รอบนี้แรงส์ส์ส์?! "มาร์ค"ฉะหนักคำสั่งคสช.53/2560 ซัดอยากเลื่อนเลือกตั้งก็บอกตรงๆ เตือนใช้อำนาจพร่ำเพรื่อให้ดู ปวศ.-สุดท้ายลงเอยเช่นไร?!

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 


รอบนี้แรงส์ส์ส์?! "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ฉะ "คสช." ปมใช้มาตรา 44 ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางธุรการ เพื่อไม่ได้ติดขัดเรื่องเงื่อนเวลา และถูกนักการเมืองหลายคนจากหลายพรรคออกมาโจมตีอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ ออกโรงฉะอีกครั้งถึงกรณีดังกล่าวว่า ถ้า คสช. ต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง ทำไมไม่กล้าหาญที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมา แบบชายชาติทหาร อยากจะเลื่อนการเลือกตั้งเพราะมีเหตุผลที่ดีเพื่อส่วนรวมก็บอกมาตรงๆ ไม่เอามาตรา 44 มาแก้  พร้อมระบุ ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าไหร่ยิ่งต้องใช้ให้น้อยที่สุด  เตือนให้ดู ปวศ.ลุแก่อำนาจ-สุดท้ายลงเอยเช่นไร?!

 

วันนี้ (25 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้า กรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่  53/2560  เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และถูกนักการเมืองหลายคนจากหลายพรรคออกมาโจมตีอย่างต่อเนื่องนั้น

ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า การที่นำมาตรา 44 มาแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ไปไม่กี่เดือน และมีปัญหาก็เพราะมาตรา 44 ที่มีคำสั่งไปก่อนนั้น จึงทำให้รู้สึกว่าอำนาจเบ็ดเสร็จไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะบริหารจัดการสถานการณ์บ้านเมืองให้เปลี่ยนผ่านแบบ เป็นระบบอย่างไร ที่ผ่านมาตนไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในหลายเรื่อง แต่สิ่งที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.พยายามทำ และเหตุผลคือ การลำดับการจัดการเรื่องกฎหมาย โดยจัดทำกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน จากนั้นตามด้วยกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และกฎหมายการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะนายมีชัยรู้ว่าทันทีที่กฎหมาย 4 ฉบับเสร็จ และต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อต้องปฏิรูป พรรคการเมืองและกกต.จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าไปทำให้พรรคการเมืองกับ กกต.ต้องเปลี่ยนแปลงแล้วเหลือเวลา 150 วันในการจัดเลือกตั้ง จะทำให้เกิดความโกลาหล และความยากลำบากต่อผู้เกี่ยวข้อง กรธ.จึงทำกฎหมายสองฉบับแรกออกมาเร็ว แต่อยู่ดีๆ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับนำการทำงานของพรรคการเมืองไปผูกกับกฎหมายเลือกตั้งสส.ว่าต้องประกาศใช้ก่อน

 

“คำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมาก็ยังเขียนว่าเอาเรื่องของพรรคการเมือง ซึ่งควรจะเตรียมการก่อนการเลือกตั้งไปผูกกับกฎหมายเลือกตั้งที่มีเวลาแค่ 150 วัน ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรเลย และที่อ้างว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย ผมก็แปลกใจว่าอะไรที่ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย ทำไมผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีความตระหนัก หรือรอบคอบพียงพอที่จะรู้ว่าแผนการที่วางเป็นขั้นตอนด้วยเหตุด้วยผลคืออะไร ผมไม่อยากจะเชื่อว่าไม่รู้ แต่กลายเป็นว่าอาจจะมีความต้องการอะไรบางอย่าง และถ้ามีความต้องการในเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง ทำไมไม่มีความกล้าหาญที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมา ผมเห็นว่าเป็นชายชาติทหาร อยากจะเลื่อนการเลือกตั้งเพราะมีเหตุผลที่ดีเพื่อส่วนรวมก็บอกมาตรงๆ ไม่เอามาตรา 44 มาแก้ พอถึงเวลาเกิดขรุขระทำอะไรไม่ทันก็เอามาตรา 44 ออกมาอีก โดยที่ไม่บอกให้สังคมและประชาชนรู้อย่างตรงไปตรงมาว่า ผู้มีอำนาจกำลังมองปัญหาอย่างนี้ทำอย่างนี้”

 

