ใกล้เต็มที..สางคดีเก่าทักษิณ!! เปิดทุกปมกม.สอบผิดนายใหญ่เผ่นตัวรอด! “ป๋าเปลว” สำทับก่อแรงแค้น เลิกคิดฟื้นชีพ งานนี้“ชัยเกษม” หมดสิทธิ์...!?

ติดตามรายละเอียด : FB. Deeps News

ถือประเด็นร้อนที่ต้องเฝ้าจับอย่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อพล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ออกมายืนยันสำทับอีกระลอกว่า การดำเนินการตามมติให้สำนักคดียื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใน 3 คดี ที่จำหน่ายออกจากสารบบกลับมาพิจารณาใหม่ ทั้งกับคดีหวยบนดิน ,  คดีธนาคารเพื่อการนำเข้าและการส่งออก (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยกู้ให้รัฐบาลเมียนมาวงเงิน 4 พันล้านบาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร   และคดีรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง กทม.  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชน  มีความคืบหน้าเป็นลำดับและคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

 

ประเด็นสำคัญที่ตั้งเป็นหลักไว้ก่อนเกิดกรณีมีการนำไปวิพากษ์วิจารณ์บิดเบือน  ก็คือกรณีนี้เป็นเหตุเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ระงับคดีเอาไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลย หรือ  นายทักษิณ  หลบหนี !!! หรือความหมายโดยนัยของ  พล.ต.อ.วัชพล  ประธานปปช. เป็นไปตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560  ใน  2 มาตราสำคัญ คือ

 

มาตรา  68  ระบุว่า ในระหว่างที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตยังมิได้กําหนดหลักเกณฑ์การดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติว่ากรณีมีมูลที่จะดําเนินคดีตามมาตรา 10 (1) หรือ (3) และยังมิได้กําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 23 ให้นําบทบัญญัติมาตรา 10  มาตรา 11และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาใช้บังคับกับการดําเนินการดังกล่าวโดยอนุโลมจนกว่าจะมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตใช้บังคับ

 

มาตรา 69 บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดําเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดําเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดําเนินการต่อไปให้ดําเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

 

อันเป็นกรณีเชื่อมโยงกับมุมมองทางกฎหมายของ  นายเข็มชัย ชุติวงษ์ อัยการสูงสุด ซึ่งเห็นว่า  คดีที่ผ่านๆ มาต่อนายทักษิณ  เป็นการยื่นฟ้องคดีในกฎหมายเก่าปี พ.ศ.2542  (พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542)  โดยแต่เดิมไม่สามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีลับหลังโดยที่ไม่มีตัวจำเลยได้ แต่สำหรับกฎหมายใหม่ที่เพิ่งออกมา ตามมาตรา 28 ให้ศาลฎีกาฯสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย หรือ พิจารณาคดีลับหลัง

 

(มาตรา 28 ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสําเนาฟ้องให้จําเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จําเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจําเลยและให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจําเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกําหนด

 

ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจําเลยและได้มีการดําเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจําเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอํานาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทําต่อหน้าจําเลยแต่ไม่ตัดสิทธิจําเลยที่จะตั้งทนายความมาดําเนินการแทนตนได้  บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการตัดสิทธิจําเลยที่จะมาศาลเพื่อต่อสู้คดีในเวลาใดก่อนที่ศาลจะมีคําพิพากษา แต่การมาศาลดังกล่าวไม่มีผลให้การไต่สวนและการดําเนินกระบวนพิจารณาที่ได้ทําไปแล้วต้องเสียไป)

 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ  นายเข็มชัย  ในฐานะอัยการสูงสุด  เห็นว่า แม้บทเฉพาะกาล มาตรา 69   จะระบุว่า การดำเนินการใดที่เกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายเก่าแล้วนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้พิจารณาต่อไปตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้ แต่ความเห็นส่วนตัวจึงห็นว่าคดีดังกล่าวที่เกี่ยวเนื่องกันนายทักษิณ  สามารถรื้อฟื้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้หากเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอ

 

