ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

(17 ม.ค.) จากกรณีที่กลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวคัดค้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ  หมู่ 1 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มาตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2561  เพื่อขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ขึ้นตรวจสอบและนับผลอาสินในพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหับ   โดยมีชาวบ้านประมาณกว่า 100 คนนำโดยนายชาตรี ผาสุก ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เขาเหมน-วังหีบ เป็นแกนนำ จนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ได้ ในขณะที่นายพิศิษฐ์ คงตุก ปลัด อ.ทุ่งสง และฝ่ายปกครองรวมทั้งผู้นำท้องถิ่น ประมาณ 20 คน  ร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยและเจรจากับชาวบ้าน โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงบานปลายเกิดขึ้นแต่อย่างใด

“อย่างไรก็ตามหลังจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้และกรมชลประทานไม่สามารถขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ได้ และพากันกลับไป แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ไว้วางใจ ได้ปักหลักเฝ้าอยู่บริเวณปากทางขึ้นโครงการ ฯ และในช่วง 2 วันที่ผ่านมาได้มีการเรี่ยไรเงินซื้ออาหารมาจัดเลี้ยงกันอย่างเต็มที่ จนถึงขณะนี้ชาวบ้านมั่นใจมากขึ้นว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้และกรมชลประทานคงไม่ตลบหลังกลับมาในพื้นที่เพื่อรังวัดและนับผลอาสินในพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบอีก จึงได้เริ่มทยอยกันกลับบ้าน  แต่ได้มีการเฝ้าระวังเกรงส่าเจ้าหน้าที่จะนำกำลังบุกขึ้นไปตรวจวัดและนับผลอาสินในพื้นที่อีก ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันจะคัดค้านจนถึงที่สุด และขอให้เจ้าหน้าที่รอให้นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน โดยคาดว่าจะเป็นปลายเดือน ม.ค.2561 นี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร มีกำหนดการจะเดินทางลงมาตรวจสอบในพื้นที่”

นายวุฒิชัย (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี แกนนำต่อต้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ กล่าวว่า การดำเนินการของทางราชการที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกว่า 70 ครัวเรือนไม่ได้มีส่วนร่วมแม้แต่น้อย  และการดำเนินการผิดขั้นตอนทั้งหมด  และการก่อสร้างโครงการนี้ชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลกระทบเดือดร้อยอย่างหนักแน่นอน ทั้งหมดจึงรวมตัวกันต่อต้านจนถึงที่สุด ในขณะนี้ชาวบ้านต่างสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ และอาจจะพัฒนาไปเป็นการจัดเวรยามเฝ้าระวังตลอด 24 ชม.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะ เมื่อช่วงธันวาคม 2559 และมกราคม 2560 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมระบุว่า พื้นที่นครศรีธรรมราช  จะมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือที่ชาวบ้านมักจะเรียกว่า “เขื่อน” ในพื้นที่จำนวน 7 แห่ง พร้อมทั้งขุดคลอง 1 สาย  ต่อมามีการประกาศโครงการเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังหีบ ในพื้นที่ ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง , โครงการเขื่อนคลองสังข์ ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่  , โครงการเขื่อนโคกยาง ต.ทุ่งโพธิ์ อ.จุฬาภรณ์ , โครงการเขื่อนถ้ำพระ 1,2,3,4  ต.นาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ ,โครงการเขื่อนลาไม ต.วังอ่าง อ.ชะอวด , โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน ต.เทพราช-ฉลอง อ.สิชล และโครงการแม่น้ำไชยมนตรี ต.ไชยมนตรี-นาสาร-ช้างซ้าย-ท่าเรือ-บางจาก (บรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช) มูลค่างบประมาณรวมกว่า  2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเวนคืนบ้านเรือนและที่ทำกินของชาวบ้านมากกว่า 3,000 ครัวเรือน

ยอมถอย ! จนท.ป่าไม้และชลประทานยอมถอย หลังชาวบ้านรวมพลังคัดค้านก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ-แกนนำยืนยัน 70 ครัวเรือนรับผลกระทบโดยตรง

ยอมถอย ! จนท.ป่าไม้และชลประทานยอมถอย หลังชาวบ้านรวมพลังคัดค้านก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ-แกนนำยืนยัน 70 ครัวเรือนรับผลกระทบโดยตรง

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังหีบ จะกินพื้นที่ 525 ไร่ ความจุ 20.10 ล้านลบ.ม. เป็นการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดกลาง ปิดกั้นคลองวังหีบบริเวณหมู่ที่ 1 บ้านสระแก้ว และหมู่ที่ 5 บ้านคอกช้าง ตำบลนาหลวงเสน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยข้อมูลของกรมชลประทาน ระบุวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า 1) เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ เพื่อการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง 2) เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคของราษฎรและสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ โครงการและ ใกล้เคียง 3) เพื่อใช้เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืดให้ราษฎรได้ใช้บริโภค และมีรายได้เสริมจากการจับสัตว์น้ำ 4) เพื่อช่วยบรรเทา อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ทุ่งสง และ อ.นาบอน 5) ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของราษฎรที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการ และต้องใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท ดำเนินการปี 2559-2563

