ดร.สอนปรัชญาฉีกหน้า ศ.ดร.โนม ซอมสกี้ ที่เนติวิทย์เอามาอ้างให้กำลังใจ..ต้องอ่าน!!! มันหยด

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

               จากกรณีที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้โพสภาพอีเมล์ของนักวิชาการชื่อดังระดับโลก "ศ. โนม ชอมสกี้" ที่ส่งมาให้กำลังใจตนที่กำลังถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสอบสวนและจะลงโทษอันเนื่องมาจากเหตุการณ์วุ่นวายในงานพิธีถวายสัตย์นิสิตใหม่ที่ผ่านมานั้น  รวมถึงกรณี 128 นักวิชาการกลุ่มหนึ่งในนาม "เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง " ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนนายเนติวิทย์ด้วยนั้น

                ดร.เวทิน ชาติกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้โพสข้อความแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวผ่านหน้าเฟสบุคของตนว่า

คิดอย่าง "โนม ชอมสกี้" หรือเป็นอย่าง "ณอน ชิเวอร์ตัน"?/ เวทิน ชาติกุล

"...ถึง ศ.ชอมสกี้

ด้วยชื่อเสียง ความสามารถทางสติปัญญาของท่าน เชื่อว่าการที่ท่านได้ให้กำลังใจกับนิสิตคนหนึ่งซึ่งกำลังมีกรณีพิพาทกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอยู่ในขณะนี้นั้น...คุณได้ไตร่ตรองในเรื่องนี้อย่างรอบคอบแล้วและคุณพร้อมจะยืนยันความถูกต้องของข้อความที่เขียนด้วยชื่อเสียงและบารมีที่มี...มิใช่อย่างที่เคยปรากฏในกรณีที่นิวยอร์ค ไทม์คู่กรณีของคุณเคยวิจารณ์ว่า...ข้อเขียน(และความคิด)ทางการเมืองของมึงนั้น "ตื้นเขินจนไร้สติ"..."

จากข้างต้น ผมไม่ได้มีเจตตนา ละลาบละล้วง นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงอย่างชอมสกี้ ผมยังรู้จักมารยาทและยังมีมันอยู่เวลาจะพูดพาพาทีกับคนที่อาวุโสกว่าทั้งคุณวุฒิหรือวัยวุฒิ(ก็เหมือนๆกับที่คนไทยส่วนใหญ่มี) เพียงแต่ผมรู้สึกและอยากแสดงให้เห็นตัวอย่างว่าภาษาไทยมีความซับซ้อนอยู่(เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ) เพราะคำว่า "you" ในภาษาไทยมีคำแทนหลายคำทั้ง "ท่าน" "คุณ" หรือ "มึง" ซึ่งเราใช้คำเหล่านี้ต่างกันไปตามบริบทและความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้พูด(เขียน)และผู้ฟัง(อ่าน)ในการสื่อสารสนทนา

แน่นอนครับว่าในความเป็นจริงไม่มีใครใช้ภาษาและเขียนอะไรพิลึกพิลั่นอย่างข้างต้น เพราะคนไทยเรียนรู้และเลือกที่จะใช้คำ(สรรพนาม)ตามสมควรแก่กาละและเทศะซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้เองเกี่ยวกับภาษาที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการหล่อหลอมทางสังคม(อาจจะเป็น "โครงสร้างเชิงลึก" อย่างที่ท่านพูดไว้ก็เป็นได้) แน่นอนครับในที่นี้ ผมต้อง(ย้ำว่า "ต้อง" ไม่ใช่ "ควร")เรียนท่านว่า "ท่าน" (ไม่ใช่ "คุณ" หรือ "มึง") ไม่ใช่เพราะท่านมีสถานะทางสังคมเหนือกว่าผม มีชื่อเสียงมากกว่าผมหรือผมถูกกดทับด้วยความคิดสยบยอมแบบลำดับชั้น แต่เป็นเพราะผมต้องการแสดงถึงการให้เกียรติท่าน แม้ว่าผมอาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านพูดหรือคิด หรือมีจุดยืนทางการเมืองอย่างที่จะใช้คำเรียกแทนว่า "มึง" ก็ได้

แต่ผมก็จะไม่ทำ(อย่างน้อยก็ต่อสาธารณะ) เพราะผมมีเชื่อในการเคารพระหว่างกันในชุมชน ผมเชื่อในแบบแผนหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกว่า "มารยาท"  เชื่อว่า "ภาษา-การแสดงออก-มารยาท" ผูกสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นในวิถีที่สังคมหนึ่งๆจะดำเนินไป แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาจไม่ตายตัว เปลี่ยนแปลงไปตามกาลได้ และมิใช่ความถูกต้องสัมบูรณ์(หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือเป็นเพียงสมมุติ) แต่มันก็ช่วยผูกโยงผู้คนในชุมชนหรือสังคมหนึ่งๆเอาไว้ในระดับหนึ่งและคอยกลั่นกรอง ระบบคุณค่า ความดีงาม ที่สังคมนั้นๆพึงยึดถืออยู่ซึ่งบางที บางเรื่อง อาจเป็นเรื่องยากที่ "ฝรั่ง" อย่างท่านจะเข้าใจ หรือไม่ก็เข้าใจมันอย่างตื้นเขินไร้สติ

เพื่อจะให้ท่านศ.ชอมสกี้และพรรคพวกเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ผมขอเล่าเรื่อง "ฝรั่ง" คนหนึ่งที่ท่านอาจไม่รู้จักให้ท่านฟัง ฝรั่งคนนี้ชื่อ "ณอน ชิเวอร์ตัน" เป็นฝรั่งที่คนไทยให้ความเคารพนับถือ(พอๆกับที่ท่านก็นับถือสังคมไทย-คนไทย)ในอีกนามหนึ่งของท่านคือ "พระอาจารย์ชยสาโร"

