ฝังรากลึก !?!?   ตอกย้ำ "เงินวัด-พระ" สุดหละหลวม.... สบโอกาสโจรในคราบผ้าเหลือง

ฝังรากลึก !?!? ตอกย้ำ "เงินวัด-พระ" สุดหละหลวม.... สบโอกาสโจรในคราบผ้าเหลือง

ยังอยู่กับประเด็นที่เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่เฉพาะกรณีของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเท่านั้น แต่ที่ผ่านมา เรื่องอื้อฉาวภายใต้ผ้าเหลือง ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่องล่าสุดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และเกิดเป็นประเด้นขึ้นมาคงหนีไม่พ้น เรื่องการทุจริตเงินทอนวัด

หากย้อนกลับไปประเด็นที่อยุ่ในความสนใจ เห็นจะเป็นกรณีที่อดีตผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จนนำมาสู่ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นำกำลังตรวจค้นบ้านพักของนางภัทรานันท์ เบญจวัฒนานันท์ ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา ภายในบ้านเลขที่ 108/1 หมู่บ้านแกรนด์บางคอก บลูเลอวาร์ด สาทร-ปิ่นเกล้า ย่านถนนราชพฤกษ์ หลังมีข้อมูลว่าบ้านหลังนี้อาจเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตเงินทอนวัด

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องปฏิรูประบบการจัดการเงินและทรัพย์สินของวัดหรือไม่อย่างไรนั้น ก็ขอให้พุทธศาสนิกชนทุกท่านได้โปรดใคร่ครวญงานวิจัยนี้เอาเอง
จากการศึกษาเรื่อง การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย ของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า พบว่า จากจำนวนวัด 37,000 วัด มีเพียงหลักพันเท่านั้น ที่ส่งรายงานบัญชีให้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่สำคัญคือการจัดทำบัญชีของวัดก็ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลแต่อย่างใด

จากการให้สัมภาษณ์ของนายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบัน ตลาดที่ยังมีการแข่งขันเงินฝากไม่รุนแรงมากคือวัดและมหาวิทยาลัย

โดยเฉพาะเงินฝากวัดที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ เพราะสาขาส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดที่ธนาคารมีเครือข่ายสาขาอยู่มาก ประกอบกับฐานลูกค้าที่เป็นข้าราชการของธนาคารมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าอาวาสรวมถึงเจ้าหน้าที่ในวัด ในปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2555) ฐานเงินฝากทั้งระบบที่มาจากวัดมีประมาณ   2 แสนล้านบาท ในขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท ในส่วนของธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ …ในส่วนของวัดนั้นธนาคารจะเน้นการดูแลที่เจ้าอาวาส เช่นการดูแลสุขภาพเจ้าอาวาส หรือการให้ความสะดวก  เช่น การนำรถเอทีเอ็มเคลื่อนที่ไปตั้งไว้ให้ในวัด

เงิน 3 แสนล้านบาท  ถือว่ามหาศาลสำหรับวัดที่พุทธศาสนิกชนยังติดกับภาพความสมถะเรียบง่าย หากคำนวนจากตัวเลขจำนวนวัดของ ผศ.ดร.ณดา คือ 37,000 วัด หารด้วยเงิน 3 แสนล้านบาท หมายความว่าวัดแต่ละแห่งในเมืองไทยมีเงินฝากประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมทรัพย์สินอื่นๆ

การสำรวจของ ผศ.ดร.ณดา พบว่า รายรับรวมโดยเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 3,235,692 บาทต่อปี เงินส่วนใหญ่หรือ 2,022,501 บาท มาจากเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมแซม โบสถ์ หรือศาสนสถานอื่น ๆ รองลงมาคือรายรับจากการสร้างเครื่องบูชา 1,460,907 บาท และเงินบริจาคในโอกาสพิเศษ เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า งานบวช พิธีฝังลูกนิมิต เป็นต้น 1,054,324 บาทต่อปี
ขณะที่รายจ่ายรวมเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 2,770,927 บาทต่อปี ซึ่งโดยมากเป็นค่าก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารสถานที่ในวัด 2,384,146 บาทต่อปี รองลงมาเป็นค่าซ่อมบำรุงรักษาสถานที่และอุปกรณ์ 451,832 บาทต่อปี
ส่วนผลการสำรวจวัด 490 วัด พบว่า 107 วัด มีรายรับระหว่าง 500,001-1,000,00 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.8 และโดยส่วนมากคือ 100 วัด มีรายจ่ายอยู่ที่ 200,001-500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 20.41 งานศึกษาของ ผศ.ดร.ณดา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วัดที่มีรายได้และรายจ่ายมากกว่า 20 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปมีจำนวน 9-10 วัด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 โดยในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งมีรายรับ-รายจ่ายมากกว่า 50 ล้านบาท