ยอมถอย ! จนท.ป่าไม้และชลประทานยอมถอย หลังชาวบ้านรวมพลังคัดค้านก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ-แกนนำยืนยัน 70 ครัวเรือนรับผลกระทบโดยตรง

แต่การดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนวังหีบได้รับเสียงต้านจากภาคประชาชนอย่างมาก เนื่องจากหากมีการก่อสร้างขึ้นจริงจะทำให้พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์จมอยู่ใต้น้ำรวมถึงหมู่บ้าน และพื้นที่ทำกินเดิมของชาวบ้านด้วย  ขณะที่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาเหมน-วังหีบ  เผยแพร่ข้อมูลผ่านทางโซเชียลว่า หากก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ พื้นที่ที่จะจมลงหากมีการสร้างเขื่อนมีมากกว่าที่กรมชลฯได้ระบุไว้ในรายละเอียดโครงการ โดยหากอิงเอกสารจากทางกรมชลฯที่เคยเข้ามาคุยกับชาวบ้าน ระบุว่า น้ำจะท่วมเขตอุทยานลึกไป 1.5 กิโลเมตร  และคำนวณจากข้อมูลของกรมชลประทาน เอาเฉพาะ สันเขื่อนที่กว้าง 450 เมตร X 4,000 ลึกเข้าไปในเขตป่า จะได้ 1,125 ไร่ และยังมีข้อสังเกตว่า จริง ๆ อ่างเก็บน้ำไม่ได้กว้างแค่ 450 เมตร ดังนั้นตัวเลขประมานการณ์จึงอยู่ที่ 3,000 ไร่

ในขณะที่ข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมชลประทานระบุว่า พื้นที่น้ำท่วมบางส่วนอยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งตามหลักวิชาการในเรื่องการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำให้ความหมาย พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หมายถึงพื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะซึ่งมี์องค์ประกอบร่วมกัน ดังนี้
1) เป็นพื้นที่สูง หรือบริเวณที่อยู่ตอนบนของลุ่มน้ำที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้เป็นต้นน้ำลำธาร เนื่องจากมีลักษณะและสมบัติที่อาจมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงใช้ที่ดินได้ง่าย และรุนแรง 2) ส่วนมากเป็นเทือกเขาที่เต็มไปด้วย หุบเขา หน้าผา ยอดเขาแหลม และ/หรือร่องน้ำจำนวนมาก ซึ่งปกคลุมหรือเคยปกคลุมด้วยป่าดงดิน ป่าดิบเขา หรือป่าสนเขา และ/หรือป่าชนิดอื่น ๆ 3) ส่วนใหญ่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยของพื้นที่ตั้งแต่ 60 เปอร์เซนต์ขึ้นไป 4) มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ประกอบด้วยหิน ซึ่งให้กำเนิดดินที่ง่ายต่อการพังทลาย  จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ที่น้ำจะท่วมนั้นอยู่สูงมาก และจะมีพื้นที่ป่าได้รับความเสียหายจำนวนมาก ประชาชนได้รับผลกระทบเดือดร้อนจำนวนมากเช่นกัน

ก่อนหน้านี้นายกัมพล จิตตะนัง ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาเหมน-วังหีบ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ ว่ากรมชลประทานที่มีความพยายามในการแก้ปัญหาน้ำท่วมใน อ.ทุ่งสง  จ.นครศรีธรรมราช แต่ความจริงคลองวังหีบเป็นต้นน้ำ จังหวัดตรัง ไหลลงแม่น้ำกันตัง ก่อนออกไปสู่ทะเลอันดามัน ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับพื้นที่ อ.ทุ่งสงเลย จากข้อมูลตรงนี้ก็เป็นสาเหตุหลัก ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้านเขื่อนวังหีบ เพราะไม่ตรงกับข้ออ้างของกรมชลประทาน.

ยอมถอย ! จนท.ป่าไม้และชลประทานยอมถอย หลังชาวบ้านรวมพลังคัดค้านก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ-แกนนำยืนยัน 70 ครัวเรือนรับผลกระทบโดยตรง

ภาพ/ฝ่ายปกครอง อ.ทุ่งสง/ป้องกันจังหวัดนครศรีธรรมราช

ยุทธนะ เตมะศิริ   ผู้สื่อข่าวภูมิภาค  สำนักข่าวทีนิวส์  จ.นครศรีธรรมราช