ควันหลงวาทกรรม"ประเทศเฮงซวย" เช็ค คนค้นฅน ขอพูดบ้าง

ควันหลงวาทกรรม"ประเทศเฮงซวย" เช็ค คนค้นฅน ขอพูดบ้าง

แม้กระแสจะจางไปแล้วกับกรณี    วิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นโซเชียลเมื่อมีการแชร์ข้อความทวิตเตอร์ของนักร้องสาว อิมเมจ The Voice ไม่สบอารมณ์ออกมาบ่นถึงปัญหาของประเทศไทยว่า...  "เอาจริงๆนะ แค่ทำให้รถเมล์รถตู้มาสม่ำเสมอทุกเส้นทางยังทำไม่ได้เลย ก่อนทิ้งท้ายด้วยว่า  “ประเทศเฮงซวย จะอีก 50 ปีหรืออีก 1000 ปีก็ไม่เจริญขึ้นหรอกยิงกูดิ

"ล่าสุด"เช็ค คนค้นฅนหรือนายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เขียนบทความ"ประเทศเฮงซวย"โยนเข้าสู่เวทีสาธารณะอีกรอบ เนื้อหาข้อเสนอแนะเป็นอย่างลองพิจารณากัน  สิงหาคม 21, 2560

 

 

 

 "[ ผมเขียนบทความนี้ไว้ตั้งแต่ช่วงที่วาทกรรม 'ประเทศเฮงซวย' ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อน แต่ระงับการเผยแพร่เนื่องจากพบว่ามีคนเขียนเรื่องนี้กันมากแล้ว วันนี้คิดว่าไหนๆเขียนไว้แล้ว กระแสก็หมดไปแล้ว เอาลงให้อ่านกันดีกว่าเผื่อมีประโยชน์อะไรบ้าง เจตนามีแค่อยากชวนกันขยายมุมคิด ไม่ได้จะฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือจงใจวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใด ลองอ่านกันดูนะครับ 

การพูดเหมาว่าอะไรสักอย่างหนึ่งเฮงซวย โดยหลักความเป็นจริงก็มีทั้งส่วนถูกและส่วนที่ไม่ถูก นั่นก็เพราะว่าโดยธรรมชาติ ไม่ว่าอะไรก็ตามมักจะมีคุณสมบัติโดยรวมอยู่ 3 ด้านเสมอ นั่นคือมีทั้งที่ดีใช้ได้ ยังไม่ดีใช้ไม่ได้ และกลางๆพอใช้ได้ หรือสรุปแบบกำปั้นทุบดินก็คือมีทั้งเฮงซวยและไม่เฮงซวยนั่นเอง 

อะไรดีไม่ดี เฮงซวยไม่เฮงซวย ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะจับจุดตรงไหน สนองความต้องการอะไร หรือเอาคุณสมบัติอะไรมาเป็นตัวเทียบวัด เช่น เพชร ก็อาจห่วยกว่า กล้วยแขก ถ้าพูดเรื่องรสชาติ

ฉะนั้นเมื่อพูดถึงประเทศชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบเยอะแยะมากมาย การพูดแบบเหมาๆว่าประเทศไทยดีหรือประเทศไทยเฮงซวย จริงๆ แล้วพิจารณาจากหลักความจริงก็ไม่ต่างกัน นั่นคือไม่ถูกทั้งหมดและไม่ผิดทั้งหมดด้วยกันทั้งคู่

เช่น ประเทศไทยน่าจะเฮงซวยแน่นอน หากมองเรื่องปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย คุณภาพทางการศึกษา ปัญหายาเสพติด การค้าสัตว์ป่า การค้ามนุษย์ การอนุญาตให้ใช้สารพิษในการเกษตร ปัญหาขยะ การบุกรุกทำลายธรรมชาติ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงทัศนะวิจารณ์ต่อรัฐ บริการสาธารณะ วินัยของคนไทย รวมถึงปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และอื่นๆอีกมากมาย

แต่ถ้าหยิบยกเรื่องความเป็นเอกราช เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อาหารไทย ผลไม้ไทย ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ประเพณี วัฒนธรรม น้ำจิตน้ำใจของคนไทย การได้อยู่ในประเทศไทย ท่ามกลางญาติสนิท มิตรสหาย พ่อแม่ พี่น้องเรา ฯลฯ อันนี้ก็ไม่น่าจะเฮงซวย

