ด่วน !!! เตือน!นครสวรรค์น้ำขึ้นสูงสุด 22 ต.ค. ประชาชนเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พื้นที่ใต้เขื่อนอุบลรัตน์เตรียมเผชิญน้ำสูง!!

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเฉพาะกิจ เพื่อติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ว่า ปริมาณน้ำใน จ.นครสวรรค์ จะขึ้นสูงสุดวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จากปริมาณฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งได้แจ้งเตือนประชาชนและทุกฝ่ายเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมหาพื้นที่ทุ่งของกรมชลประทานเพื่อผันน้ำไว้แล้ว คาดว่าจะสามารถรองรับน้ำได้มากถึง 300 ล้านลูกบาศก์เมตร 

 

 

ทั้งนี้ วันที่ 22 ตุลาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณฝนลดลง ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเชื่อว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจะไม่ส่งผลกระทบประชาชนและพื้นที่การเกษตร รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ

 

 

ส่วนคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น มีมติให้เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เนื่องจากยังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) ไหลเข้า 77.97 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7 ซม. เป็น +183.27 ม.รทก. ใกล้เคียงกับระดับพนังกั้น อ.โนนสังข์ (ที่พนังต่ำ +183.50 ม.รทก.) จึงได้ขอปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 54 ล้าน ลบ.ม./วัน วันนี้ (20 ต.ค.) ตั้งแต่เวลา 18.00 น. สำหรับเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังปิดการระบายน้ำต่อเนื่อง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง บริเวณ จ.กำแพงเพชร หลังจากฝนตกหนักในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตาก และ อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำปิง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอีก ล่าสุดวันนี้ (20 ต.ค.) ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง ที่สถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ วัดได้ 1,145 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,919 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.25 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

 

 

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจาก จ.นครสวรรค์ เมื่อรวมกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ยังคงปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,600 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร ส่งผลให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในเขต อ.เมือง อ.วัดสิงห์ และ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในเขต อ.เมือง จ.อุทัยธานี และ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ด้วย ซึ่งกรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งฝ่ายปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว ให้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งแล้ว

 

 

ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,598 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทรงตัว ส่วนบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้รับน้ำเพิ่มเข้าไปในระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในเกณฑ์สูงสุดตามศักยภาพที่รับได้ ก่อนจะส่งน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง รวมปริมาณน้ำที่นำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 1,290 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ส่วนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จนถึงขณะนี้ยังปิดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน และเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด สำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน (20 ต.ค.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 58,327 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 34,801 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 สามารถรองรับน้ำได้อีก 13,031 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 19,918 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,222 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 4,979 ล้าน ลบ.ม.

 

 

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกโครงการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ นำถุงยังชีพและน้ำดื่มเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่องแล้ว