ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

เคลียร์ดราม่ายุคพระเจ้ากรุงธนฯ ค้นพงศาวดาร หลักฐานที่ยืนยันว่า พระเจ้าตากไม่ได้วิปลาส!! และไม่เคยตรัสว่าพระองค์บรรลุโสดาบัน !!!

พระเจ้าตากฯ ไม่เคยตรัสว่าพระองค์บรรลุโสดาบัน .... (บทความพิเศษ โดย ดร. เวทิน ชาติกุล)

 -----

            ยกเว้นในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาแล้ว หลักฐานอื่นๆไม่มีตรงไหนที่ระบุไว้ตรงๆเลยว่า พระเจ้าตากฯบอกว่า พระองค์สำเร็จเป็นโสดาบัน ในจดหมายเหตุโหร บอกทำนองว่า มีวิวาทะในหมู่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ เรื่องพระควรไหว้ฆราวาสที่นั่งสมาธิฝึกกรรมฐานหรือไม่ และฝ่ายที่ว่าไหว้ไม่ได้ถูกลงโทษ  ไม่ใช่พระต้องไหว้ฆราวาสที่เป็นโสดาบัน และ (ว่ากันตามตัวอักษร) ไม่มีตรงไหนที่ระบุว่าพระเจ้าตากฯบอกว่าท่านบรรลุโสดาบัน

            ในฉบับพันจันทนุมาศก็บอกว่า กิจการฝ่ายศาสนาจักรเกิดความแปรปรวนไม่เหมือนเมื่อก่อน เหตุเพราะพระเจ้าตากฯทรงนั่งกรรมฐานแล้วบังคับให้พระภิกษุไหว้พระองค์ (ซึ่งอาจตีความเป็นนัยได้ว่าพระองค์น่าจะสำเร็จมรรคผลบางอย่าง) แต่ (ว่ากันตามตัวอักษร) ก็ไม่มีระบุตรงๆว่าพระเจ้าตากฯบอกว่าท่านบรรลุโสดาบัน

             ควรหมายเหตุไว้ว่า ความแตกต่างในจดหมายเหตุโหรกับพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศก็คือ ในจดหมายเหตุโหรพระเจ้าตากฯเป็นเพียงผู้ตัดสินความจากเหตุที่พระสงฆ์วิวาทะกันอยู่ก่อน แต่ในฉบับพันจันทนุมาศพระองค์ทรงเป็นสาเหตุแห่งข้อวิวาทะเสียเอง ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าอันไหนคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

เคลียร์ดราม่ายุคพระเจ้ากรุงธนฯ ค้นพงศาวดาร หลักฐานที่ยืนยันว่า พระเจ้าตากไม่ได้วิปลาส!! และไม่เคยตรัสว่าพระองค์บรรลุโสดาบัน !!!

              ส่วนในฉบับพระราชหัตถเลขา เป็นเพียงฉบับเดียวที่บอกว่า พระเจ้าตากฯบอกว่าท่านบรรลุโสดาบัน กล่าวเนื้อความ (ตามตัวอักษรเหมือนกัน)ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงกล่าวคือ พระเจ้าตากฯเรียกพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ระดับพระราชาคณะขึ้นไปเข้าประชุม พระองค์สติฟั่นเฟือนถึงเป็นบ้า คิดว่าพระองค์บรรลุโสดาบัน จึงได้ตรัสถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า พระที่เป็นปุถุชนจะต้องไหว้ฆราวาสที่เป็นโสดาบันหรือไม่?

             ย้ำว่านี่เป็นฉบับเดียว(?)ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า พระเจ้าตากฯทรงคิดว่าพระองค์เป็นโสดาบัน และระบุด้วยว่าเป็นความคิดของคนที่เสียสติ (ซึ่งก็พออนุมานต่อไปได้ว่าเหตุที่มาที่ไปก็คือทรงนั่งกรรมฐานมากจนเสียสติ) ไฉนพระราชพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา(ที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๔) จึงต้องเชื่อมโยง "เรื่อง" ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน? ตั้งแต่

 ๑) การทรงพระกรรมฐาน
 ๒) การ(คิด)ว่าทรงบรรลุโสดาบัน
 ๓) การบังคับให้พระสงฆ์ไหว้พระองค์ และไปสรุปว่า
 ๔) พระเจ้าตากฯบ้า (ลงอาญาพระที่บอกว่าไม่ต้องไหว้อย่างหนัก)

              ทั้งๆที่ตามจดหมายเหตุโหร อาจจะอ่านแล้วตีความได้ด้วยซ้ำว่า เรื่องนี้(วิวาทะ)ทั้งหมดไม่ได้เริ่มมาพระองค์ท่านเลย (แม้จะเกี่ยวกับพระองค์ท่านอยู่) แต่เป็นพระองค์ท่านที่ไปตัดสินเรื่องนี้ กล่าวคือ

