สูตรสำเร็จ..พรรคทหาร!! จับตาทิศทาง"คสช."ตั้งพรรคได้ แต่ระวังอย่าซ้ำรอย​"สามัคคีธรรม"-"พล.อ.เปรม"แม้ไม่มีพรรค อยู่ยาวถึง8ปี!!??

สูตรสำเร็จ..พรรคทหาร!! จับตาทิศทาง"คสช."ตั้งพรรคได้ แต่ระวังอย่าซ้ำรอย​"สามัคคีธรรม"-"พล.อ.เปรม"แม้ไม่มีพรรค อยู่ยาวถึง8ปี!!??

จากกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ในอนาคตมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะตั้งพรรคการเมือง  ซึ่งพล.อ.ประวิตรหลุดปากตอบถำถามที่ว่า “คสช.จะไม่ตั้งพรรคการเมืองแน่นอน?” โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ..ทำไมต้องไปยืนยัน คสช.ไม่ยุ่งกับการเมืองอยู่แล้ว  “ยกเว้นแต่มีความจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง” หากไม่จำเป็นก็ไม่ตั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้ง

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์ในกรณ๊ดังกล่าว..วันนี้ก็ไปถามรัฐมนตรีกลาโหมอีกว่าจะตั้งพรรคหรือไม่ตั้ง ไม่ต้องไปถาม วันนี้ยังไม่ได้ตั้งก็คือยังไม่ได้ตั้ง ก็แค่นั้นเองไม่ใช่พอวันนี้ไม่ตั้ง ก็ถามอีกว่าวันหน้าจะไม่ตั้งใช่ไหม ก็ไปอีกไม่มีจบ ถามแบบนี้ถามไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่อยู่อย่างนี้ พันกันไปมา แล้วคนก็มาแสวงประโยชน์ 

 

“เรื่องคสช.ตั้งพรรคการเมืองยังไม่ได้คิดตอนนี้ ดูสถานการณ์ไปก่อน มีเวลาอีกตั้งปี วันนี้บ้านเมืองต้องการความสงบ” เดินหน้าปฏิรูปในระยะที่2 ให้ได้เพื่อส่งต่อรัฐบาลเลือกตั้งและรัฐบาลเลือกตั้งในวันข้างหน้าก็เป็นรัฐบาลที่เป็นพรรคการเมืองทั้งนั้น ...

 

การตั้งพรรคคสช. ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตามความจำเป็นที่ว่าไว้นั้น ทำให้เกิดประแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่าความจำเป็นดังกล่าวคืออะไร แต่ถ้าหากต้องการจัดตั้งเพื่อปูทาง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับสู่ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ระบบรัฐสภา เพื่อสานงานบ้านงานเมือง ต่อจากที่ค้างไว้หรือไม่นั้น แต่สาระสำคัญในการจัดตั้งพรรคการเมือง “อย่าใช้นโยบายกวาดต้อน” ไปเอาคนจากพรรคนู้นนี้ นั่นมา

 

เพราะอดีตที่ผ่านมา ในยุคหลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ ปี 2534ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จากนั้นได้ มีการก่อตั้ง "พรรคสามัคคีธรรม" ขึ้นจัดตั้งอย่างรวดเร็วในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2535 ซึ่งพรรสามัคคีธรรม ถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนแกนนำ รสช. และอาจกล่าวได้ว่า แกนนำ รสช.บางคน มีส่วนสนับสนุนพรรคนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจหลังการเลือกตั้ง จึงมีที่มาคล้ายคลึงกับพรรคเสรีมนังคศิลา ที่เคยสนับสนุน จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพรรคสหประชาไทย ที่เคยสนับสนุน จอมพลถนอม กิตติขจร ในการรักษาอำนาจหลังการรัฐประหาร นอกจากนี้ นักการเมืองบางคนที่สังกัดพรรคนี้ ยังเคยเป็นสมาชิกพรรคเสรีนังคศิลา และพรรคสหประชาไทยอีกด้วย โดยมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และนาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค และเป็นผู้ล็อบบี้ยิสต์ นักการเมืองพรรคต่างๆ

ภายหลังจากที่พรรคสามัคคีธรรมได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วนั้น ก็ได้มีนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงทยอยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2535 พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก หัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย ได้ลาออกจากตำแหน่ง และเข้ารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคสามัคคีธรรม ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2535 นายประมวล สภาวสุ และนายอนุวัฒน์ วัฒนพงศ์ศิริ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้ตัดสินใจย้ายจากพรรคชาติไทยไปอยู่พรรคสามัคคีธรรม และหนึ่งในนั้นที่น่าสนใจคือ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์”