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าไหร่ยิ่งต้องใช้ให้น้อยที่สุด อย่าใช้พร่ำเพื่อ อำนาจเบ็ดเสร็จแต่ไปปักอยู่บนขี้เลน มันไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้ปฏิรูป ทั้งที่กฎหมายทั้งหมดก็มาจาก คสช.และแม่น้ำ 5 สายทั้งนั้น มีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตามใจชอบ เปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็ได้ และถ้าอำนาจเบ็ดเสร็จที่ใช้ไปเพื่อประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวก ซึ่งทำได้ทั้งนั้น แต่อยากให้ระมัดระวังแล้วย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ว่าเวลาใช้อำนาจแล้วขาดความชอบธรรมผลสุดท้ายผู้ใช้อำนาจจะต้องเผชิญกับอะไร ก็อยากจะเตือนไว้เท่านั้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คำสั่งมาตรา 44 ที่ประกาศดังกล่าวบอกให้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 61 ใครอยากตั้งพรรคให้เริ่มต้นดำเนินการได้ ซึ่งหนีไม่พ้นต้องไปหาสมาชิกด้วย จึงเป็นเรื่องแปลกว่ากฎหมายได้อนุญาตให้เฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มหาสมาชิกพรรคได้ แต่ขณะที่พรรคการเมืองเก่าไม่มีสิทธิ์ทำอะไรเลย และต้องรอเดือน เม.ย.เท่านั้นจึงจะเริ่มดำเนินการได้ ดังนั้นการที่ คสช.ระบุว่าในระหว่างนี้พรรคเก่าไปเตรียมการกับสมาชิกพรรคเก่า ก็ต้องถามว่าทำได้หรือไม่ในเมื่อยังมีคำสั่ง คสช.ห้ามเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่ง คสช.ต้องบอกให้ชัด ถ้าเป็นห่วงเรื่องความวุ่นวายทางการเมือง ถามว่าทำไมคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวได้ไม่ต้องกลัวว่าจะวุ่นวายหรือไม่ รู้หรือว่าใครจะตั้งพรรคใหม่ แล้วทำไมกลุ่มคนอื่นเคลื่อนไหวแบบเดียวกันไม่ได้ ไม่มีเหตุมีผล

 

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ตามคำสั่งที่ออกมา ในเดือน เม.ย.นี้ ใครเป็นสมาชิกพรรคเก่ายืนยันและชำระเงิน เพื่อยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคของตนเอง ซึ่งพรรคที่ได้รับผลกระทบก็คือพรรคที่มีสมาชิกอยู่แล้ว โดยเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกเกือบ 3 ล้านคน การจะติดต่อคน 3 ล้านคน โดยถูกห้ามเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมอยู่ และให้ 3 ล้านคนทำหนังสือยืนยันกลับมาภายใน 30 วัน ในทางปฏิบัติทำได้หรือไม่ หากไม่ยืนยันก็ต้องหลุดไป ซึ่งเหมือนกับรีเซ็ตสมาชิกพรรค ซึ่งไม่ได้เป็นศูนย์แต่กลายเป็นติดลบ เพราะสมาชิกพรรคที่หลุดไปเสียความรู้สึกกับพรรคที่เขาผูกพันอยู่ ไม่แน่ใจว่า ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. พวกตนจะสามารถไปทำงานเชิงธุรการที่จะให้สมาชิกเก่าทำหนังสือยืนยันและชำระเงินได้กี่คน ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะทำอย่างไรไม่ใช่ง่ายๆ แต่พรรคใหม่เขาเดินไปชักชวนใครก็ได้ ตนถึงบอกว่า ถ้ากล้าหาญพอทำไมไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างตรงไปตรงมา

 

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ที่ให้สมาชิกต้องยืนยันด้วยหนังสือแทนที่จะให้ยืนยันทางอิเล็กทรอนิคส์ ตนไม่ได้มีปัญหาในเชิงการแข่งขัน เพราะถึงเวลาจริงๆ คือการหาคนมาลงคะแนนให้ สมาชิกเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่พูดในมุมผูกพันทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ของสมาชิกและพรรคการเมือง มาทำลายตรงนี้เพื่ออะไร และถ้ามองการเมืองแค่เรื่องการเลือกตั้งจำนวนสมาชิกก็ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่

 

“วันก่อนนายกฯ พูดว่าการเมืองที่ดีต้องปรับปรุงระบบตัวแทนต้องมีส่วนร่วม มีความผูกพัน แต่นี่คือสิ่งที่ท่านกำลังทำลายจากการที่อยู่ดีๆบังคับให้พรรคภายใต้คำสั่ง คสช.ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง จะต้องมีคนอื่นๆอีกหลายล้านคนต้องทำหนังสือยืนยัน แต่วิธีการและรูปแบบกำหนดอย่างไรในขณะนี้ยังไม่ทราบได้ เพียงเพื่ออะไรก็ไม่ทราบ จริงๆ การให้อนุญาตดำเนินการตามคำสั่งไม่สุ่มเสี่ยงต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองมากกว่าหรือ เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวในวงกว้าง”

อย่างไรก็ตาม ตนอยากบอกกับสมาชิกพรรคที่มีหัวใจเป็นประชาธิปัตย์ ก็เป็นประชาธิปัตย์ต่อไป กฎหมายจะมากลั่นแกล้งบีบคั้นแบบนี้เพื่อให้หลุดไปก็ไม่เป็นไร แต่เชื่อว่าคนที่ยังมีอุดมการณ์ก็ยังมีอุดมการณ์อยู่ แต่การทำลายความผูกพันระหว่างสมาชิกกับพรรคแบบนี้ มองไม่เห็นประโยชน์ส่วนร่วม และทำให้ความอ่อนแอทางการเมืองมีมากขึ้น เพราะทุกอย่างจะกลายเป็นการแข่งขันเฉพาะหน้า