ขณะที่วัดมีเงินฝากจำนวนมากขึ้นทุกขณะ ทว่า การจัดเก็บข้อมูลทางการเงินของวัดกลับมีความหละหลวม เนื่องจากหน่วยงานที่ควรมีบทบาทในการเก็บรวมรวมข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการให้วัดนำส่งรายงานทางการเงินตามมาตรฐานทางบัญชีที่กำหนดให้แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เพื่อทำการรวบรวมเป็นข้อมูลสำหรับการรายงานผลในภาพรวมได้เท่าที่ควร
ผศ.ดร.ณดา พบอีกว่า ทางสำนักพระพุทธฯ มีการจัดแบบฟอร์มบัญชีขึ้นมา แต่จากข้อมูลที่ไปเก็บจากสำนักงานพระพุทธฯ พบว่า สำนักพระพุทธฯ ก็อยากให้วัดนำส่งบัญชีเข้าไปที่สำนักพระพุทธฯ จังหวัด และส่งต่อเข้าสู่ระบบที่เป็นการรายงานข้อมูล แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติหรือบทลงโทษชัดเจนว่า ถ้าไม่ส่งจะเป็นอย่างไร สำนักพระพุทธฯ เองก็ไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับวัดโดยตรง เพียงแต่มีแนวปฏิบัติไว้ให้ทำตามกฎกระทรวง อีกทั้งมติของคณะสงฆ์ที่จะให้วัดจัดทำตามแบบฟอร์มและนำส่งแบบฟอร์มให้สำนักพระพุทธฯ ก็ไม่ได้มีการจัดส่งทุกวัด

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายหลักที่ดูแลในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของวัดคือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ซึ่งยังมีกฎกระทรวงฉบับต่าง ๆ ที่ออกตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของวัด และแม้ว่าจะมีการแต่งตั้งไวยาวัจกรหรือคณะกรรมการวัดขึ้นมาดูแลตรวจสอบทรัพย์สินของวัด แต่ก็เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่าการได้มาของไวยาวัจกรและคณะกรรมการวัด ส่วนใหญ่มักมาจากการเลือกของเจ้าอาวาส นั่นเองครับ

จากการสำรวจด้วยแบบสอบถามเจ้าอาวาส กรรมการวัด และไวยาวัจกรของวัดจำนวน 490 วัด ครอบคลุม 15 จังหวัด 5 ภาค (ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ กรุงเทพฯและปริมณฑล) รวม 1,306 คน ในงานของ ผศ.ดร.ณดา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 92.4 ตอบว่ามีการแต่งตั้งไวยาวัจกร และร้อยละ 91.7 ระบุว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการวัด แต่ร้อยละ 68.8 ระบุว่า วิธีการคัดเลือกไวยาวัจกร เจ้าอาวาสเป็นผู้เลือกและแต่งตั้ง ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมการวัด ร้อยละ 51.2 ระบุว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้เลือก

ผศ.ดร.ณดา อธิบายว่าธรรมาภิบาลข้อที่สำคัญคือ ความรับผิดรับชอบ ซึ่งตรวจสอบได้ โปร่งใส่ และมีส่วนร่วมที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่ที่มาของไวยาวัจกร ถ้าดูตามกฎกระทรวงก็ไม่มีข้อห้ามไม่ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้ง เพียงแต่บอกว่าไวยาวัจกรต้องไม่เคยโดนฟ้องคดี ไม่ใช่บุคคลล้มละลาย เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นการพูดถึงคุณสมบัติกว้าง ๆ ไม่ได้บอกว่าห้ามเป็นญาติเจ้าอาวาส ตามที่ได้ศึกษามา เจ้าอาวาสมีสิทธิ์เสนอชื่อเข้าไปแต่งตั้ง เพียงแต่ไม่ได้พูดถึงที่มาที่ไป เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ที่เจ้าอาวาสไว้วางใจบุคคลในเครือญาติ

ในด้านการจัดทำบัญชีอสังหาริมทรัพย์ของวัด พบว่า ร้อยละ 46.5 ดำเนินการโดยเจ้าอาวาส ร้อยละ 28.0 ไม่มีการดำเนินการใด ๆ และมีเพียงร้อยละ 9.7 เท่านั้นที่จัดทำโดยคณะกรรมการวัด

ส่วนการเก็บรักษาเงินของวัด ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 76.7 เก็บไว้ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินและเจ้าอาวาสหรือกรรมการวัดเบิกได้ 1-2 คน โดยร้อยละ 93.7 หรือ 1,178 คน ระบุว่าอยู่ในรูปบัญชีออมทรัพย์ วิธีการเบิกจ่าย ระบุว่า ร้อยละ 27.3 ต้องใช้ 2 ใน 3 คนเป็นผู้เบิกโดยมีเจ้าอาวาสเป็นหลัก โดยการเก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝาก พบว่า ร้อยละ 70.0 เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล, ร้อยละ 13.8 ไวยาวัจกรเป็นผู้ดูแล และร้อยละ 11.0 กรรมการวัดเป็นผู้ดูแล

 

พิจารณาจากข้อมูลข้อเท็จจริงของงานวิจัยดังกล่าว ยิ่งมีความชัดเจนว่าวงการพุทธของประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูปเรื่องของเงินและทรัพย์สินของพระและวัด เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาจึงยิ่งมีความสงสัยว่าเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นไปกระทบกับผลประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มที่เกาะผ้าเหลืองหากินอยู่ใช่หรือไม่

อ้างอิงข้อมูล  งานวิจัยนี้ เรื่อง การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย ของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์