ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ (ทร.)  กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลไทยได้ยื่นความจำนงขอซื้อขีปนาวุธฮาร์พูน บล็อกทูว์ รุ่น RGM-84L จำนวน 5 ลูก และขีปนาวุธซ้อมยิง ฮาร์พูนบล็อกทูว์ 1 ลูก มูลค่า 828 ล้านบาท เพื่อติดตั้งบนเรือฟรีเกต ว่า ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ต้องเป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตามโครงการต่อเรือฟริเกตตั้งแต่ปี 2557 ที่เราลงนามข้อตกลงกับประเทศเกาหลีใต้ในการต่อเรือหลวงท่าจีน โดยจะมีแพคเกจต่อระบบเรือ ระบบเครื่องจักร เครื่องยนต์ ระบบการรบ อาวุธ ต่างๆ ก็จะมีกำหนดไว้แล้วว่าดำเนินการเสร็จถึงไหน จะจัดซื้ออาวุธมาต่อเติมช่วงใด ซึ่งการซื้อฮาร์พูนก็เป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่ถึงเวลาต้องจัดซื้อมาใช้เรือหลวงท่าจีน ดังนั้นขอย้ำว่าการจัดซื้ออาวุธเป็นไปตามวงรอบในการดำเนินการ ตามวงเงิน และเป็นขั้นตอนทางธุรการเท่านั้น และขอถามว่าช่วงเวลาต่อเรือจะให้เราซื้อฮาร์พูนมาก่อนเลยหรือ ถ้าซื้อมาก็เอามากองทิ้ง ทำแบบก็ ไม่ใช่

พล.ร.อ. จุมพล กล่าวต่อว่า ขอให้เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าจะจัดซื้อเข้ามาใหม่แต่อย่างใด ในความเป็นจริงการจัดซื้ออาวุธชนิดนี้อยู่ในแพ็กเกจการต่อเรือหลวงท่าจีน และอยู่ในสัญญามาตั้งแต่ต้น เพียงแต่กระบวนการจัดหาอาวุธของสหรัฐฯ หากจะขายอาวุธใครต้องเป็นไปตามกฎหมายของสหรัฐฯ และต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของเขาเท่านั้นเอง

"การซื้อฮาร์พูน เราเคยจัดซื้อมาตั้งนานแล้ว เอามาใช้ในเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีมาตลอดชุดนี้เป็นชุดที่สาม ต่อไปก็จะมีชุดที่ 4 เอามาติดตั้งเพิ่มในเรือหลวงตรัง ดังนั้นผมขอย้ำว่าการจัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ผมกองทัพเรือมีความโปร่งใสและเป็นไปตามวงรอบ เรียกง่ายๆว่าจัดซื้อเป็นแพ็กเกจในการจัดหาตามช่วงเวลาเท่านั้นเอง" โฆษกกองทัพเรือ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ได้ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งไม่มีการจัดซื้ออาวุธตามที่มีการรายงานข่าว โดยยืนยันว่าฮาร์พูนของเดิมมีการใช้งานอยู่นานแล้ว