เครือข่าย "ทักษิณ" ไม่พ้นบ่วงกรรม ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 3 ปี “เบญจา หลุยเจริญ” ไม่รอลงอาญา 3 ขรก. โดน 157 ช่วยโอ๊ค-เอม ไม่ยื่นคำนวณภาษีหุ้น

เครือข่าย "ทักษิณ" ไม่พ้นบ่วงกรรม ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 3 ปี “เบญจา หลุยเจริญ” ไม่รอลงอาญา 3 ขรก. โดน 157 ช่วยโอ๊ค-เอม ไม่ยื่นคำนวณภาษีหุ้น

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ซ.สีคาม เมื่อช่วงวันที่ 19  ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำ อท.43/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1-5 ต่อแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

 

โดย ป.ป.ช. โจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้า ต่อแผนกคดีทุจริตฯ ในศาลอาญา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.58 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า จำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากร ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากรหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควร

โดยชอบด้วยกฎหมาย จากการที่นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย  จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.ค.59
ตัดสินว่า นางเบญจา อดีต รมช.คลัง และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร น.ส.จำรัส อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย น.ส.โมรีรัตน์ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย นายกริช ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี

ส่วน น.ส.ปราณี คนใกล้ชิด เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
 

 

 

ต่อมาจำเลยทั้งหมดยื่นอุทธรณ์คดี และได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ซึ่งศาลตีราคาประกันจำเลยคนละ 300,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆในการปล่อนชั่วคราว

โดยศาลอุทธรณ์ พิจารณาคำอุทธรณ์ของจำเลยทุกประเด็นทั้งเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์และ ประเด็นว่าการตอบข้อหารือของจำเลยที่ทำหนังสือสอบถามกรมสัมผัสก่อนทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ กับเหตุสมควรการลงโทษสถานเบาหรือให้รอการลงโทษจำคุกหรือไม่นั้น 

ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ทุกประเด็นในคำอุทธรณ์ของ จำเลยทั้งห้านั้นฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าในอัตราโทษโดยไม่รอการลงโทษนั้นศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย โดยสภาพความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำโดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายและความน่าเชื่อถือในการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศชาติพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง

จำเลยจะอ้างว่าเรื่องนี้ในที่สุดแล้วก็มิได้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษายึดซับที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้วและศาลภาษี อากรกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีของกรมสรรพากรไปแล้ว มาเป็นข้ออ้างเพื่อขอให้ศาลรอการลงโทษไม่ได้ จึงพิพากษายืน