 ๑) การทรงพระกรรมฐาน และ
 ๒) พระทะเลาะกันว่าจะตัองไหว้(ท่าน?)หรือไม่
 ๓) พระที่บอกว่า "ไม่ต้องไหว้" ถูกลงโทษ

เนื้อความคล้ายๆกับในฉบับพันจันทนุมาศ แต่ผิดกันในสาระคำคัญคือ เป็นพระองค์ท่านที่บังคับให้พระไหว้ กล่าวคือ

 ๑) การทรงพระกรรมฐาน และ
 ๒) การบังคับให้พระสงฆ์ไหว้ท่าน และไปสรุปว่า
 ๓) ผิดธรรมเนียมที่เคยเป็นมา! (แปรปรวนไป...ไม่เป็นปกติเหมือนแต่ก่อน)

               ข้อที่พึงสังเกตุตรงนี้ก็คือแม้ในฉบับพันจันทนุมาศจะระบุถ้อยคำ "เสียพระจริตฟั่นเฟือน" แต่เป็นการใช้กับสถานการณ์รวมๆของกรุงธนบุรีในขณะนั้นหรือไม่? ซึ่งเป็นไปได้ที่จะเหมือนในจดหมายเหตุบันทึกความทรงจำฯที่ใช้คำเดียวกันนี้กับเหตุการณ์อื่น(เช่น สั่งฆ่ากบฏญวน หรือกรณีข้าราชการกังฉินอย่างพันสี-พันลา) ที่ไม่ใช่กรณีขัดแย้งภายในคณะสงฆ์

               ส่วนเราจะคิดต่อไปได้หรือไม่ว่า จู่ๆพระระดับพระผู้ใหญ่จะมาทะเลาะกันเรื่องนี้ทำไมถ้าพระเจ้าตากฯท่านไม่บังคับ? หรือ จู่ๆท่านจะมาบังคับทำไมถ้าท่านไม่คิดว่าท่านเองสำเร็จเป็นอริยบุคคลที่สูงกว่าพระปุถุชน? ว่ากันตามตรรกะก็คิดกันไปได้และฉบับพระราชหัตถเลขาก็คงใช้ตรรกะทำนองนี้เชื่อมโยงเหตุการณ์เข้าด้วยกัน แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะยืนยันได้ว่ามันจะเป็นไปตามนั้นเพราะก็อาจเป็นไปได้ที่  "...จดหมายเหตุโหรฉบับนี้กล่าวถึงข้อวิวาทในเรื่องการไหว้บุคคลผู้นั่งสมาบัติ ไม่เกี่ยวกับการไหว้พระอริยบุคคล อาจจะเป็นเพราะถือว่าบุคคลขณะนั่งสมาบัตินั้นมีสภาพจิตดั่งพระอริยบุคคลก็เป็นได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมิได้สำคัญพระองค์ว่าเป็นพระโสดาบัน...นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งกันทางศาสนานี้ตามกล่าวในจดหมายเหตุโหรก็มิใช่เป็นสิ่งที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงก่อขึ้น หากเป็นข้อวิวาทของพระราชาคณะอยู่แล้ว ความแตกร้าวในวงการคณะสงฆ์ในสมัยธนบุรีนั้นมีความรุนแรงพอสมควร และยังจะมีอยู่สืบมาในต้นรัชกาลที่ ๑ ด้วย..." (นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ๒๕๒๘(๒๕๕๕))
 

เคลียร์ดราม่ายุคพระเจ้ากรุงธนฯ ค้นพงศาวดาร หลักฐานที่ยืนยันว่า พระเจ้าตากไม่ได้วิปลาส!! และไม่เคยตรัสว่าพระองค์บรรลุโสดาบัน !!!

            กล่าวโดยสรุป ไม่มีหลักฐานร่วมสมัยชิ้นใดที่พอให้สรุปลงไปได้ว่า พระเจ้าตากฯคิดหรือประกาศว่าพระองค์เองเป็นพระโสดาบัน มิหนำซ้ำการบอกว่า "...มีพระสติฟั่นเฟือน มีสัญญาวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าเป็นพระโสดาปัตติผล..." ก็เป็นคำที่อาลักษณ์ผู้ชำระพงศาวดารในสมัยรัชกาลที่ ๔ บรรยายถึงพระเจ้าตากฯทั้งสิ้น ถึงตรงนี้เราจะพอที่จะบอกได้ว่าการบอกว่า พระเจ้าตากฯมีอาการป่วยทางจิต สำคัญพระองค์ผิด อันเนื่องมาจากการนั่งกรรมฐาน มีน้ำหนักพอหรือไม่?

-----
เวทิน ชาติกุล 

เรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  "ได้เห็นเป็นบุญตา!! “สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี” จากพระราชศรัทธาของ พระเจ้าตากสิน อีกหนึ่ง ราชภารกิจบนเส้นทางแห่งการบำเพ็ญเป็นพระโพธิสัตว์"   

จากหนังสือ "ธรรมะของพระเจ้าตาก" โดย สนพ.กรีนปัญญาญาณ"