ค่าโง่เหมืองทอง?! เผือกร้อนที่ "ฝ่ายประชาธิปไตย" ที่ออกมาเย้ว ๆ ยังต้องผวา เพราะปมเงื่อนทุจริตซ้อนทับจน...แงะยังไงก็แงะไม่ออก?!

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

ดูเหมือนคำสั่งยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่ทองคำเมื่อ 1 ปีก่อน จะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลัง คนของพรรคเพื่อไทย ออกมาโหนเรื่องนี้ แล้วยิงคำถามตรงๆ ว่า "บิ๊กตู่" จะทำอย่างไร หากเรื่องนี้ไปยุติในรัฐบาลหน้า ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่อยู่แล้ว ตัวบิ๊กตู่จะรับผิดชอบอย่างไร จะจ่ายเองหรือไม่..หลังมีข่าวว่า  บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด สัญชาติออสเตรเลีย เป็นบริษัทแม่ ยื่นให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายทางธุรกิจเป็นมูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 30,000 ล้านบาทหลังรัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองคำ ที่ จ.พิจิตร
 

แต่จริง ๆ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องการปิดเหมืองเพียว ๆ และรัฐบาลไทยกำลังเสียค่าโง่เช่นหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาหรือ...แล้วทำไมรัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมา  กลับไม่ดูดำดูดีเรื่องนี้ ทั้งที่ชาวบ้านร้องเรียนมาโดยตลอด...กระทั่งบางสำนวนอยู่ในชั้น ป.ป.ช.....แต่แปลกรัฐบาล "ประชาธิปไตย-ที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง" กลับลอยแพชาวบ้าน...ทั้งที่จุดเริ่มต้นของเหมืองตนเองก็มีส่วนอยู่มาก  โดยช่วงกลางปี 2557 มีชาวบ้านในพื้นที่ตำบลลำพญากลางและตำบลลำสมพุง จ.สระบุรี พื้นที่ติดกับลพบุรี และ เพชรบูรณ์ เดินทางมายื่นเอกสารต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ตรวจสอบบริษัทเอกชนในพื้นที่ 3 จังหวัด ในข้อหา “ใช้ช่องทางและอำนาจโดยมิชอบเข้าไปหาผลประโยชน์ โดยมีหน่วยงานของรัฐให้ความช่วยเหลือ” จากการนำกฎหมายของกรมป่าไม้มาบังคับใช้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีทรัพยากรแร่ที่สำคัญจำนวนมากของทั้ง 2 ตำบลดังกล่าว รวมทั้งจ.ลพบุรีและจ.เพชรบูรณ์ และจากการตรวจสอบ พบว่าบริษัทดังกล่าว เกี่ยวข้องกับคนของพรรคนายใหญ่ เกือบจะทั้งสิ้น


และหลังจากนั้นต่อมา ช่วงต้นปี 2558 ป.ป.ช.  ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว หลังมีการกล่าวหานายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม  นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย กับพวกรวม 13 คน  ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกรับทรัพย์สินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต (สัญชาติออสเตรเลีย) ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่นั้น เรื่องนี้เว็บไซต์ของ ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ข้อกล่าวหานายประเสริฐ และนายจารุพงศ์ อย่างเป็นทางการแล้ว โดยรับเรื่องมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 หรือกว่า 2 ปีก่อน โดยระบุข้อกล่าวหาว่า จากข้อมูลและหลักฐานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ส่งมาซึ่งเป็นข้อมูลและหลักฐานที่ได้รับจาก Australian Securities and Investment Commission (ASIC) กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบ

 

 

กระทั่งเมื่อต้นปีนี้ คือเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน พิจารณาพยานหลักฐานที่รวบรวมได้  และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า คณะอนุกรรมการไต่สวน แจ้งคำสั่งไต่สวนนายจารุพงศ์ ในฐานะกรรมการบริหารบริษัท สวนสักพัฒนา จำกัดเพิ่มอีกด้วย


แล้วบริษัท สวนสักพัฒนา ที่นายจารุพงศ์ เคยเป็นกรรมการบริหารเข้ามาเกี่ยวข้องทุจริตเหมืองทองได้อย่างไร เรื่องนี้เมื่อสืบลึกไปยิ่งพบความฉ้อฉลแบบจังจัง เมื่อข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท สวนสักพัฒนา ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2540 กลับใช้ที่อยู่เดียวกับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต สัญชาติออสเตรเลียที่กำลังมีปัญหาฟ้องร้องกับรัฐบาลไทยในขณะนี้

 

และถึงแม้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จะจดทะเบียนเมื่อปี 2536 ต่างจากสวนสักพัฒนาถึง 4 ปี แต่ข้อมูลของทางการก็ระบุว่า ทั้ง 2 บริษัทใช้ที่อยู่เดียวกันแบบไม่ผิดไปแม้แต่ตัวอักษรเดียว นั่นคือ เลขที่ 92/54-55 อาคารสาธรธานี 2 ชั้น 19 ถ.สาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ทั้งคู่ แถมทั้ง 2 บริษัทยังมีกรรมการบริษัทเป็นคนคนเดียวกัน คือ นายรอส โดนัลด์ สมิธ-เคิร์ก นายปีเตอร์ วิลเลี่ยม วอร์เรน นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยล์ นายสิโรจ ประเสริฐผล และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ เป็นกรรมการ...แบบถอดออกมาจากพิมพ์เดียวกันไม่ผิดเพี้ยน

 

