ชาวเพชรฯร้อง ลุงตู่ นายกฯ ค้านสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โอด กระทบพื้นที่เกษตร แฉ ใครออกหน้าค้านโดนคุกคามหมด

ชาวเพชรฯร้อง ลุงตู่ นายกฯ ค้านสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โอด กระทบพื้นที่เกษตร แฉ ใครออกหน้าค้านโดนคุกคามหมด

วันเดียวกันนี้ ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มคนรักบ้านเกิดจังหวัดเพชรบุรี นำโดย นายธีระศักดิ์ เพชรสุก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด พร้อมชาวบ้าน ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านกรณีที่บริษัทเอกชนรายหนึ่งเตรียมลงทุนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าบริเวณหลังวัดเขาทะโมน ต.ท่าเสน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี บนพื้นที่กว่า 40 ไร่ หลังจากที่เมื่อวันที่ 10 พ.ย.60 ได้เคยมายื่นหนังสือคัดค้านถึงนายกฯที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาลแล้วครั้งหนึ่งโดยหนังสือได้เรียกร้องให้รัฐบาลไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 กรณี บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ณ บ้านเขาทะโมน หมู่ที่ 9 ต.บ้านเสน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี พร้อมกล่าวถึงเหตุผลสำคัญในการคัดค้านหลายประการ อาทิเช่น สถานที่ที่กำลังดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะนั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้กับเขตชุมชน วัด โรงเรียน และวิทยาลัยการอาชีพบ้านลาด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่น

 ซึ่งตามหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ต้องไม่อยู่ในระยะ  300 เมตรจากพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พื้นที่ของ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ที่ขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างนั้นมีขนาดราว 40 ไร่ ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอต่อการก่อสร้างอาคารโรงงาน พื้นที่ใช้สอยรอบๆ ตัวอาคาร บ่อบำบัดน้ำเสีย อีกทั้งโดยรอบของพื้นที่ที่ขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างโรงงานนั้นเป็นลำห้วยสาธารณะและพื้นที่เกษตรด้วย จนอาจส่งผลให้ต้องไปเบียดบังน้ำของเกษตรกรในพื้นที่ที่จะต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ทำนาข้าว และเริ่มมีการทำเกษตรอินทรีย์บางส่วนตามนโยบายรัฐบาล รวมไปถึงน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วย 

ในหนังสือร้องเรียนยังระบุอีกว่า พื้นที่ของ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ที่ขอใช้เป็นโรงงานกำจัดขยะนั้นมิได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขยะมูลฝอยในจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.2559 – 2560 และแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดเพชรบุรีปี 2558 – 2562 ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 ส.ค.60 ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี โดยให้เหตุผลประกอบว่า โรงงานแปรรูปขยะเป็นกระแสไฟฟ้าที่อยู่เดิม 1 โรง ที่ อ.ท่ายาง มีกำลังความสามารถสูงกว่าปริมาณขยะภายใน จ.เพชรบุรีที่มากเพียงพออยู่แล้ว แต่ประชาชนที่ลงชื่อคัดคเนในครั้งนั้นกลับถูกข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เกิดความหวาดกลัวว่า การแสดงตนออกมาคัดค้านนั้นมีความผิด แต่กลับไม่แจ้งความผิดที่ชัดเจน หรือไม่แจ้งข้อกล่าวหา เข้าข่ายการใช้อำนาจรัฐข่มขู่คุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือไม่
 
