ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมาย ได้ที่ http://www.tnews.co.th

ครบรอบ ๖๘ ปี วันละสังขารหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นวันครบรอบ ๖๘ ปี แห่งการละสังขารของพระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (หนองผือนาใน) อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดิมชื่อ มั่น นามสกุล แก่นแก้ว เป็นบุตรของ นายคำด้วง และ นางจันทร์ ท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๓ ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ณ บ้านคำบง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

ท่านได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ ๒ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน จิตท่านยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า "เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก" ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่บ้านคำบง นายมั่น แก่นแก้ว จึงเข้าถวายการรับใช้และมีจิตศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ต่อมาได้เป็นศิษย์ติดตามเข้าเมืองอุบล

เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่ามีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ซึ่งท่านทั้งสองก็อนุญาต จึงได้เข้ารับการอุปสมบทในวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อ.เมือง จ. อุบลราชธานี โดยมีพระอริยกวี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “ ภูริทัตโต ” หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ไปพำนักจำพรรษา และศึกษาธรรมกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโลที่วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

หลังจากที่ท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงที่ถ้ำสาลิกาแล้ว ท่านได้กลับมายังภาคอีสาน การกลับมาของท่านคราวนี้ทำให้พระเณรตื่นตัวหันมาปฏิบัติกันอย่างจริงจังมากขึ้น บังเกิดเป็นกองทัพธรรมพระกรรมฐานได้นำธงชัยแห่งพระพุทธศาสนากระจายเผยแผ่อมตะธรรมไปทั่วสารทิศ ท่านได้นำลูกศิษย์ลูกหาออกบำเพ็ญภาวนา ยิ่งนับวันยิ่งมีผู้เคารพศรัทธาท่านเพิ่มมากขึ้น

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ครบรอบ ๖๘ ปี แห่งการละสังขารของพระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน "หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต"

ท่านได้ไปจาริกแสวงธรรม อยู่ทางภาคเหนือนานถึง ๑๒ ปี ท่านจึงได้เดินทางกลับมายังภาคอีสานตามคำอาราธนานิมนต์ของลูกศิษย์ลูกหา พอกลับมาถึงภาคอีสานท่านได้เข้าพักที่วัดป่าสาลวัน เมืองโคราช จากนั้นท่านได้โดยสารรถไฟต่อไปยัง จ.อุดรธานี ที่ จ.อุดรธานีนี้ท่านได้เข้าพักที่วัดโพธิสมภรณ์ และวัดป่าโนนนิเวศน์ จนกระทั่งมีคณะศรัทธาจาก จ.สกลนคร มานิมนต์ให้ท่านไปโปรดพวกเขา ท่านจึงรับคำนิมนต์ โดยได้ไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านโคก ( วัดป่าวิสุทธิธรรม ) อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร หน้าแล้งในพรรษาหนึ่งก็ได้มีคณะศรัทธาจากบ้านหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เดินทางมานิมนต์ท่านไปสั่งสอนธรรม ท่านจึงรับนิมนต์และย้ายจาก อ.โคกศรีสุพรรณ ไปยังบ้านหนองผือนาใน และที่วัดป่าบ้านหนองผือแห่งนี้นี่เองเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่น จำพรรษาอยู่นานถึง ๕ พรรษา จนถึงวาระสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน

ในวัยชรานับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมาท่านมาอยู่จังหวัดสกลนคร ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร และที่ใกล้ๆแถวนั้นบ้าง ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้คณะศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดก็ได้เป็นธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถอาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว จนจวนจะออกพรรษาอาการอาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปอย่างรวดเร็วพอออกพรรษา คณะศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกลต่างก็ทยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาลแล้วนำท่านมาที่วัดป่าบ้านภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่ฉลวย สุธัมโม ลูกศิษย์ของท่านมาสร้างไว้ อาการอาพาธของท่านมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ คณะศิษย์ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร โดยพาหนะรถยนต์มาถึงวัดป่าสุทธาวาสเวลาเที่ยงเศษ ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายสิริรวมอายุของท่านได้ ๘๐ ปี ตรงตามที่ท่านพยากรณ์ไว้แต่เดิม

