด ก.ล.ต.ก็ลงโทษตามตัวบทกฎหมายก็แค่นั้น เปรียบดังลูก ถ้าแอบหนีเรียน เกเร ติดยา ถึงแม้เป็นพ่อก็มิอาจรู้ได้หมด ยิ่งพ่อมีลูกเยอะมากมาย รักก็ไม่เท่ากัน จะให้ดูแลทั่วถึงคงเป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติ แม้ก.ล.ต.จะกำหนดให้มี auditor หรือผู้สอบบัญชีภายในมาช่วยตรวจสอบ เปรียบดั่งมีพี่เลี้ยงมาดูแลลูก ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่ลูกทำผิด พี่เลี้ยงจะรู้เห็นด้วยเสมอไป

 

 

ลูกอาจจะหลบหลีกเก่งมาก  หรือ พี่เลี้ยงอาจจะประมาทเลินเล่อ   ก็ต้องไปพิสูจน์กันบริษัทจดทะเบียนที่เปรียบถึงไม่ได้หมายความเฉพาะ  EARTH   เพราะธนาคารกรุงไทยก็เป็นบริษัทจดทะเบียนที่รัฐถือหุ้นใหญ่เช่นกัน เพียงแต่ธนาคารกรุงไทยมีแม่รายเดียวกับ ก.ล.ต. คือกระทรวงการคลัง   ซึ่งทำให้สายสัมพันธ์เน่นแฟ้นและน่าเชื่อถือกว่าลูกที่พ่อไม่รัก (แล้ว) 

 


ที่มา :   คอลัมน์ : พอเพียงอย่างพอใจ /  หน้า 18  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