รู้จริง... รู้แจ้ง... ทุกเรื่องราวพระอริยสงฆ์   http://panyayan.tnews.co.th

“ไส้กรอกหลวง” ชื่อพระราชทานจากในหลวง ร.๙ ไม่ใช่อาหาร แต่มีประโยชน์มากในยามมีเหตุภัยพิบัติต่างๆ สามารถช่วยคนในชาติ ได้อย่างเกินคาด

“ไส้กรอกหลวง” ชื่อพระราชทานจากในหลวง ร.๙ ไม่ใช่อาหาร แต่มีประโยชน์มากในยามมีเหตุภัยพิบัติต่างๆ สามารถช่วยคนในชาติ ได้อย่างเกินคาด

หากเอ่ยคำว่า “ไส้กรอกหลวง” หลายคนอาจจะงง ว่าคืออะไร และถ้าจะบอกต่อว่าไส้กรอกหลวงคือ “สายอากาศสุธี” ซึ่งก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าสิ่งนี้คืออะไรกันแน่ แท้จริงแล้วทั้งสองชื่อที่เอ่ยมา คือสายอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารสำหรับพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล ซึ่ง “ไส้กรอกหลวง” คือชื่อที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้นั่นเอง
ทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นของใช้ประจำตัวของคนไทยส่วนใหญ่ ทำให้เราสามารถติดต่อถึงคนห่างไกลในเกือบทุกชุมชนพื้นที่ได้ในทันที แต่หากย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อน การสื่อสารทางโทรคมนาคมยังไม่เจริญก้าวหน้า แม้แต่โทรศัพท์บ้านก็ยังมีเฉพาะเมืองใหญ่ ส่วนการปฏิบัติงานของทหารและตำรวจ หรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ในท้องถิ่นทุรกันดาร ต้องใช้เครื่องวิทยุสื่อสารขนาดเล็กซึ่งมีประสิทธิภาพจำกัด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระปรีชาสามารถยิ่งในด้านการวิทยุสื่อสาร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาสายอากาศประสิทธิภาพสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องวิทยุสื่อสาร แทนที่จะแก้ไขปรับปรุงที่ตัวเครื่องซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า

“ไส้กรอกหลวง” ชื่อพระราชทานจากในหลวง ร.๙ ไม่ใช่อาหาร แต่มีประโยชน์มากในยามมีเหตุภัยพิบัติต่างๆ สามารถช่วยคนในชาติ ได้อย่างเกินคาด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานข้อกำหนดในรายละเอียดของสายอากาศประสิทธิภาพสูงนี้ด้วยพระองค์เอง เช่น สามารถหาทิศทางขณะติดต่อได้ สามารถต่อพ่วงเครื่องวิทยุได้หลายเครื่อง มีความสูญเสียกำลังส่งขณะกระจายคลื่น “ได้บ้าง” แต่ให้น้อยที่สุด
ดร.สุธีร์ อักษรกิตติ์ ผู้รับสนองพระราชดำริมาพัฒนาสายอากาศ เล่าไว้ในวารสารนาวิกศาสตร์ ปีที่ 90 เล่มที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2550 ว่า “คำว่าได้บ้างในที่นี้ก็เป็นมาตรฐานสากลว่า 10% แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านรับสั่งว่าขอ 1 %นะ 10 กับ 1 นี่ รู้สึกว่ามันก็เยอะเหมือนกัน”
สายอากาศนี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานนามว่า สายอากาศสุธี 1 (Antenna Suthi 1)
ซึ่งสายอากาศสุธีได้พัฒนาต่อมาอีกสามรุ่น คือ สายอากาศสุธี 2 สุธี 3 และ สุธี 4
สำหรับสายอากาศสุธี 2 แม้จะมีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถรับส่งสัญญาณทางเครื่องวิทยุที่มีกำลังส่งเพียง 10 วัตต์ ให้สามารถติดต่อกับเครื่องวิทยุที่อยู่ห่างไกลถึง 600 กิโลเมตร แต่เนื่องจากมีขนาดใหญ่ไม่เหมาะแก่การใช้งานในพื้นที่ป่าเขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาสายอากาศขึ้นใหม่ โดยมีลักษณะเป็นสายเคเบิลยาวขดเป็นวง สามารถเหวี่ยงขึ้นไปเกี่ยวยอดไม้ในป่าเพื่อใช้ส่งสัญญาณ เมื่อเลิกใช้งานก็กระตุกสายลงมาม้วนเก็บ ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานชื่อว่า “ไส้กรอกหลวง”

“ไส้กรอกหลวง” ชื่อพระราชทานจากในหลวง ร.๙ ไม่ใช่อาหาร แต่มีประโยชน์มากในยามมีเหตุภัยพิบัติต่างๆ สามารถช่วยคนในชาติ ได้อย่างเกินคาด
ดร.สุธีร์ เล่าว่า “ที่น่าสังเกตคือ ยังไม่เคยมีใครทำไกลถึงขนาดนี้ ซึ่งสายอากาศเป็นสายอากาศพิเศษที่ท่านพระราชทานชื่อเป็นไส้กรอกหลวง ผมว่าเป็นเรื่องที่บ่งบอกถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน”
แบบสายอากาศที่มีพระราชดำริให้พัฒนาขึ้นนี้ พระองค์พระราชทานแบบให้เปล่าแก่หน่วยงานราชการ เพื่อให้ใช้ในงานพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างทันสถานการณ์ในสมัยที่การสื่อสารอื่นๆ ยังไม่เจริญก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้ พระอัจฉริยภาพด้านการสื่อสารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นทุรกันดาร และหน่วยงานราชการต่างๆ ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งนอกจากนี้ สายอากาศสุธียังนับเป็นแบบอย่างอันดีตามหลักการพอเพียงของพระองค์ที่ทรงเน้นให้รู้จักการพึ่งพาตนเอง และนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
เรียบเรียงจาก : หนังสือตามรอยพ่อ ก-ฮ.
ข้าพระพุทธเจ้าฯ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระภัทรมหาราช อย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ที่มา FB: เพจราชบัลลังก์จักรีวงค์ เรียบเรียงจาก : หนังสือตามรอยพ่อ ก-ฮ.