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ครบรอบ ๖๘ ปี แห่งการละสังขารของพระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน "หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต"

พระคาถาแคล้วคลาดโมรปริต (นกยูงทอง)
โมระปะริตตัง (คาถายูงทอง)
ในบรรดาพระป่าสายพระอาจารย์มั่น ส่วนมากได้ให้ความนับถือพระคาถาบทหนึ่ง คือพระคาถาโมรปริตหรือชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า"พระคาถานกยูงทอง"
ความเดิมมีอยู่ว่า มีพญายูงทอง ตัวหนึ่งที่มีชีวิตแคล้วคลาดจากการถูกเข่นฆ่ามาได้โดยตลอด แม้พระราชาหรือนายพรานที่มีความชำนาญก็ยังจับไม่ได้ พญายูงทองได้ท่องพระคาถานี้มาโดยตลอด แม้จะถูกดักด้วยแร้ว กลไกของแร้วก็ไม่ลั่น จนกระทั่งมีนายพรานที่มีปัญญาหลักแหลมจึงหาอุบายเอานกยูงตัวเมียที่ฝึกไว้จนเชื่องและปฎิบัติตามคำสั่ง ได้เข้าไปล่อและส่งเสียงร้องก่อนที่พญายูงทองจะท่องพระคาถา พญายูงทองก็เกิดความกระสันด้วยกิเลส ลืมร่ายมนต์และเข้ามาหานางนกยูง เลยถูกบ่วงแร้วรัดตัวและถูกจับไว้ได้ในที่สุด
พระคาถาที่พญายูงทองได้สวดท่องทุกเช้าและค่ำมีดังนี้
บทสวดตอนเช้า
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ
บทแปล
พระอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง กำลังอุทัยขึ้นมา ผู้สาดแสงสีทองส่องพื้นปฐพี ข้าพเจ้าทั้งหลาย อันท่านคุ้มครองแล้ว พึงอยู่เป็นสุข ตลอดเวลากลางวันวันนี้
ท่านผู้ลอยบาปได้แล้ว เหล่าใด เป็นผู้รู้จบในธรรมทั้งปวง ขอท่านผู้ลอยบาปแล้วเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้าเถิด ขอท่านผู้ลอยบาปแล้วเหล่านั้น โปรดรักษาข้าพเจ้าด้วยเถิด ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว จากกิเลสทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่วิมุตติธรรม นกยูงนั้น กระทำปริตรอันนี้แล้ว จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร

บทสวดตอนค่ำ
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ
นะมัตถุ พุทธานัง : ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
นะมัตถุ โพธิยา : ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแด่พระโพธิญาณ
นะโม วิมุตตานัง : ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย
นะโม วิมุตติยา : ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแด่วิมุตติธรรม
บทแปล
พระอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง กำลังลาลับไป จากการส่องแสงแก่พื้นปฐพี เพราะเหตุนั้น ข้าเจ้าขอนอบน้อม ซึ่งพระอาทิตย์นั้น ผู้สาดแสงสีทองส่องพื้นปฐพี ข้าพเจ้าทั้งหลาย อันท่านคุ้มครองแล้ว พึงอยูเป็นสุขตลอดราตรีนี้
ท่านผู้ลอยบาปได้แล้วเหล่าใด เป็นผู้รู้จบในธรรมทั้งปวง ขอท่านผู้ลอยบาปแล้วเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้าเถิด ขอท่านผู้ลอยบาปแล้วเหล่านั้น โปรดรักษาข้าพเจ้าด้วยเถิด ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ผู้หลุดพ้นแล้ว จากกิเลสทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าเจ้า จงมีแด่วิมุตติธรรม นกยูงนั้น กระทำปริตรอันนี้แล้ว จึงพักผ่อนหลับนอนแล

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ครบรอบ ๖๘ ปี แห่งการละสังขารของพระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน "หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต"

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพและเจ้าของบทความ ที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

วัดป่าคลองกุ้ง จันทบุรี

https://board.postjung.com/

เพื่อเผยแผ่กิตติคุณเป็นสังฆบูชา