“ฟังตู่บ้าง”  ประยุทธ์แจงยาวโรงไฟฟ้า  อัดอย่าเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาอ้าง  ต้องทำเพราะรับผิดชอบคนไทย 70 ล้านคน วอนชาวบ้านฟังข้อมูล 2 ทาง

“ฟังตู่บ้าง” ประยุทธ์แจงยาวโรงไฟฟ้า อัดอย่าเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาอ้าง ต้องทำเพราะรับผิดชอบคนไทย 70 ล้านคน วอนชาวบ้านฟังข้อมูล 2 ทางอย่าเอาแต่ดึงดั

วานนี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลานานพอสมควรในการชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา   โดยกล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึงเรื่องนี้ว่า  สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้ วันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นร้อน ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปดำเนินการให้ได้ข้อยุติปราศจากความขัดแย้ง  ขณะนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ ในช่วงที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีเดิมก็ไม่ได้ไปกำหนดว่าต้องสร้าง หรือไม่ต้องสร้าง อะไรทำนองนี้ เพราะอยู่ในขั้นตอนอยู่ทั้งหมด คราวนี้บางทีสื่อก็ไม่ทราบ ประชาชนก็ไม่รู้อีก หรือบางทีก็ไม่สนใจ ไปสนใจแต่เพียงว่าสร้าง หรือไม่สร้าง จริง ๆ มีขั้นตอนทั้งหมด ที่ผ่านมาขั้นตอนต่าง ๆ ก็ผ่านมาแล้ว แต่เมื่อทำไม่ได้

“ รัฐบาลผมก็ได้สั่งการให้มีการทบทวนว่า ถ้าทำได้ก็จะดีกว่าทำไม่ได้ แล้วถ้าทำได้ จะมีการขัดแยังกันหรือไม่ เพราะฉะนั้นประชาชนก็ต้องฟังบ้าง ไม่ใช่จะดึงดันกันไปทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลไม่อยากจะดึงดันอะไรกับใครทั้งสิ้น เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนในการก่อสร้าง พื้นที่ในการก่อสร้าง แล้วก็ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า หลายคนก็บอกว่าค่าไฟฟ้าแพง อยากให้ค่าไฟฟ้าลดลง ลดลงไม่ได้ถ้าการผลิตต่าง ๆ ไฟฟ้าจากพลังงานหลักนี่ มาจากส่วนกลาง หรือในภาคอื่น แล้วส่งลงไปพื้นที่ห่างไกล บวกต้นทุนในเรื่องของการทำสายส่งเข้าไปด้วย” นายกฯแจง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า  ต้นทุนอันที่หนึ่ง อันที่สองคือเทคนิคในการก่อสร้างโรงงาน ก็แพงขึ้นเครื่องไม้เครื่องมือก็แพงขึ้น อันที่สามคือสายส่ง ซึ่งเหล่านี้จะทำให้บวกเข้าไปในค่าต้นทุน คราวนี้สมมุติว่าไปสร้างในพื้นที่ห่างไกล ได้ก็จะลดในส่วนนี้ ไม่ต้องไปลากมาจากไกล ๆ ถ้ามีปัญหาอีก ก็ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความพลังงาน เกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ จะทำอย่างไร  สำหรับอีกเรื่องหนึ่งคือการไปซื้อมาจากต่างประเทศ ซึ่งวันนี้ก็ซื้อได้ แต่ถ้าวันหน้าเขาขายน้อยลง หรือเขาตั้งราคาขายสูงขึ้น แล้วเราจะทำยังไง จะมีคำตอบหรือไม่ว่า เราจะดูแลประชาชนเราได้อย่างไร ก็อยากให้คำนึงถึงทุกมิติเหล่านี้  เหล่านี้คือต้นทุนการไฟฟ้าทั้งสิ้น เทคโนโลยีใหม่ก็มีแล้วไม่ใช้ หรือใช้ไม่ได้ เหล่านี้เป็นปัญหาในอนาคต ต้องฝากทุกคนช่วยกันคิดด้วยแล้วกัน    เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องฟังเหตุฟังผลซึ่งกันและกัน  1 .ไม่อยากให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ทุกคนก็ต้องรักษากฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็รักษากฎหมาย ประชาชนก็ต้องเคารพกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องเป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน

