เฮทั้งประเทศ! ธ.ออมสินจ่อปล่อยคนละ 5 หมื่นบาท เอาไปตั้งตัวทำธุรกิจ

ติดตามรายละเอียด FB : DEEPS NEWS

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารออมสินเตรียมเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพ สร้างรายได้พิเศษ รวมถึงการจัดหาอาชีพในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจสตรีทฟู๊ด เพื่อเป็นการรอบรมผู้มีรายได้น้อยให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพและเป็นการสร้างรายได้ให้เพียงพอในการดำรงชีวิตต่อไป โดยเบื้องต้นกำหนดการปล่อยกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ส่วนวงเงินดำเนินการยังไม่ได้มีการกำหนดชัดเจน แต่ธนาคารมีสภาพคล่องเพียงพอในการรองรับการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารได้ร่วมกับ 16 สถาบันอุดมศึกษา ริเริ่มโครงการ "มหาวิทยาลัยประชาชน" ในการเข้าไปอบรมเพื่อสร้างโอกาส เพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านอาชีพ ในการเพิ่มรายได้ในการประกอบอาชีพ และความรอบรู้ในการดำรงชีวิต โดยเป้าหมายกลุ่มแรกในการเข้าไปฝึกอบรม คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 กับธนาคารออมสิน จำนวน 3 ล้านราย

นอกจากนี้ จะมีการประสานความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ในการคิดหลักสูตรต่าง ๆ เพื่ออบรมในการเพิ่มพูนทักษะในการประกอบอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในช่วงต้นปี 2561 โดยสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ จะจัดหาพื้นที่ในการฝึกอบรม และบุคลากรที่จะมาให้ความรู้ ขณะที่ธนาคารออมสินจะให้การรอบรับในด้านค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ ค่าอาหาร ค่าวิทยากร เป็นต้น

"การปล่อยกู้สำหรับผู้มีรายได้น้อยในระยะต่อไป ธนาคารจะมีการกำหนดในเงื่อนไขว่าผู้ที่จะกู้เงินในโครงการสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะต้องผ่านการฝึกอบรมอาชีพมาก่อน เพราะต้องยอมรับว่าการปล่อยกู้ผู้มีรายได้น้อยจะมีความเสี่ยงมากกว่าส่วนอื่น ดังนั้นการฝึกอบรมอาชีพจะเป็นการการันตีว่าผู้ขอกู้เงินจะมีอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น  โดยในปีแรกธนาคารตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถฝึกอบรมอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 2-3 หมื่นราย และคาดว่าในปี 2561 จะมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยประชาชนอีก 20 แห่ง" นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ธนาคารยังได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ใจการจัดทำโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2560-2561 โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของประชาชน หรือกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการให้มีศักยภาพ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มตอบสนองความต้องการของตลาด โดยการนำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 16 แห่ง เข้าไปเรียนรู้กับชาวบ้านเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงวัย รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มรับสวัสดิการรัฐ มีความสามารถในการประกอบอาชีพ และเข้าถึงการมีรายได้ มีอาชีพ นำไปสู่การเข้าถึงแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