โดยปกติถ้าเรารักหรือสำนึกในบุญคุณของใครหรือสิ่งใด เราคงไม่ใช้คำว่าเฮงซวยสำหรับบุคคลนั้นหรือสิ่งนั้น เช่น คงไม่มีลูกคนไหนใช้คำว่าเฮงซวยว่ากล่าวพ่อแม่ ซึ่งกับประเทศชาติบ้านเมืองก็เช่นกัน ถ้าหากเราสำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามให้เราได้อยู่อาศัย สุขสบายร่มเย็น ก็ไม่น่าเหมารวมว่าเฮงซวย 

ฉะนั้นการที่ผู้คนอดรนทนไม่ได้ เมื่อได้ยินการว่าขานประเทศอันเป็นที่รักด้วยถ้อยคำบาดความรู้สึก แล้วโต้ตอบเอาแรงๆ เสียๆ หายๆ ก็คงพอทำความเข้าใจได้ไม่ยาก 

แต่จะมีประโยชน์อะไรหรือไม่? ทำให้ประเทศเฮงซวยน้อยลงรึเปล่า? ...ไม่แน่ใจ

 

ที่น่าสนใจก็คือ หากคนจำนวนไม่น้อย ขาดความรู้สึกสำนึกรักในประเทศของตัวเอง แล้วด่าว่าให้เลือดรักชาติเราฉีดพล่าน รู้สึกเจ็บจี้ดจนทนไม่ได้ ที่น่าจะมีประโยชน์กว่าการตอบโต้ให้เจ็บแสบ รุนแรงกว่า  ผมคิดว่าการหาคำตอบว่า มีใคร? อะไร? หรือสิ่งใด?ทำให้สำนึกในบุญคุณของแผ่นดินจางหายไปจากจิตใจของพวกเขา! ตั้งแต่เมื่อไหร่? ความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่ากับความห่วย ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง หรือความเฮงซวยสะสมมีส่วนรึเปล่า? มากน้อยแค่ไหน? แล้วการปลูกฝังสำนึกในบุญคุณของแผ่นดินเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่! หากจำเป็นต้องทำอย่างไร ให้ท่องคุณธรรม12ประการหรือใช้อำนาจบังคับเอาได้ไหม? ผมว่าเรื่องพวกนี้น่าเสียเวลามากกว่าเสียอารมณ์แบบประเทศข้าใครอย่าแตะ

คนเรานั้นปากก็บอกว่าชอบความจริง แต่หากความจริงมาในรูปแบบของการตำหนิ ดังเช่นที่มีผู้ใช้คำว่าเฮงซวย เอาเข้าจริงก็ไม่พอใจอยู่ดี แต่ตรงกันข้าม แม้จะเป็นการมุสา แต่ถ้าเป็นการชม เช่นหากมีใครบอกเราว่ากรุงเทพฯเมืองสวรรค์ คนไทยปลื้มรัฐบาลทหาร ข้าราชการไทยไม่เช้าชามเย็นชาม ตำรวจไทยไม่เรียกรับผลประโยชน์ ฯลฯ ก็มักจะไม่มีใครโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ทั้งๆที่ไม่เป็นความจริง(ทั้งหมด) เหมือนกัน 

ปฏิกิริยาต่อการพูดข้อเท็จจริง จึงไม่เพียงขึ้นต่อข้อจริงเท็จ แต่ยังขึ้นกับถ้อยคำ น้ำเสียงและวิธีสื่อสารข้อเท็จจริงเหล่านั้น (ซึ่งในข้อนี้ผมเองก็นับว่ายังเผลออยู่บ่อย โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง)

ผมกลับคิดว่าการที่เด็กคนหนึ่งพูดเรื่องที่มองให้เห็นความจริงก็ได้ ความไม่จริงก็ได้ ด้วยอารมณ์หงุดหงิด และขาดการไตร่ตรอง ไม่น่าจะใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่ถึงขั้นต้องเอาเป็นเอาตายกัน ถ้าเราดูทีวีทุกวันเราจะเห็นว่ามีผู้ใหญ่ที่ขาดสติยิ่งกว่านี้ แต่การที่มีคนออกมาโหนไม่ว่าจะโดยการสรรเสริญว่าเป็นความกล้าหาญ ประมาณการพลีชีพตัวเอง เพราะประเทศนี้ไม่มีใครกล้าหาญที่จะพูดความจริงเช่นนี้อีกแล้ว หรือออกมาแช่งชัก แล้วขับไล่ไสส่งให้เธอไปอยู่ประเทศอื่น ผมคิดว่าย้ำเน้นความจริงในสิ่งที่เธอพูด...พอกัน