“  คราวนี้ก็ขอร้องกันเถิดนะ การที่จะเคลื่อนไหวต่างๆ แล้วกดดัน แล้วบอกว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน คนละเรื่องกันหมด  เพราะฉะนั้นสื่อก็กรุณาอย่าสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ขยายความขัดแย้งต่อไปเลย......ฝากในพื้นที่ไปหาข้อมูลมาด้วย เพราะทุกคนก็คือคนไทยทั้งสิ้น จะพุทธ มุสลิม อะไรต่าง ๆ ก็คนไทยทั้งสิ้น ผมมองอย่างนี้ตลอด อย่าไปบิดเบือน กลายเป็นว่าผมผลักคนเหล่านี้ไปอยู่ทางโน้น อะไรทำนองนี้ ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น ที่ผ่านมาผมก็บอกมาตลอด ผมต้องทำให้คนทั้ง 70 ล้าน แต่คน 70 ล้าน นั้น ก็ต้องเคารพกฎหมาย เคารพกฎระเบียบบ้าง ไม่อย่างนั้นเดือดร้อน แล้วก็ร้องกันไปทุกที่  ก็มีคนมาใช้ประโยชน์อีก เอาไปบิดเบือน เอาไปเป็นปัญหาการเมือง” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ไม่ต้องการจะแก้ตัวกับใคร ใน social media ก็มี  รูปภาพก็มี แต่หลายคนก็เอามาบิดเบือน เรื่องโรงไฟฟ้าก็มีประเด็นหลายประเด็นที่เขาสงสัยกันอยู่   
(1) มีการย้ายวัดและโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนมูลนิธิอิตีซอมวิทยา  ก็มีการหารือในพื้นที่ไปแล้ว ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายไปพื้นที่แห่งใหม่ มันจะห่างจากที่ตั้งเดิมไม่เกิน 5 กิโลเมตร  อันนี้ผมก็ฟังมาจากอีกส่วนหนึ่งที่ว่า 5 พัน 5 หมื่นคน เขาก็พอใจ ผมไม่รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นตรงนี้   (2) การโยกย้ายประชาชน  วันนี้ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้นสักอย่างเลย เพราะยังไม่ได้ทำ   ถึงจะไปเริ่มต้น  ก็ต้องไปดูเรื่องการเยียวยา การดูแลที่อยู่อาศัย หรือค่าเยียวยาต่าง ๆ ให้เหมาะสม  (3) ที่เขาสงสัยเรื่องสิ่งปลูกสร้างในทะเลจะกีดขวางการไหลของน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งหรือไม่ วันนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันล่วงหน้าไปแล้วในพื้นที่  ส่วนที่เขาฟังเขาก็เข้าใจ ส่วนที่ไม่ฟังอะไรเลย เขาก็ไม่เข้าใจ  ได้มีการกำหนดมาตรการรองรับชัดเจน เช่น การทำเขื่อนป้องกัน จึงไม่มีผลกระทบต่อการสัญจรทางเรือ อาชีพประมง และการกัดเซาะชายฝั่ง   การก่อสร้างมันก็มีผลกระทบอยู่บ้างในช่วงแรก พอสร้างเสร็จแล้ว ปลา สัตว์น้ำ มันก็กลับเข้ามาอยู่ใหม่เหมือนเดิม   (4) การใช้ถ่านหินคุณภาพดี ประเภท “บิทูบินัส” และ “ซับบิทูบินัส” เราจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเรือบรรทุกแบบปิดที่เรียกว่า  “ระบบปิด” คลุมทุกอย่าง  ไม่มีการใช้ถ่านหินจากแหล่งในประเทศ ที่มีการกล่าวอ้างกัน บอกว่ามีถ่านหิน “ลิกไนต์” อยู่ในประเทศ  รัฐบาลต้องการตรงนี้เพื่อจะไปขุดถ่านหินลิกไนต์ เอามาใช้เอื้อประโยชน์กับนายทุนอีก  คนละเรื่อง (5) การใช้น้ำทะเลเป็นน้ำหล่อเย็น มีระบบกำจัดการสะสมของโลหะหนัก ที่ทุกคนเป็นห่วง  มีการควบคุมการปรับคุณภาพน้ำ ก่อนที่จะระบายสู่ทะเลธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

