พระมหามงกุฎยอดพระปรางค์วัดอรุณวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เรื่องเล่า ในหลวง ร.5 พระปรางค์องค์นี้เป็นที่ระลึกสำหรับชาติ

พระปรางค์วัดอรุณ

             เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในโลกออนไลน์ถึงกรณีที่มีการบูรณะฯ พระปรางค์วัดอรุณวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งนับว่า เป็นโบราณสถานที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำกรุงเทพมหานคร และนอกจากนี้พระปรางค์วัดอรุณฯนี้เป็นโบราณสถานที่สำคัญในอดีต ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง ๑๖ เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. ๒๓๖๓

พระปรางค์

               เมื่อครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ และทรงมีพระราชประสงค์ปฏิสังขรณ์พระปรางค์โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาให้เป็น "พระมหาธาตุประจำพระนคร" และพระราชทานนามว่า "วัดอรุณราชธาราม" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระมหามงกุฎของพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ พระประธานภายในพระอุโบสถ วัดนางนอง วรวิหาร อันเป็นเครื่องหมายแห่ง พระจักรพรรดิราช มาประดิษฐานเหนือยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร และได้มีการประกอบพระราชพิธีสมโภชพระปรางค์ พร้อมประดิษฐานพระมหามงกุฎเหนือยอดพระปรางค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

 

มงกุฎเหนือยอด

พระมงกุฎเหนือยอด

               พระปรางค์องคนี้ได้มีการบูรณะฯ อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือแบบที่เห็นในปัจจุบัน องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน เป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอด "นภศูล"

 

ภาพมงกุฎเหนือยอด

              สำหรับคำว่า "นภศูล" มาจากคำว่า “นภ” แปลว่า ท้องฟ้า และ “ศูล” แปลว่า เหล็กแหลม โดยเรียกจากลักษณะที่เป็นยอดชี้ขึ้นสู่ฟ้า คำนี้มีใช้อีกอย่างว่า "นพศูล" ซึ่งแปลว่า "เหล็กแหลมเก้าปลาย" มีใช้อยู่ ๕ ประเภท คือ พุ่มข้าวบิณฑ์ ฉัตร มงกุฎ ลำภุขัน ลูกแก้ว แต่สำหรับยอดพระปรางค์วัดอรุณฯนั้น ใช้ "มงกุฏ" ซึ่งมักใช้กับเจดีย์หรือปรางค์ ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๔ ใช้แทนพระนามเจ้าฟ้ามกุฎ ยอดมงกุฎนี้อาจประดับซ้อนลำภุขันได้

ประดับมงกุฎเหนือยอด

                พระมหามงกุฎยอดพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร มีลักษณะเป็นมงกุฎยอดแหลม สร้างด้วยโลหะสำริดปิดทองและประดับอัญมณี น้ำหนัก ๑๘๕ กิโลกรัม มีความสูง ๑๒๐ เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕๙ เซนติเมตร พระมหามงกุฎได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในการบูรณะพระปรางค์โดยกรมศิลปากร เมื่อช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ นับเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปีล่วงมาแล้ว ซึ่งถึงกาลสมควรที่จะได้รับการบูรณะให้มีสภาพมั่นคงถาวรให้เป็นเกียรติยศแก่ประเทศชาติสืบต่อไป ดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "พระปรางค์องค์นี้เป็นที่ระลึกสำหรับชาติ ซึ่งจำเป็นจะต้องปฏิสังขรณ์ไว้ให้ถาวร"

 

ในหลวงร.9 ทรงทำพิธี

(ภาพประวัติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินยกพระมหามงกุฎ เหนือยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐)

               นอกจากนี้ เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๔ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหารจึงได้มีโครงการบูรณะพระมหามงกุฎยอดพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

 

 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จบแล้วดราม่าพี่ยักษ์วัดอรุณใส่หน้ากากกันฝุ่นพิษ ช่างภาพระดับโลกแจงผลงานรีทัชล้วนๆ
- พบผช.เขตคนเซ็นสั่งวัดเบาเสียงระฆัง เพิ่งย้ายมาบางคอแหลม ต้นปีเพิ่งไปจัดงานวัดอรุณฯ

ที่มาจาก : เพจ โครงการบูรณะพระมหามงกุฎ วัดอรุณราชวราราม

              https://th.wikipedia.org/wiki/พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ขอบคุณคลิปจาก : Facebook Art & Music by krupoo