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคสามัคคีธรรม ได้รับเลือกตั้งเข้ามาจำนวน 79 คน จากจำนวน 360 ที่นั่ง เป็นอันดับที่ 1 จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมือง 4 พรรค คือ พรรคชาติไทย (74 คน) พรรคกิจสังคม (31 คน) พรรคประชากรไทย (7 คน) และพรรคราษฎร (4 คน) รวมเป็น 195 คน ขณะที่พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ พรรคปวงชนชาวไทย และพรรคมวลชน ร่วมกันเป็นฝ่ายค้าน

หากแต่ในเวลาต่อมา นางมาการ์เร็ต ทัตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ได้รับการปฏิเสธการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) จากสหรัฐ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2534 ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและการถือสัญชาติ มาตราที่ 212 เอ. ( 2 ซี.) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ห้ามบุคคลที่มีส่วนพัวพันเกี่ยวกับยาเสพติดและวัตถุที่ผิดกฎหมายเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา และในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2535 ประชาชนจากภาคเหนือประมาณ 2,000 คน นำโดยนายเมธา เอื้ออภิญญากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ (สามัคคีธรรม) ได้ชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยและเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐ ชี้แจงกรณีที่กล่าวหาว่า นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม พัวพันกับการค้ายาเสพติด และในวันเดียวกันนั้น พลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมแถลงว่า พรรคพลังธรรมได้ประชุมและมีมติเรียกร้องให้นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมถอนตัวจากการได้รับการเสนอชื่อ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในที่สุด นายณรงค์ วงศ์วรรณ ก็ได้ยินยอมที่จะถอนตัวจากการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
และในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2535 นายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ได้แถลงว่า พรรคสามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร ได้มีมติให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงของประเทศและเศรษฐกิจ และในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2535 ก็ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังได้มีกระแสคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากทั้งนิสิต นักศึกษา และประชาชน จนเกิดการชุมนุมประท้วงและลุกลามจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในเวลาต่อมา

ขณะนั้นเอง“ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา เมื่อปี พ.ศ. 2535 ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้น ดร.อาทิตย์ ได้รับฉายาว่า "วีรบุรุษประชาธิปไตย" ด้วยในเวลาเย็นของวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เป็นผู้นำชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แทนชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ถือกันขณะนั้นว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยในครั้งนั้น ดร.อาทิตย์ได้รับแรงกดดันจากหลายส่วน เนื่องจากมีความต้องการจากฝ่ายการเมืองขั้วที่สนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่จะให้ พล.อ.อ.สมบุญ ขึ้นดำรงตำแหน่ง แต่ทว่า ดร.อาทิตย์เห็นว่า หากเป็น พล.อ.อ.สมบุญ จะก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อได้ เพราะมีเสียงของภาคประชาชนไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง จึงได้ติดต่อทาบทาม นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ทางนายชวนปฏิเสธ เนื่องจากหากรับไปแล้ว จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เสถียรภาพของรัฐบาลจะง่อนแง่น ดร.อาทิตย์จึงตัดสินใจเสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง โดยได้ติดต่อทาบทามนายอานันท์ถึง 3 ครั้ง นายอานันท์จึงยอมรับในครั้งสุดท้าย โดยเป็นการติดต่อกันผ่านทางสายโทรศัพท์จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งขณะนั้น ดร.อาทิตย์ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร จะทำการเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯถวายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ทว่าไปด้วยกระดาษเปล่าที่มีตราครุฑประทับบนหัวกระดาษเท่านั้น แล้วให้ฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ชื่อนายอานันท์ขณะนั้นเอง

 

 

ดังนั้นหากพิจารณาการจะจัดตั้งพรรคการเมืองในกรณีพล.อ.ประยุทธ์ การเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือต้าน แบบเดียวกับ”พล.อ.สุจินดา” นั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะพี่น้องประชาชนยังรัก และให้การสนับสนุนในตัวพล.อ.ประยุทธ์อยู่ แต่หากการจัดตั้งพรรคเกิดขึ้นจริง จะต้องเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทำหน้าที่ ดูแลรับใช้ชาติเมือง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่มีผลบังคับใช้ได้กำหนดเส้นทางการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ทั้งแบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วอย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งระบบใหม่ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ได้เปิดโอกาสสำหรัยคนรุ่นใหม่มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตามการจัดตั้งพรรค ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ หรือ เครื่องรับประกันว่าจะสามารถจะอยู่ในอำนาจได้ตลอด ด้านพล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ ขณะนั้นก็ไม่ได้ตั้งพรรค หรือมีพรรคทหารหนุนแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ลงเลือกตั้ง แต่ท่านเป็นนายกฯ กึ่งเผด็จการ-กึ่งประชาธิปไตย ยาวนานถึง 8 ปี ยาวนานกว่านายกอื่นๆ ทุกที่มาไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้ง หรือ รัฐประหาร