ณอน (หรือ ท่านชยสาโร) เกิดในประเทศอังกฤษ ตอนอายุ 20 ปีเขาไปพบกับพระฝรั่งอาจารย์สุเมโธ ถือศีลอยู่กับท่านสุเมโธที่อังกฤษ 1 ปี จนเดินทางมาบวชสามเณร และบวชเป็นพระกับหลวงพ่อชาพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และคงเป็นพระภิกษุมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ผมอยากให้ท่านศ.ชอมสกี้และผองเพื่อนรู้จักกับท่านชยสาโรเพราะ ในครั้งหนึ่งครั้งหนึ่งท่านชยสาโรเล่าไว้ว่า
"ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เหมาะสมสำหรับการพูดเรื่องธุรกิจ แต่ว่าบางสิ่งบางอย่างในชีวิตเราใช้ไม่ได้ เช่นคำว่า "บุญคุณของพ่อแม่" จะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร แปลได้ไหม คำว่าบุญคุณของพ่อแม่ ถ้าจะอธิบายให้เพื่อนนักเรียนชาวอังกฤษฟังจะอธิบายอย่างไร คำว่าบุญคุณพ่อแม่ภาษาอังกฤษไม่มีแต่ภาษาไทยมี อาตมาไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน ตลอดเวลาที่อยู่โรงเรียนที่อังกฤษไม่เคยมีใครพูดถึง...ใครมีความกตัญญูก็มีโดยธรรมชาติ แต่ไม่มีใครสอน อาตมาไปเมืองอินเดียนั่งฝึกสมาธิ พอจิตสงบลงเริ่มระลึกถึงพ่อแม่ เมื่อเราภาวนาเราจะเห็นตัวเองชัดมาก สิ่งที่ไม่ดีก็เห็น สิ่งที่ดีก็เห็น แต่ความคิดที่เกิดขึ้นในจิตใจของอาตมาในตอนนั้นคือสิ่งที่ดีๆที่เห็นในตัวเองเกือบทั้งหมดดูเหมือนจะได้มาจากพ่อแม่ทั้งนั้น...รู้สึกซาบซึ้งใจจนน้ำตาไหล มีความเข้าใจในเรื่องบุญคุณของพ่อแม่โดยไม่ต้องมีใครสอน ยังไม่รู้จักคำว่า "บุญคุณ" ด้วยซ้ำ..." (พระอาจารย์ชยสาโร, ดรุณธรรม)

        ท่านๆครับ ณอน ชิเวอร์ตัน มาบวชเป็นพระในไทย มิได้มีอะไรที่ได้รับเป็นกรณีพิเศษ ต้องกินอยู่ถือวัตรปฏิบัติแบบพระไทย พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่หลวงพ่อชาเทศน์สอนก็เทศน์สอนเป็นภาษาไทย ฟังรู้เรื่องไม่รู้เรื่องบ้างก็ต้องอดทนฟังจนในที่สุด ท่านก็เข้าใจอะไรที่ฝรั่งไม่เคยเข้าใจ พอๆกับที่เห็นอะไรที่คนไทยไม่เห็น
เหมือนที่ท่านบอกว่า

"...เมืองไทยเห็นว่าการจับหัวคนเป็นเรื่องไม่สุภาพ แต่ฝรั่งเขาไม่ถือ เวลาเราไปเมืองนอกเราจะเห็นว่าเรื่องประเพณีต่างๆเป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องที่เราคิดขึ้นมาเอง แต่ว่าเมื่อไรไปอยู่ที่ไหน เราต้องรู้สมมุติของสังคมนั้น และต้องเคารพในการสมมติของเขา" (พระอาจารย์ชยสาโร, ดรุณธรรม)

ท่านๆครับ ผมคิดว่าด้วยสติปัญญาของท่านๆที่ปราดเปรื่องคงจะเข้าใจประเด็นที่ผมกำลังพูดไม่ยากนัก ฝรั่งคนหนึ่งที่แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคนไทยหรือสังคมไทยเลยมาบวชเป็นพระในเมืองไทย สามารถข้ามพ้นข้อจำกัดทางภาษา-วัฒนธรรม-ธรรมเนียม ฯลฯ เพื่อความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมได้   แน่นอนครับในทางกลับกันความคิดแบบฝรั่งก็อาจเข้ามาแทรกซึม กล่อมเกลา หล่อหลอม คนไทยบางคนในนาม เสรีภาพ สิทธิ ประชาธิปไตยฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้  ท่านๆมีเสรีภาพที่จะสนับสนุนหรือให้กำลังใจกับใครที่แสดงความไม่เคารพยอมรับในแบบแผนของชุมชนหนึ่งโดยไร้มารยาทในนามของเสรีภาพ ความก้าวหน้า และประชาธิปไตยก็ตามแต่ที่ท่านๆเห็นควร ตราบเท่าที่ท่านพร้อมจะรับผิดชอบต่อความคิดและคำพูดของท่านไม่ว่ามันจะเกิดจากความเข้าใจที่ลึกซึ้งหรือ เป็นอย่างที่ นิวยอร์ค ไทม์เคยกล่าวเอาไว้ว่า...ข้อเขียน(และความคิด)ทางการเมืองของมึงนั้น "ตื้นเขินจนไร้สติ"

ด้วยความเคารพ
เวทิน ชาติกุล