ต้องย้ำมุมมองทางกฎหมาย 2 ประเด็นสำคัญ คือ  1.กฎหมายใหม่ระบกรอบอำนาจให้ศาลฎีกาฯสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยที่หนีคดีได้  2. คดีค้างเก่าของนายทักษิณยังไม่ถือว่าสิ้นสุดกระบวนความ หากแต่เป็นการจำหน่ายคดีในระหว่างจำเลยหลบหนีคดี และให้ออกหมายจับตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย  

 

ส่วนคดีที่เกี่ยวกับนายทักษิณเฉพาะในส่วนอำนาจหน้าที่ของปปช. เบื้องต้นมี 2 คดีสำคัญ คือ  1.กรณีการล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงค์ให้รัฐบาลเมียนมาร์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปฯ   และ  2.กรณีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว หรือคดีหวยบนดิน     ส่วนกรณียื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ต่อ ป.ป.ช. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้จำหน่ายคดีชั่วคราวเนื่องจากนายทักษิณหลบหนีคดี   ปัจจุบันคดีดังกล่าวได้ขาดอายุความลงแล้ว ป.ป.ช. จึงไม่สามารถรื้อคดีขึ้นมาได้อีก

 

ด้วยที่มาที่ไปที่ต้องเน้นย้ำว่าเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องแน่นอน  ก็เพราะจะชี้ชะตากรรมนายทักษิณในเรื่องโอกาสกลับประเทศไทยได้มัดแน่นยิ่งขึ้น    ซึ่งแต่ละคดีก็มีรายละเอียดที่มาที่จะต้องแสดงรายละเอียดอย่างครบถ้วน เพื่อความถูกต้องของข้อมูลและความเข้าใจของผู้ติดตาม 

 

เริ่มต้นจากคดีปล่อยกู้พม่าเอื้อประโยชน์ธุรกิจกลุ่มชินวัตร  ที่ถูกประเมินว่ามีชนวนผูกมัดเรื่องผลประโยชน์กับเครือธุรกิจของนายทักษิณอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับคำฟ้องในสำนวนคดี  ปรากฏถ้อยคำว่าที่เขียนโดยปปช.ว่า  “ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิด เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นด้วยกิจการนั้น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 กรณีที่จำเลยอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้แก่รัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัทชิน แซทเทลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร”

 

ส่วนเงื่อนไขที่จะสามารถนำคดีดังกล่าวมารื้อฟื้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาลับหลังได้หรือไม่ตามความเห็นของ  ปปช.  ในส่วนของคดีไม่สิ้นสุด อยู่ในกระบวนการต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น...และเข้าข่ายต้องดำเนินการตามกฎหมายใหม่  คือ  คำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯก่อนหน้านี้ซึ่งระบุว่า   “ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า  จำเลยได้รับหมายเรียก  ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง  พฤติการณ์เชื่อว่ามีเจตนาจะหลบหนี   จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว  และให้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อพิจารณาคดีต่อไป   โดยเมื่อได้ตัวจำเลยมาจึงจะนำคดีขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง” 

 

เหตุกรณีข้างต้นนี้  “เปลว  สีเงิน”  เขียนแสดงความเห็นไว้ในคอลัมน์  “คนปลายซอย”  หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์   ความตอนหนึ่งว่า  “พูดได้คำเดียว.........!  "สนุก"  คือสนุกในบรรยากาศ "3 ประสาน" ทางการบ้าน-การเมืองช่วงนี้ สนุกแรก "ครม.ใหม่"  นายกฯ ประยุทธ์กำลังเบ่งอึ๊ดๆ แพลมดุ๊กดิ๊กคาก้น สนุกสอง "เกมใหม่"  สถุลแดนไกล "สู้ก็ตาย-ไม่สู้ก็ตาย" ตัดสินใจปล่อยโซ่ให้สมุนแยกกันไล่งับโคนขาประยุทธ์ เร่งเกมเลือกตั้ง

 

สนุกสาม "รื้อคดีใหม่"  ป.ป.ช.มีมติให้ "สำนักคดี" ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้นำคดีที่ "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นจำเลย แต่ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว เนื่องจาก "จำเลยหลบหนี" ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ๒ คดี 2 คดีนั้น คือ คดีหวยบนดินและคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลพม่า วงเงิน ๔ พันล้านบาท!นอกจากนั้น ยังมีอีก 1 คดีที่ ป.ป.ช.มีมติให้รื้อฟื้นด้วย คือ คดีรถ-เรือดับเพลิง กทม.

