อธิบดี สถ. ยันกรมท้องถิ่นต้องโปร่งใส มีธรรมาภิบาล

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมสนับสนุน และให้คำปรึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่โดยยึดหลักคุณธรรม และหลักธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใส ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น มุ่งมั่นบริการให้คำปรึกษา และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง สร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งยังพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อมุ่งสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

อธิบดีกล่าวต่อไปว่า มีความมุ่งมันที่จะนำหน่วยงานให้บริหารงาน และปฏิบัติงามตามหลักธรรมาภิบาลแก้ไขปัญหาท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้าง ให้เกิดความถูกต้องในทุกขั้นตอน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติงาน โดยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในการดำเนินกิจกรรมในทุกรูปแบบ พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วยการบริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง เสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม ปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติ พร้อมทั้งเตรียมพัฒนาให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ ความเข้าใจ ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิต เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานในทุกขั้นตอนให้เกิดความโปร่งใส เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

และในปีงบประมาณ 2561 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการปฏิบัติราชการบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นการอบรมบุคลากรในสังกัดให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินชีวิต ซึ่งมีเป้าหมายผู้เข้าอบรม จำนวน 500 คน รวมถึงโครงการที่เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และต่อต้านการทุจริตตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึกที่ดีในการนำหลักคุณธรรมและจริยธรรมมาใช้ในการดำเนินงาน โดยกำหนดจัดอบรมในพื้นที่ 4 ภาคของประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 – 2564) ที่มีจุดมุ่งหมายในการยกระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