“   ในเรื่องของการใช้ถ่านหินลิกไนต์ เราก็ต้องใช้ที่มีคุณภาพสูง สร้างมลภาวะน้อย มีเครื่องมือขจัดมลพิษต่าง ๆ เหล่านี้  ก็ลองดูสมัยก่อนมีปัญหาอยู่ที่แม่เมาะใช่หรือไม่   วันนี้เขาก็เปลี่ยนเครื่องจักรเครื่องมือ แล้วผมไม่เห็นมีปัญหาอะไร คนก็อยู่ได้ ปลา สัตว์ ต้นไม้ต่าง ๆ ก็อยู่ได้เป็นปกติ เพราะฉะนั้นต้องดูตรงนี้ด้วย เทคโนโลยีต่าง ๆ ก้าวไกลไปแล้วก็ฝากกราบเรียนพี่น้องต่าง ๆ ให้เข้าใจด้วย ไปดูอีกที” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในตอนท้ายว่า   เราต้องพัฒนาไปสู่การมีแหล่งพลังงานที่เหมาะสม เพียงพอเพื่ออนาคต เพราะเราจะลงทุนต่าง ๆ มากมาย ถ้าไฟฟ้าไม่พอ ไม่มั่นคง ติด ๆดับ ๆ หรือไฟฟ้าตก  อันนั้นอันตรายหรือไม่มีการส่งพลังงาน ท่อแก๊สมาจากต่างประเทศ  ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีขายไฟฟ้าต่อไป เพราะว่าเขาเอาไว้ใช้ในประเทศของเขา เราจะทำอย่างไร คิดอนาคตไว้ด้วย

“  วันนี้ก็อยากจะกราบเรียนว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินห่างจากเราไม่ถึง 10 กม.  อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านเรา เขาสร้างโรงงานลิกไนท์อยู่ ขนาดใหญ่ด้วย แล้วทำไม เขาเดือดร้อนเหรอ ไม่เหมือนเราหรือ เทคโนโลยีใช้ไม่ได้หรือไง ต้องตามไปดู ก็ขอให้ชัดเจนในเรื่องของการลงนาม การทำสัญญา  TOR ต่างๆ จะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบ ให้ดูแลประชาชนในพื้นที่ทั้งรอบพื้นที่ของโรงงาน ทำอย่างไรจะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดผลกระทบ ให้มีการขยับขยายน้อยที่สุด  เพราะฉะนั้น เราอย่าไปให้ความสำคัญกับการทำ EIA อย่างเดียว ในขั้นตอน ในพื้นที่ตรงอื่นท่านไม่สร้างความเข้าใจเลย ประชาชนก็ไม่ทราบที่มาที่ไป ความคืบหน้า มีการพัฒนามาอย่างไร อยู่ในขั้นตอนไหนไม่รู้เลย พอประท้วงกันไป รัฐบาลก็ถูกมองว่าไม่ไว้วางใจอยู่เสมอ ผมไม่ทราบว่าจะทำไปทำไมสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ เอาสาระไปเสนอด้วย”  นายกฯทิ้งท้าย 
/////////////////