 

โดย “เปลว สีเงิน”  มองกรณีนี้ว่าน่าจะเป็นประเด็นร้อนกว่า 2 กรณีแรก  เพราะจะก่อเกิดซึ่งแรงแค้นทำให้ต้องดิ้นสู้อีกยก ด้วยกฎหมายใหม่ ให้พิจารณาลับหลังได้  นั่นเท่ากับเอาศพลงหลุมแล้วกลบฝัง ที่หวังอำนาจคืนแล้วฟื้นได้...ไม่มี  มีแต่ หนีแล้ว ก็ต้องหนีไปตาย "ในแผ่นดินอื่น"! ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจาก "พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560"

 

มาตรา ๒๗ บอกว่า.........."ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลและอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล"

 

และมาตรา 28 บอกว่า........"ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา ๒๗ และศาลได้ส่งหมายเรียกและสําเนาฟ้องให้จําเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จําเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจําเลยและให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจําเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกําหนด ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจําเลยและได้มีการดําเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจําเลยได้ภายในสามเดือน นับแต่ออกหมายจับให้ศาลมีอํานาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทําต่อหน้าจําเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจําเลยที่จะตั้งทนายความมาดําเนินการแทนตนได้"

 

ด้วยเงื่อนไขกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.และอัยการ ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ป.ป.ช.สำรวจแล้ว มี 2 คดี ที่ศาลจำหน่ายไว้ชั่วคราว เพราะจำเลยคือ "นายทักษิณ" หลบหนี ไม่ใช่รื้อด้วยพยาบาทคาดพยาเวรจากใคร หากแต่กฎหมายสั่งให้ต้องทำน่ะคดีหวยบนดิน.........

 

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินไปแล้วเมื่อ ก.ย.52 ยกเว้นในส่วนของนายทักษิณซึ่งหลบหนี ศาลจำหน่ายคดีไว้ก่อน คดีนี้ ผู้ต้องหาทั้งหมด 47 คน โดยนายทักษิณ ที่เป็นนายกฯ ตอนนั้น เป็นจำเลยที่ 1 ส่วน ครม.ชุดทักษิณ ที่อนุมัติเรื่องนี้ เป็นจำเลยที่ 2-30 คณะผู้บริหารสำนักงานสลากฯ เป็นจำเลยที่ 31-47 ฟ้องทั้งแพ่ง-อาญาในฐานความผิดดังนี้

-เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อหรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของคนอื่นโดยทุจริต (ยักยอก)

-เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

-เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น

-เป็นเจ้าพนักงานที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร เรียกเก็บโดยทุจริตหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร

-เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

ตามประมวลกฎหมายอาญา 147, 152, 153, 154, 157 ประกอบมาตรา 83, 84, 86, 90, 91 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4, 8, 9, 10 คตส.เป็นโจทก์ฟ้องเอง ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 47 คน ทั้งขอให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนหรือใช้ทรัพย์ และขอให้นับโทษทักษิณ จำเลยที่ 1 จากคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก ซึ่งศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปีด้วย
ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาจำเลย 46 คน ยกเว้นทักษิณ ที่หลบหนี สั่งจำหน่ายคดีไว้ 3 คน ถูกศาลพิพากษาลงโทษ คือ

-นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง จำเลยที่ 10 จำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท

-นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงคลัง และประธานบอร์ดกองสลากฯ จำเลยที่ 31 จำคุก 2 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท

-นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลากฯ จำเลยที่ 42 จำคุก 2 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท แต่โทษจำคุก ทั้ง 3 คน ศาลให้ "รอลงอาญา" ไว้กำหนด 2 ปี

 