 “ชาวบ้านในพื้นที่ต่างมีความหวังว่า รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดจน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะสามารถคลี่คลายปัญหาในเรื่องนี้ไม่ให้ลุกลามบานปลายใหญ่โตได้ เพราะในอนาคต หากเกิดปัญหาเรื่องมลพิษ โดยมีต้นเหตุมาจากการบริหารจัดการขยะของบริษัทที่ขาดคุณสมบัติ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ และไม่ได้มาตรฐานในระดับสากล คงไม่มีผู้มีอำนาจในรัฐบาลนี้คนใดอยากถูกพิพากษาหรือถูกจารึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้บ้านเมืองนี้เกิดความวิบัติฉิบหาย เพราะมิอาจระงับยับยั้งคนมีเส้นที่ได้รับความคุ้มครองได้ แล้วไม่ใช่แค่ชาวบ้านเท่านั้นที่ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมจากการถูกกดขี่ข่มเหง แต่ข้าราชการตงฉินบางคนที่ไม่ยอมทำตาม ก็ถูกย้ายแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวอีกด้วย” หนังสือร้องเรียน ระบุ

นางนิโรบล เสถียร อายุ 55 ปี ชาวบ้านไร่ถิ่นน้อย หมู่ 6 ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด กล่าวว่า การจัดตั้งโรงไฟฟ้าบ่อขยะจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ให้เป็นไปตามมาตรฐาน กฎเกณฑ์ และข้อบังคับในระดับสากล จึงจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อผู้คนในชุมชน และประเทศชาติ แต่หากความผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะผู้มีอำนาจถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การยกระดับการกำจัดขยะด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อขยะคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง รมว.มหาดไทย ในฐานะเจ้าภาพของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และยังมีอำนาจหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม ควรที่จะลงมาตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น และไล่ให้มีการตรวจสอบลงมาทุกระดับชั้นในจังหวัด ว่ามีการใช้เส้นสาย คอนเน็คชั่นกับใคร อย่างไร เพื่อดำเนินงานโดยผิดหลักเกณฑ์และขั้นตอน ตามข้อสงสัยของประชาชนหรือไม่ ตลอดจนการตรวจสอบว่า โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ได้ดำเนินการถูกต้องตามหลักวิชาการ หลักธรรมาภิบาล คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และท้องถิ่นนั้นๆ ตามนโยบายที่นายกฯมอบให้หรือไม่ด้วย

“พวกเราจะคัดค้านให้ถึงที่สุด เมืองเพชรมีโรงไฟฟ้าขยะแล้ว 1 แห่งทำไมต้องมาทำแห่งที่ 2 ขยะในบ้านเรา ซึ่งเกินปริมาณของขยะในพื้นที่แสดงว่าต้องมีการนำขยะนอกพื้นที่เข้ามาทิ้งยังพื้นที่แห่งนี้ สิ่งเหล่านี้ทำไมต้องให้พวกเรารับผิดชอบและต้องรับกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีชุมชนตั้งอยู” นางนิโรบล กล่าว

ด้าน นายชัชวาล สุขเมือง อายุ 39 ปี หมู่ 9 ต.ท่าเสน อ.บ้านลาด กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีใครทราบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ ซึ่งเป็นการตั้งข้อสงสัยว่ามีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงการดำเนินการบางประการหรือไม่ เพราะทราบมาว่า หากกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์จะต้องทำประชาพิจารณ์ แต่ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ขออนุญาตทำการผลิตไฟฟ้าเพียง 9.9 เมกะวัตต์ ทำให้มองว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นไม่บริสุทธิ์ใจ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีบุตรชายของผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย มาคอยสั่งการในพื้นที่ โดยมีนักการเมืองชื่อดังของ จ.เพชรบุรี เป็นธุระไกล่เกลี่ยประสานงานให้กับ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ทั้งในทางลับและในทางแจ้ง เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า ผู้บริหารบริษัทดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีฐานะเป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยจริงหรือไม่ จึงกลายเป็นข้อครหาว่าการเข้ามาดำเนินการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลหรือเปล่า ซึ่งส่วนตัวจะคัดค้านจนถึงที่สุด

ชาวเพชรฯร้อง ลุงตู่ นายกฯ ค้านสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โอด กระทบพื้นที่เกษตร แฉ ใครออกหน้าค้านโดนคุกคามหมด