ประยุทธ์โวผลงานยุติธรรม 6 ด้านของรัฐบาล เร่งปราบยาเสพติด คดีอาญาลดลง แก้เหลื่อมล้ำดีขึ้น เสริมสร้างปรองดอง

ประยุทธ์โวผลงานยุติธรรม 6 ด้านของรัฐบาล เร่งปราบยาเสพติด คดีอาญาลดลง แก้เหลื่อมล้ำดีขึ้น เสริมสร้างปรองดอง สั่งทำงานเชิงรุกให้คนไทยได้ประโยชน์ทั่วถึง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2561 เวลา 20.15 น.
ถึงการบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินการด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทำให้สังคมน่าอยู่ เป็นที่ยอมรับของสากล และนานาประเทศ เป็นอีกงานหนึ่ง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด มีผลการดำเนินงาน ตามภารกิจด้านกระบวนการยุติธรรมนี้ ประกอบด้วย นโยบายหลัก 6 ประการ 

1. การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ผ่านมานั้น นับว่ามีสถานการณ์น่าเป็นห่วง เห็นได้จากสถิติ "ผู้ต้องขังคดียาเสพติด"ทั่วประเทศ มากถึงร้อยละ 72 ของผู้ต้องขังทั้งหมด รัฐบาลนี้ จึงต้องเร่งดำเนินการและใช้มาตรการที่เข้มงวด โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2560 สามารถจับกุม และดำเนินคดีผู้ต้องหา ในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ได้ถึง 2 แสนกว่าราย ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่เราภาคภูมิใจ แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความหนักหน่วงของปัญหา ที่จะส่งผลต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ในการขับเคลื่อนประเทศของเราในอนาคต รวมความวันนี้ด้วย
 รัฐบาลนี้ และ คสช. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งการป้องกันที่ "ต้นเหตุ" และ การปราบปรามเพื่อ "ระงับเหตุ" กล่าวคือ ในการป้องกันปัญหา สร้างภูมิคุ้มกันแต่เนิ่น ในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีการใช้สื่อการสอน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ให้เห็นโทษของยาเสพติด เสริมสร้างทักษะชีวิต และจัดให้มีนักเรียนแกนนำสำหรับดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้ลูกหลานของเราห่างไกลยาเสพติด สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านโครงการโรงงานสีขาว และการป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชน ผ่านกลไกประชารัฐ กองทุนแม่ของแผ่นดิน
 ในส่วนของ "การปราบปราม" ยาเสพติดนั้น เราได้กระชับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อปฏิบัติการเชิงรุก ณ แหล่งผลิตสกัดกั้นเส้นทางขนย้ายเข้าสู่ชายแดนไทย ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร  ข่าวกรอง เพื่อร่วมกันปราบปราม ทำลายขบวนการค้ายาทั้งภายนอกและภายในประเทศ ที่สำคัญอีกด้าน คือ "โครงการช่วยฟื้นฟูผู้ติดยา เพื่อคืนคนดีสู่สังคม" ให้สามารถกลับมาเป็นคนที่มีคุณภาพประกอบสัมมาอาชีพ เพื่อเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัวได้ต่อไป 

 2. การสร้างความปลอดภัยและสงบสุขในสังคม พบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการรับแจ้งคดีอาญา “ลดลง” จากปี 2559 ร้อยละ 10  โดยฝ่ายความมั่นคงได้เน้นการป้องกันที่ต้นเหตุ อาทิ การสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มเด็กและเยาวชนไม่ให้กระทำผิดทางอาญา ไม่มั่วสุมแข่งรถ
ไม่รวมกลุ่มตีกัน รวมถึงสนับสนุนสถานศึกษา ทำงานร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยร่วมกันป้องกันการทำผิดของเยาวชน การแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูผู้กระทำผิดร่วมกันอย่างยั่งยืน 

3. การยกระดับการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยในปี 2559 ไทยมีดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law index) อยู่ในลำดับที่ 46 จาก 113 ประเทศ โดยแม้ว่าเราจะมีคะแนนสูงสุดในด้านความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย แต่ยังคงต้องปรับปรุงในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมด้านประสิทธิภาพของระบบและกลไกการดำเนินการ โดยเฉพาะด้านคดีอาญา ที่ผลการประเมินอยู่ที่ลำดับที่ 11 จาก 15 ประเทศในภูมิภาค 

 4. การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้ทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมและความต้องการของประชาชน 
 
5. การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในระดับกลุ่มที่ 2 ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ "ต้องจับตามอง" ของสหรัฐฯ หมายถึง เราถูกประเมินว่าไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของการจัดการค้ามนุษย์ให้ครบถ้วน ซึ่งผมให้ความสำคัญเร่งด่วนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดให้เป็น "วาระแห่งชาติ" และมีแผนแม่บทในการดำเนินงานอย่างชัดเจน 6. การเสริมสร้างความปรองดองสมาน ฉันท์เพื่อจัดการกับความขัดแย้งด้วยการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ 
 

ทั้งนี้ ใน "ก้าวต่อไปของประเทศไทย" นั้น นอกจากการปรับปรุง และพัฒนา งานด้านยุติธรรมของประเทศอย่างต่อเนื่องให้ได้ผลเป็นรูปธรรมแล้ว  รัฐบาลได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เคยทรงให้สติ ย้ำเตือนความรับผิดชอบของรัฐบาลและ ข้าราชการทุกคน ดังนี้  "...หลักที่ว่าทุกคนต้องทราบถึงกฎหมาย และต้องทำตามกฎหมายนั้นรู้สึกว่าบางครั้ง ก็ใช้ไม่ได้ .... เพราะว่ากฎหมายไม่ถึงประชาชน ต้องนึกบ้างว่า เป็นความผิดทางราชการ ที่ไม่สามารถจะนำกฎหมาย ไปให้ถึงประชาชน..."

ดังนั้น ผมขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ที่มีกฎหมายในความรับผิดชอบของตน ในการบังคับใช้ เราจะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องกฎหมายนั้น ๆ แบบเชิงรุก ล่วงหน้า เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องไร้ข้อสงสัย  อีกทั้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้สิทธิพื้นฐาน คำปรึกษา และการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม 

///////////