เฟ้นหาสุดยอดแห่ง ‘The best of IoT’ 6 สถาบัน ประชันอัจฉริยะแห่งอนาคต 18-19 พ.ย. นี้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th

มหาวิทยาลัยชื่อดังทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมร่วมโชว์ศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีงานมหกรรม IoT ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ กสทช. ร่วมกับ “ฐานเศรษฐกิจ” นำเสนอนวัตกรรมแห่งอนาคต ... “มหิดล” ยกทัพสมาร์ทเฮลธ์แคร์ ขณะที่ “พระจอมเกล้า” ส่งสมาร์ทคาร์, สมาร์ทโฮม และสมาร์ทซิตี้ เมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต

เฟ้นหาสุดยอดแห่ง ‘The best of IoT’ 6 สถาบัน ประชันอัจฉริยะแห่งอนาคต 18-19 พ.ย. นี้


งานมหกรรม Internet of Things 2017 ที่จัดขึ้นโดย “หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ” และสื่อในเครือสปริงนิวส์ กรุ๊ป ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานแสดงเทคโนโลยี IoT ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2560 ณ คอนเวนชันฮอลล์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ขณะนี้งานดังกล่าวในส่วนของการแข่งขันนวัตกรรม IoT ได้รับการตอบรับจากหลากหลายสถาบันการศึกษามากกว่า 15 สถาบัน ในการส่งเข้าแข่งขัน ต่างไม่มีใครยอมใคร เพื่อพิสูจน์ว่า “ใคร คือ The best of IoT”

ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 14 พ.ย. 2560 คณะกรรมการที่มากประสบการณ์และเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี IoT ได้ทำการตัดสินคัดเลือกให้เหลือ 6 ทีมสุดท้าย เพื่อไปต่อในรอบชิงชนะเลิศในวันงานจริง (ตามวันดังกล่าว) ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์

ทีมแรกที่เข้ารอบ ‘Smart Bee keeping’ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่งอุปกรณ์ IoT ไปติดเสริมเข้าภายในกล่องเลี้ยงผึ้ง เพื่อนำมาประมวลผล และวิเคราะห์หาสัญญาณผิดปกติภายในกล่องเลี้ยงผึ้ง เพื่อควบคุมผลผลิตปริมาณน้ำผึ้ง

ทีมที่สอง ‘ตาเทพ (image processing)’ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ส่งนวัตกรรมท้าชิงด้วยกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ (ใช้ Raspberry pi เป็นตัว ipCamera) ที่สามารถรู้ถึงระดับน้ำ (เทคนิคหาขอบน้ำ canny edge) ไฟไหม้ และจับการเคลื่อนไหว (Motion detection) กล้องวงจรปิดที่ว่านี้ มีความฉลาดขึ้นจากซอฟต์แวร์ เพิ่มเซ็นเซอร์เฉพาะด้าน ทำงานบน Node MCU8266 ผ่านตัวกลาง Netpie เซ็นเซอร์ตรวจสอบระดับน้ำจากอัตราโซนิก เซ็นเซอร์ตรวจสอบควันไฟ และมีการแจ้งผ่านหน้าเว็บไซต์แบบเรียลไทม์
 

ตามมาด้วย ทีมที่สาม ‘Smart Door Save Life’ ประตูอัจฉริยะ ติดตั้งระบบช่วยเหลือการหนีและชะลอไฟ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยส่งนวัตกรรมพลิกโฉมอุปกรณ์บรรเทาภัยพิบัติในอาคาร ซึ่งภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมารวดเร็วโดยไม่ทันตั้งตัว ประตูที่ว่านั้น เป็นปัจจัยที่สามารถช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ ล้มตาย ของผู้ที่พักในอาคารสำนักงาน นอกจากการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังรวมไปถึงความพร้อมและสมรรถนะอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินที่เพียงพอ แล้วสะดวกในการหยิบฉวย โดยจากการได้สำรวจและสอบถามข้อมูลจากผู้ที่พักอาศัยในอาคารและสำนักงานสูง พบว่า มีความกังวลว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา จะมีอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินเพียงพอหรือไม่ และหากต้องติดอยู่ในอาคารแล้ว ทีมกู้ภัยจะสามารถทราบตำแหน่งได้หรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีระบบที่จะระบุตำแหน่งของผู้รอดชีวิตในอาคาร เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนทีมที่สี่ เป็น ‘ทีมแพลนโทเปีย’ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่นำเสนอนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้การปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การปลูกพืชแนวทางใหม่ โดยใช้เกมบนสมาร์ทโฟนมาเป็นสื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ควบคุมสภาพแวดล้อมและมีปฏิสัมพันธ์กับต้นพืชจริง โดยสื่อการเรียนรู้นี้จะมีลักษณะคล้าย ‘เกมเลี้ยงสัตว์’ โดยเริ่มจากผู้เรียนค่อย ๆ ดูแลเมล็ดพันธุ์ มีปุ่มให้ควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ในการปลูกพืช เช่น ปุ่มให้น้ำ ให้สารอาหาร ปรับแสง เป็นต้น

ทีมที่ห้า เป็น ทีมจากสถาบัน RoboMind Learning Center, เชียงใหม่ ที่นำเสนอนวัตกรรม : Grow Bot เครื่องเพาะต้นกล้าอัตโนมัติ (Grow Bot) โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ระบบ IoT คือ อินเตอร์เน็ตสามารถเก็บสะสมค่าข้อมูล รวมถึงกระบวนการทำงาน เช่น ควบคุมเปิด-ปิดน้ำ แจ้งเตือนน้ำหมด เป็นต้น และสามารถแสดงค่าผ่านมอนิเตอร์บนสมาร์ทโฟน โดยใช้การส่งข้อมูลไปที่ PointzNet IoT Platform

สุดท้าย เป็นทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ส่งนวัตกรรมควบคุมอุปกรณ์ผ่านสายไฟ ด้วย IoT (Alternative Data Line Management) ร่วมชิงชัย โดยเป็นระบบที่นำหลักการของระบบการส่งข้อมูลด้วยสายไฟ (Power Line Communication) มาพัฒนาเพื่อใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถส่งข้อมูลได้ มีความเสถียรภาพ และระยะส่งข้อมูลได้ไกลกว่า Wi-Fi เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทางอุปกรณ์เท่ากัน ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายเสริมจากการสร้างระบบสื่อสารของอุปกรณ์ได้อีกด้วย