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกต่อคำพูดของใครสักคน ไม่ได้มีเพียงเนื้อความและน้ำเสียงของคำพูดนั้นเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้พูดนั้นด้วย เช่นถ้าผู้พูดนั้นเป็นลูกหลาน คนรักของเราหรือคนที่เราชมชอบ ศรัทธา ด้วยคำพูดและน้ำเสียงเดียวกันคงทำให้เรารู้สึกต่างไปจากที่ได้ฟังคำพูดนั้นจากผู้ที่เราอิจฉา ริษยา ไม่ชอบขี้หน้า หรือไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเยื่อใยและความสัมพันธ์ใดๆ

เพราะฉะนั้นเฮงซวยหรือไม่เฮงซวย เอาเข้าจริงแล้วก็ยึดถืออะไรไม่ได้สักอย่าง เหมือนตัวของมันเองไม่มีอยู่จริง เพราะขึ้นอยู่กับบริบทอื่นทั้งสิ้น เช่นถ้าเรากำลังจะเดินทางไปพบแฟนที่รออยู่ที่ร้านอาหาร แต่เลยเวลาแล้วรถยังไม่มา ในใจก็คงรู้สึกว่าการไม่ตรงเวลาของรถเป็นความเฮงซวย แต่ถ้ารถยังไม่มาสักที ตอนที่ไม่อยากจากกันกับแฟนซึ่งกำลังสวีทกันอยู่ที่ป้ายรถเมล์ การช้าของรถก็อาจเป็นความพึงพอใจ เพราะฉะนั้นความเคยชินเอย ความอยากให้เป็นไปตามที่ใจคาดหวังเอยฯลฯ ล้วนมีส่วนกำกับการลงความเห็นหรือความพอใจทั้งนั้น

 

ควันหลงวาทกรรม"ประเทศเฮงซวย" เช็ค คนค้นฅน ขอพูดบ้าง

 

 

     แต่ในความเป็นจริงเราต่างรู้อยู่แก่ใจว่า นอกจากสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกหงุดหงิดจนเผลอระบายอารมณ์ผ่านทวิตเตอร์แล้ว ยังมีสิ่งที่เฮงซวยกว่านั้นในประเทศนี้อีกมากมาย และขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ดีๆอีกมหาศาลเช่นกัน สิ่งที่ควรมองไปให้ถึงก็คือ สิ่งที่ดีหลายอย่าง ก่อนหน้านี้มันเคยเฮงซวยมาก่อน และสิ่งที่เฮงซวยหลายอย่าง ก่อนหน้านี้มันเคยดีกว่าที่เป็นอยู่ นั่นคือนอกจากไม่ว่าสิ่งที่ดีหรือเฮงซวย เป็นสิ่งที่ไม่คงที่ แน่นอนตายตัวแล้ว สิ่งที่ดีก็อาจเฮงซวยได้ถ้าไม่รักษา พัฒนา สิ่งที่เคยเฮงซวยก็เช่นกันสามารถแก้ไขให้ดีได้ 

อย่างเช่นการที่เมื่อเธอมีสติระลึกได้แล้วรู้สึกสำนึกเสียใจ แล้วแสดงความรับผิดชอบ ทั้งโดยการออกมาแถลงข่าวและลบข้อความนั้นไป  นอกจากแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแก้ไขแล้ว ยังแสดงถึงการได้เรียนรู้ธรรมะ เกิดปัญญาแก่ชีวิต ซึ่งเป็นคุณจากความผิดพลาด อันนี้น่าอนุโมทนาด้วยซ้ำไป

ประเด็นก็คือเรื่องนี้แหละ เราในฐานะสมาชิกของสังคมเรามีส่วนในการทำให้อะไรทั้งในตนและในสังคมมันเฮงซวยน้อยลงบ้าง ประเทศจะเป็นอย่างไร อย่าไปโทษประเทศเลยครับ ประเทศไม่รู้เรื่องหรอก คนที่อยู่ในประเทศนั่นแหละที่เป็นเหตุของผล ไม่ว่าประเทศนี้จะดีหรือเฮงซวย

 

 

สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ
สิงหาคม 2560"
Cr.บล็อก เรื่องเล่าดีๆทีวีบูรพา