นี่คร่าวๆ เรื่องหวยบนดิน ........... คนอื่นตัดสินไปหมดแล้ว เหลือแต่ทักษิณ ที่ ป.ป.ช.จะร้องให้ศาลนำขึ้นมาพิจารณาต่อ ส่วนคดีเอ็กซิมแบงก์ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องทักษิณ เป็นจำเลย เมื่อ 16 ก.ย.2551 ในความผิดฐานใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิด เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแล เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นด้วยกิจการนั้น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157
กรณีอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4พันล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจดาวเทียม ให้สั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร

 

จำเลยคือ "นายทักษิณ" ไม่มาศาล! ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าพฤติการณ์มีเจตนาหลบหนี ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว และให้ออกหมายจับมาเพื่อพิจารณาคดี เมื่อได้ตัวจำเลยมา จึงจะนำคดีขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง
เนี่ย...ก็เท้าความพอให้ปะติด-ปะต่อเรื่องราวกันได้ แต่มีข้อสังเกต เป็นประเด็นน่าสนใจอยู่นิด คดีทั้ง 2 อยู่ในช่วงที่......... "นายชัยเกษม นิติสิริ"เป็นอัยการสูงสุด ระหว่างปี 2550-2552 และทั้ง 2 คดีนี้ อัยการไม่ได้เป็นผู้นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลเอง!

 

คือ "คดีหวยบนดิน" คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) เป็นโจทก์ฟ้องเอง ส่วน "คดีเอ็กซิมแบงก์" ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องเอง! ค้นข่าวเก่าๆ อ่านจะพบ......... คดีหวยบนดิน คตส.ตั้งอนุกรรมการ "นายอุดม เฟื่องฟุ้ง" อดีตผู้พิพากษาอาวุโส ในศาลอาญา กรุงเทพใต้ เป็นประธานไต่สวนกลางปี 50 ไต่สวนเสร็จ 21 ธ.ค.50 สำนวนและความเห็นส่งมอบอัยการสูงสุด เพื่อส่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาฯ

 

นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ตั้งคณะทำงานพิจารณาคดีนี้ นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด เป็นประธาน 14 ม.ค.51 นายวัยวุฒิ ส่งผลสรุปให้อัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสั่งคดี 18 ม.ค. นายชัยเกษม บอกว่า .......
คณะทำงานอัยการพิจารณาคดีหวยบนดิน ได้เสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่างอัยการกับ คตส. เพื่อให้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มใน 4-5 ประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์ 4 ก.พ.51 คตส.มีมติขอสำนวนคืนจากอัยการสูงสุด เพราะอัยการสูงสุดเห็นไม่ตรงกับ คตส.ก็เท่ากับอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องคดีนี้

 

ดังนั้น คตส.จะฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เอง ด้วยเชื่อมั่นในสำนวนหลักฐานที่สมบูรณ์! 10 มี.ค.51 คณะทนายจากสภาทนายความ 12 คนที่รับมอบหมายจาก คตส.นำสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เอาผิดทักษิณพร้อม ครม.ที่มีมติให้ดำเนินโครงการออกหวยบนดิน รวมทั้งผู้บริหารสำนักงานสลากฯ รวม 47 คน 28 ก.ค.51 ศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดี 30 ก.ย.52 ศาลฎีกาฯ ตัดสิน จำคุก 3 จำเลย ทักษิณหนี จำหน่ายคดีชั่วคราวนั่นแหละ จากคดีนี้........ทำให้เข้าใจการทำหน้าที่ "ทนายแผ่นดิน" ของอัยการ ยุคที่ "นายชัยเกษม" เป็นอัยการสูงสุด ได้กระจ่างแจ้งที่สุด และเป็นคำตอบได้ดีที่สุด ว่าทำไมนายชัยเกษม จึงมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเป็นแกนบริหารการเมืองใต้ระบอบทักษิณในขณะนี้
ทำให้คำที่ทักษิณเคยพูดกับผม ดังก้องขึ้นมา........ "พี่ กกต.ก็ของผม ตำรวจก็ของผม อัยการก็ของผม แต่ที่.......ยังครึ่ง-ครึ่ง"!.