ปี 61 เศรษฐกิจไทยดีต่อเนื่อง "สศช." ปรับจีดีพีเพิ่ม 3.6-4.6 % ชี้มาตรการดูแลเกษตรกร-ผู้มีรายได้น้อย ปัจจัยหนุน

ปี 61 เศรษฐกิจไทยดีต่อเนื่อง "สศช." ปรับจีดีพีเพิ่ม 3.6-4.6 % ชี้มาตรการดูแลเกษตรกร-ผู้มีรายได้น้อย ปัจจัยหนุน

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า สศช.คาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 61 จะอยู่ที่ 3.6-4.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3.9% เพิ่มขึ้นจากค่ากลางเดิมที่ 3.7% แต่ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ในกรอบที่ 3.5-4% สำหรับปี 2560 คาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.6% จากเดิมคาดขยายตัวได้ 5.7% ขณะที่การนำเข้าปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 13% จากเดิมคาดขยายตัว 10.7% และคาดว่าจะขยายได้ 7% ในปี 2561 ด้านดุลการค้าปี 2561 คาดว่าจะเกินดุล 29.4 พันล้านดอลลาร์ จากปีนี้คาดว่าจะเกินดุล 31.9 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดเกินดุล 28.9 พันล้านดอลลาร์  
 

 

 

“เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะมีแรงส่งจากการขยายตัวดีของเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน สาขาเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีก่อน และการปรับตัวดีของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5% ลดลงจากปีนี้ เนื่องจากฐานค่อนข้างสูง”นายปรเมธี กล่าว  
 
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2561 คาดว่าจะเกินดุล 38.1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะเกินดุล 46.5 พันล้านดอลลาร์ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.9-1.9% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7% ขณะที่การลงทุนเอกชน คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 2.2% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% ในปีหน้า ด้านการลงทุนภาครัฐคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 1.8% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาด 8% และปีหน้าคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 11.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.7% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.2% 
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องถึงปีหน้า ควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการขยายตัวการผลิตนอกภาคเกษตร โดยดูแลการส่งออกให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพและต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนทั้งในด้านการดำเนินการตามโครงการลงทุน การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนในความต่อเนื่องของนโยบายและมาตรการที่สำคัญในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง การสนับสนุนการท่องเที่ยว 
 
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาการขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง  การขับเคลื่อนโครงกาพรัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การดำเนินการตามมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผ็ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น  
 
ทั้งนี้ ในปี 2561 สศช.คาดค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในช่วง 34-35 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากปีนี้ที่คาด 34 บาทต่อดอลลาร์ ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัญ และการส่งสัญญาณการปรับทิศทางของนโยบาบยการเงินของประเทศสำคัญอื่นๆ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาเรล เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 52.5 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากการที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น การปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น   

 

นายปรเมธี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2560 ขยายตัว 4.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 3.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ขณะที่การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 61,633 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือขยายตัว 12.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7.9% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 51,490 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าสินค้าที่ 3.8% และปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ 8.8% โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกกับการขยายตัวของการส่งออก การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศ  
 
สำหรับมาตรการชอปช่วยชาติจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 4% หรือไม่นั้น มองว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และคาดว่าจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคมากกว่า

 

โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวไม่ใช่มาตรการที่ออกมาเพื่อมุ่งหวังให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 4% ด้านมาตรการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักย์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า จะต้องทำให้คนจนหมดประเทศนั้น มองว่า เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และเป็นเป้าหมายที่มีไว้พุ่งชน ดังนั้นจะต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ผูเมีรายได้น้อยมีอาชีพ ให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้มีรายได้ต่ำให้พ้นจากเส้นความยากจน  
 

 

ขณะที่สถานการณ์ด้านดอกเบี้ยนั้น มองว่า แม้ว่าประเทศอื่นจะส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ประเทศไทยนั้นมองว่า ยังไม่มีความจำเป็นดังกล่าว ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ ภาวะของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยนโยบายการเงินจะต้องดูแลด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย ขณะที่ไตรมาส 4 มองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้สูงต่อเนื่อง จากการเร่งลงทุนโดยเฉพาะจากภาครัฐ ที่เตรียมความพร้อมในการลงทุนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561