สาวกหน้าจอฟังไว้!!! ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ส่งผลกล้ามเนื้อเสื่อมขั้นเรื้อรัง??

ติดตามรายละเอียด : FB. Deeps News

เชื่อว่าหลายคนเคยรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อกันมาบ้าง ไม่ว่าทั้งหลังเล่นกีฬา ออกกำลังกาย ยกของหรือนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีในการรักษาที่แตกต่างกันไป หรือแม้ กระทั่งมาพบแพทย์ได้ให้ยามาทาน ส่วนใหญ่อาการก็จะหายไป แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะรักษาอย่างเต็มที่แล้วบางรายยังคงปวดอยู่นิดๆ นั่นแสดงว่าคุณอาจเป็นกล้ามเนื้อบาดเจ็บเรื้อรัง 

 

 

ข้อมูลโดย นพ.ภัทร จุลศิริ ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อเท้า โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111 กล่าวว่า อาการกล้ามเนื้อบาดเจ็บเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยมีด้วยกันอยู่ 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่ การเกิดกล้ามเนื้อฉีกขาดหลังการออกกำลังกาย พอซ่อมแซมก็เกิดแผลเป็นในชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งกล้ามเนื้อบริเวณนั้นก็จะเสียความยืดหยุ่นไป ไม่สามารถหดตัวได้อย่างเต็มที่และเป็นจุดอ่อนให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำ

 

กล้ามเนื้อขมวดเป็นปม มักเกิดจากการทำงานในท่าหนึ่งนานๆ กล้ามเนื้อส่วนนั้นเลยหดตัวค้าง ทำให้เกิดอาการปวดได้ แถมการปวดนี้จะสามารถทำให้รู้สึกปวดบริเวณอื่นได้ เช่น ในคนที่ต้องทำงานคอมพิวเตอร์ หรืองานออฟฟิต ไม่ค่อยได้เปลี่ยนท่าทาง กล้ามเนื้อสะบักหลังต้องเกร็งตัวเพื่อพยุงแขนในท่าพิมพ์คีย์บอร์ด พอนาน ๆ เข้าจุดกล้ามเนื้อก็ขาดเลือด ขาดอาหารไปเลี้ยง เลยเกร็งตัวค้าง เกิดอาการ ปวดสะบักหลังร้าวไปท้ายทอยได้ โรคนี้ก็จะคลำก้อนได้บริเวณที่เจ็บ หรือถ้าไปนวด หมอนวดแผนไทยก็จะบอกว่าเส้นจม 

 

 

ทั้งนี้ เห็นได้ว่า โรคที่สองจะแตกต่างจากกล้ามเนื้อฉีกขาด ตรงที่กล้ามเนื้อยังสมบูรณ์ดีอยู่แต่ขาดเลือดไปเลี้ยงที่เพียงพอ ไม่มีแผลเป็นในกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามอาการที่เกิดขึ้นก็คือปวดกล้ามเนื้อเหมือนกัน ในการรักษานอกจากการทานยา,นวดยา การกายภาพด้วยตนเองเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นที่ดี

 

แต่เมื่อทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเพื่อเร่งการซ่อมแซมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษา เกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet rich plasma (PRP)) เป็นเทคโนโลยีที่นำเลือดตัวเองมาปั่นให้ข้นขึ้นแล้วดูดมาเฉพาะเกล็ดเลือดที่สามารถช่วยส่งสารเคมีกระตุ้นการซ่อมแซมได้ สารเคมีในเกล็ดเลือดจะไปช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้เข้ามากำจัดของเสีย หรือสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐาน หลังจากนั้นจะไปเรียก stem cell หรือเซลตั้งต้น มาแบ่งตัวเป็นเป็นเนื้อเยื่อที่ถูกต้อง สร้างคอลลาเจน กระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยง ทำให้ความผิดปกตินั้นดีขึ้น กล้ามเนื้อเกิดการซ่อมแซมจนเป็นปกติ 

 

อย่างไรก็ตาม แพทย์ก็ยังคิดว่าการรักษาโรคทุกอย่าง ต้องรักษาที่ต้นเหตุเพื่อผลที่ดีและหายขาด ฉะนั้นไม่ใช่ฉีดยาอย่างเดียวแล้วจะหายสนิท ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, ท่าทางในการทำงาน, ยืดและ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อควบคู่กันไปด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง