สถ. มอบโล่เกียรติคุณโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School : LSS) และโล่เกียรติคุณสถานศึกษา ด้านการจัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ 4H

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th

นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบโล่เกียรติคุณโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น 3 ประเภท จำนวน 181 รางวัล ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น โรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นต้นแบบ และโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นนำร่อง ปี พ.ศ.2559 และมอบโล่เกียรติคุณสถานศึกษาที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ด้านการจัดกิจกรรมเพิ่มความรู้ 4H (Head Heart Hand Health) ของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 20 รางวัล แสดงศักยภาพและความสามารถของระบบการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี มีมาตรฐานรอบด้าน เมื่อวันพุธที่ 6 กันยายน 2560 เวลา 9.30 น. ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น จ.ปทุมธานี

“การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ” อีกหนึ่งนโยบายสำคัญของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่มุ่งมั่นส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ พัฒนาทั้งครู และนักเรียนในทุกด้าน จึงจัดโครงการ โรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นให้กับโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงาน รวมถึงพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างนักเรียนให้เป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสำนึกรักษ์ในท้องถิ่นแผ่นดินของตนเอง ตลอดจนดำเนินชีวิตโดยนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตนเองและชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อน ฟื้นฟูความเชื่อมั่น ควบคู่กับการสร้างเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงได้กำหนดให้มีโครงการ “โรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น ( Local Sufficiency School : LSS ) ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และบูรณาการการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับพลเมืองของสังคมในรุ่นต่อไป ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาให้ได้รับการบ่มเพาะ และปลูกฝังวิธีคิดและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และได้คัดเลือกสถานศึกษาที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา เช่น สถานศึกษาจะต้องมีนโยบายในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อน มีแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา 2. ด้านหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น มีหน่วยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามมาตรฐานการเรียนรู้ มีสื่อการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน 3. ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น มีการแนะแนว ดูแลช่วยเหลือผู้เรียน สนับสนุนการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ 4. ด้านการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา เช่น มีการพัฒนา ส่งเสริมให้บุคลากรแสวงหาความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 5. ด้านผลลัพท์/ภาพความสำเร็จ เช่น สถานศึกษาเป็นระเบียบ ร่มรื่น ปลอดภัย มีแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน 

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล เรื่อง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)” โดยปรับเวลาเรียน และพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และมีคุณภาพการเรียนที่ดีขึ้น ซึ่งมีสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมนำร่อง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นมา ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้พิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ระดับประเทศ ด้านการจัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ 4H (Head Heart Hand Health) ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1. ด้านพัฒนาการสมอง กระบวนการคิด (Head) 2. ด้านพัฒนาจิตใจ คุณธรรม จริยธรรม (Heart) 3. ด้านพัฒนาการปฏิบัติ (Hand) และ 4. ด้านพัฒนาสุขภาพ (Health)

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า การมอบโล่เกียรติคุณในวันนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุน และเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีพลังขับเคลื่อนสร้างสังคมให้เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและคุณธรรมควบคู่กันไป ให้นักเรียนมีความพร้อมที่จะเข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เจริญเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าแก่ประเทศชาติ รวมถึงได้แสดงถึงศักยภาพและความสามารถของระบบการจัดการศึกษาท้องถิ่นที่ดี มีมาตรฐาน จนสามารถพัฒนาระบบการศึกษาที่พัฒนาความรู้ ความสามารถของนักเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างรอบด้าน ทั้งวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม และสติปัญญา