นั่นเองเป็นเหตุให้...ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กล่าวหา นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม  วิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวกรวม 13 รายดังกล่าว โดยกระทำความผิดต่อหน้าที่ ตามนัยมาตรา 66 และ 88 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ฯลฯ เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ ในพื้นที่โดยมิชอบ 


ซึ่ง ป.ป.ช. ระบุว่า สำหรับนายจารุพงศ์ นั้น โดนกล่าวหาในฐานะเคยเป็นกรรมการบริษัท สวนสักพัฒนา อีกด้วย และแม้ปัจจุบันเขา จะไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทแล้วก็ตาม  แต่การไต่สวนยังต้องทำอยู่ เพราะในช่วงกลางปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่เหมืองทองส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม หลังเปิดดำเนินการมาร่วม 13 ปี (เหมืองเปิดปี 2544 ยุคทักษิณ 1) ชาวบ้านในพื้นที่ตัวเหมือง ได้เข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบบริษัทเอกชน ในพื้นที่ในข้อกล่าวหา ใช้ช่องทางและอำนาจโดยมิชอบ เข้าไปหาผลประโยชน์ โดยมีหน่วยงานของรัฐให้ความช่วยเหลือ โดยหนึ่งในนั้นมี ชื่อบริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด รวมอยู่ด้วย และถึงแม้ ป.ป.ช. จะยังไม่สรุปเรื่องนี้ออกมาชัด ๆ เพราะยังอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม...แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นการทุจริตส่อว่าจะฉ้อโกงแต่แรกดังที่อธิบายมาตั้งแต่ต้นนั้น...น่าจะเป็นหนึ่งในข้อต่อสู้...ของรัฐบาล คสช. ต่อข้อเรียกร้องค่าโง่เหมืองทอง...ที่กลุ่มบริษัท คิงส์เกต...ได้ยื่นขอแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ


ทั้งนี้ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า มีชื่อคนใน "ตระกูลเรืองสุวรรณ" ซึ่งก็คือ “พล.ท.ดร.จารุมาศ เรืองสุวรรณ” มีชื่อเป็น “ที่ปรึกษาฝ่ายงานรัฐกิจสัมพันธ์” ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เสียเองอีกด้วย โดย พล.ท.จารุมาศ ลาออกจากกระทรวงกลาโหมในตำแหน่ง นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อ ต.ค.2552
       
       
นอกจากนี้เขายังมีชื่อเป็นกรรมการบริษัทในเครืออัคราไมนิ่ง เช่น บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด บริษัท ฟ้าแลบ จำกัด บริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด และ บริษัท ฟ้าใหม่ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด ซึ่งทั้งหมดทำธุรกิจเหมืองแร่ ฯลฯ และอยู่ในข่ายถูกร้องเรียน กรณีผลประโยชน์ทับซ้อนเกือบจะทั้งสิ้น  เพราะ พล.ท.ดร.จารุมาศ นั้น เคยถูก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งให้อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีความเหมาะสมเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพิ่มเติมประจำปี 2555 เพิ่มเติมในลำดับที่ 9  เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ บางกระแสข่าวบอกด้วยซ้ำว่า พล.ท.ดร.จารุมาศ ยังเป็น “ที่ปรึกษาพิเศษพรรคเพี่อไทย” ช่วงปี 2552 ด้วยซ้ำ


เหตุนี้เอง...เรื่องค่าโง่เหมืองทอง...จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายตรงข้าม คสช. จะหยิบมาตี...ก็ตีได้ เพราะตนเองก็มีชนักปักหลังดอกใหญ่เช่นกัน แม้บางกระแสจะบอกว่า เรื่องนี้รัฐบาลไทย ยังไงก็น่าจะเสียเปรียบ เพราะการที่ “บิ๊กตู่” ใช้ มาตรา 44 ปิดเหมืองนั้น เข้าข่ายขัดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เพราะมาตรา 44 ไม่ครอบคลุมกรณีนี้  และไปสู้กันในระดับสากลก็ยากจะชนะ...(ย้ำนั่นเป็นแค่ความเห็นของฝ่ายถือหางรัฐบาลยิ่งลักษณ์) 


แต่ผู้สันทัดการเมือง และจับตาประเด็นเหมืองทองมานานก็ระบุว่า ข้อกล่าวหา “คิงส์เกต” ติดสินบนฝ่ายการเมือง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ ป.ป.ช. ไต่สวนอยู่นั้นก็ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะหากการไต่สวนพบความผิดชัด (ย้ำอีกที ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวน) และรัฐบาลไทยเอาไปแย้งว่า กระบวนการอนุญาตให้สำรวจเหมืองของ “คิงส์เกต”ผิดมาตั้งแต่ต้น เพราะเกิดการทุจริตจริง นั่นเท่ากับว่า "สัญญาอาจเป็นโมฆะ" ทันที...ตามที่นักวิเคราะห์กล่าวไว้


ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตัวเหมือง และชุมชนใกล้เคียง ทั้งน้ำ เสียง ฝุ่นละออง ฯลฯ ที่ชาวบ้านประสบจริง...นั่นเอง...จึงเป็นเหตุให้ เรื่องค่าโง่เหมืองทองนี้ เป็นเรื่องยาวที่ "ฝ่ายที่อ้างว่าประชาธิปไตย" เองก็ผวา เพราะปมเงื่อนทุจริตนั้นมันโยงใยทับซ้อนพวกเขาจนแกะไม่ออก...และหากไม่ศึกษาจริง ๆ ก็แทบจะไม่มีทางที่...จนชาวบ้านตาดำ ๆ จะเห็นความฉ้อฉลของพวกเขาได้เลย