"ปชป." โวยคำสั่ง คสช. 53/2560 ไม่ต่าง"เซ็ตซีโร่พรรคฯ" หวั่นสร้างความยุ่งยากให้ ปชช. ด้าน"เสี่ยตือ" มองแค่ขยายเวลา-จี้ต้องปลดล็อก 

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

ดูเหมือน คำสั่ง คสช. 53/2560 กรณีกำหนดขยายเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมตามกรอบเวลา ใน พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในเรื่องสมาชิก พ.ศ.2560 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา เมื่อเย็นวานนี้ (22 ธ.ค.) นั้น จะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะฟากฝั่งพรรคสีฟ้า-ประชาธิปัตย์ ทั้งอดีต ส.ส. และฝ่ายกฎหมายของพรรคต่างมองว่า เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับการ "เซ็ตซีโร่พรรคฯ" และจะสร้างความยุ่งยากให้ประชาชน ในการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองใหม่ ขณะที่ทางด้านนายนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน...นั่นคือมองว่า เป็นการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองนั่นเอง  

 

ขณะที่ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ได้มองไปถึงขั้นนั้น เพราะยังมองว่า เรื่องนี้เป็นแค่การขยายเวลาให้พรรคการเมือง ดำเนินกิจกรรมตามกรอบเวลา พร้อมเรียกร้องว่า คสช. ต้องเร่งปลดล็อกทางการเมือง ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ในทันที
 

โดยรายละเอียดทั้งหมดที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนี้ก็คือ คำสั่งดังกล่าวเป็นเหมือนการเซตซีโร่พรรคการเมือง และ คสช. กำลังสร้างความยุ่งยากให้ประชาชนในการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองใหม่ 

ทั้งนี้ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุชัดแล้วว่า หากมีคนเป็นสมาชิกพรรคเกิน 2 พรรค ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ส่งเรื่องให้หัวหน้าพรรคยกเลิกได้ อีกทั้งหัวใจของการปฏิรูปพรรคการทำไพรมารี่โหวต โดยให้สมาชิกพรรคเลือกผู้ที่จะต้องสมัครเป็นตัวแทนพรรค ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจะกระเทือนถึงไพรมารี่โหวตโดยตรง

ขณะที่ทาง นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ไว้ว่า ประกาศดังกล่าว ผู้มีอำนาจจะดำเนินการอย่างไรก็ย่อมคิดได้ทำได้ พรรคฯ พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญที่ผู้มีอำนาจควรคิดให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงบ้าง และต้องมีความตรงไปตรงมา จริงใจในการดำเนินการ เริ่มต้นเขียนอารัมภบทมาในประกาศเหมือนเข้าใจคำว่าพรรคการเมือง เข้าใจประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ท้ายที่สุดกลับให้คนที่เคยเป็นสมาชิกพรรค ต้องกลับมายืนยันตัวตนใหม่ ยื่นหลักฐานใหม่ เสียค่าบำรุงสมาชิกใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่ 1 เมษายน 2561 ในทางปฏิบัติ ภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค ความหมายนี้ไม่ต่างอะไรกับการให้มาสมัครใหม่ ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากมาก และเหมือนเป็นการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองนั้นเอง  

 

"ประชาชนที่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมายาวนาน และเป็นโดยชอบด้วยกฎหมาย วันนี้ผู้มีอำนาจกำหนดระยะเวลาที่เร่งรัดแล้วตัดสิทธิ หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลา ผู้มีอำนาจบอกว่าให้สมาชิกผูกพันกับพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชน แต่คำสั่งที่ออกมานี้กลับตรงกันข้าม ไม่อายบ้างหรือที่เขียนคำสั่งออกมากันแบบนี้ ปากพูดเหมือนดีแต่นี้คือปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ" นายราเมศกล่าว 

 

พร้อมกับยกตัวอย่างว่า อยู่มาวันหนึ่งคนที่รับราชการเป็นทหาร แล้วมีผู้มีอำนาจบอกว่า ทหารทั้งกองทัพต้องไปยืนยันตัวตนต่อผู้บังคับบัญชา แสดงหลักฐานต่างๆ ภายใน 2 วัน หากใครไม่มารายงานตัวจะขาดจากการเป็นทหาร ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้บ้าง คิดว่าเป็นธรรมหรือไม่ ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นทหารมา 10 ปี 20 ปี หรือมากกว่านั้น

"วันนึงผู้มีอำนาจบอกว่า ประชาชนคนไทยทุกคนต้องมาแสดงตนว่าเป็นคนไทยต่อเจ้าหน้าที่ หากไม่แสดงตนพร้อมหลักฐานการเกิด หากไม่มาตามที่กำหนดให้พ้นจากการเป็นประชาชนคนไทย ท่านคิดว่า ประชาชนยอมหรือไม่ มีอะไรที่แฝงอยู่ในใจก็ควรบอกประชาชนมาตามตรง การล้มล้างสมาชิกพรรคการเมืองในรอบนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ออกคำสั่งก็ต้องรับผิดชอบ พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการทางการเมืองมายาวนานที่สุดท่านจะยัดเยียดความอ่อนแอให้อย่างไร เราไม่หวั่นไหวหรอกครับ" นายราเมศกล่าว


ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้เช่นกันว่า  การขยายเวลาดังกล่าวไม่ได้ถือว่า เป็นการปลดล็อกทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะการปลดล็อกหมายถึงการให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ในทันที แต่คำสั่งนี้เป็นเพียงการขยายเวลา 

“การขยายเวลาแบบนี้ บอกเลยว่า ไม่ใช่ความผิดของพรรคการเมืองหรือไม่ใช่ความผิดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เพราะพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนี้ได้ประกาศใช้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2560 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีการกำหนดห้วงเวลาไว้ ดังนั้นแต่ละพรรคการเมืองจึงต้องการดำเนินตามเจตนารมย์ของรัฐบาลให้เป็นไปตามโรดแมปของ คสช. แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ จนท้ายที่สุดเวลาทอดมาจนครบกำหนด ซึ่งถ้าพรรคการเมืองไม่ทำตามนั้นก็จะถูกตัดสิทธิในการส่งสมาชิกลงสนามเลือกตั้ง ต้องย้อนถามว่า เป็นความผิดของพวกเราที่ละเลยไม่ทำตามกฏหมายหรือไม่ ก็ตอบได้ว่า ไม่ใช่เลย” นายสมศักดิ์ ระบุ 

 

ทั้งนี้ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ยังระบุด้วยว่า ตนต้องการเห็นการปลดล็อกอย่างแท้จริง อยากให้ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยและเสมอเหมือนกัน ไม่ใช่มาค่อยๆ คลายล็อคให้พรรคการเมืองทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ในเวลานั้นเวลานี้ เพราะเหมือนเป็นการลักลั่นแล้วเอาเหตุผลมาบอกว่า ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ทำไมจึงไม่ย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งที่กฎหมายเริ่มออกประกาศใช้ จะไม่มีการพูดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบเลย ระหว่างพรรคการเมืองเก่าหรือพรรคการเมืองใหม่ 

หากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองเหล่านั้น ก็จะไม่มีพรรคการเมืองใดลุกขึ้นมาโวยวายหรือต่อต้านกับเรื่องดังกล่าว วันนี้จึงต้องถือว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องการทำผิดกฏหมายเลือกตั้งของพรรคการเมือง แล้วร้องขอให้ต้องขยายเวลา และไม่ใช่ความผิดของ กกต. ที่ไม่สามารถสนับสนุนหรือจัดให้แต่ละพรรคการเมืองดำเนินการได้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขยายเวลาดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อไพรมารี่โหวต และการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ระยะเวลาจะเหลือกระชั้นชิดมากเกินไปหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตรงนี้ต้องเกี่ยวแน่ เพราะการขยายเวลาให้ดำเนินธุรกรรม แต่ในขณะที่รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาที่จะต้องดำเนินการตามกฏหมายก่อนลงสนามเลือกตั้ง จึงต้องดูองค์ประกอบควบคู่กันไปด้วย เมื่อขยายเวลาตรงนี้แล้ว ก็ต้องไปดูกฎหมายประกอบและธรรมนูญด้วยว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้เป็นไปตามครรลองและทำไม่ให้ได้รับผลกระทบทั้งพรรคการเมือง คสช. และรัฐบาล โดยเฉพาะหากกระทบต่อความน่าเชื่อถือก็จะเป็นเรื่องที่ใหญ่ 

 

เมื่อถามว่า ในอนาคตจะส่งผลกระทบถึงโรดแมป คสช. หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนคงตอบไม่ได้ ในเมื่อ คสช. ยืนยันว่าไม่กระทบ เราก็ต้องเชื่อ เพราะถ้า คสช. พูดแล้วไม่เชื่อก็ไม่รู้จะไปเชื่อใคร ก็เพียงแต่ให้กำลังใจและรอดู เพราะอยากเห็นรัฐบาล คสช. ดำเนินทุกอย่างให้เป็นไปตามโรดแมปให้ได้ 

 

“วันนี้การที่อียูประกาศปลดล็อกให้ไทยในเรื่องสิทธิการทำมาค้าขายได้ เพราะเขาเห็นว่า กำลังจะเข้าสู่โรดแมป การคืนอำนาจคืนความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นถ้าจะเกิดความล่าช้าหรือมีเหตุใดขึ้นมาก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้นำประเทศ พรรคการเมืองไม่ได้เสียสิทธิ เพราะเขาขยายเวลาให้ แต่ประเทศเสียโอกาส ถ้าจะต้องทำให้ทุกอย่างไม่สามารถเป็นไปตามโรดแมปได้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือประเทศจะเสียโอกาสถ้าจะต้องทำให้ทุกอย่างไม่สามารถเป็นไปตามโรดแมปได้ เสียหายคือประเทศ ไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะไม่ว่า จะเลือกตั้งปี 61หรือ ปี 62 พรรคการเมืองก็รอได้แต่ประเทศจะรอไม่ได้นี่สิ" นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย