"สามารถ"โต้กลับปตท. แจงไม่ชัดเปิดประมูลขนส่งก๊าซ จี้รตม.ทำให้โปร่งใส่เป็นธรรมไม่ได้เห็นทีเรื่องนี้จะต้องถึงมือ"นายกฯ"แน่

"สามารถ"โต้กลับปตท. แจงไม่ชัดเปิดประมูลขนส่งก๊าซ จี้รตม.ทำให้โปร่งใส่เป็นธรรมไม่ได้เห็นทีเรื่องนี้จะต้องถึงมือ"นายกฯ"แน่

22 ม.ค.61ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" กรณีการประมูลผู้ขนส่งก๊าซทางรถไฟ โดยระบุว่า ..

"โต้ ปตท."

กรณีประมูลผู้ขนส่งก๊าซทางรถไฟ

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 ผมได้โพสต์บทความเรื่อง “รฟท.-ปตท.ทำอะไรกันอยู่?” โดยสรุปใจความได้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) จึงมอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนจัดหารถจักรจำนวน 5 คัน และรถโบกี้บรรทุกก๊าซแอลพีจีจำนวน 125 คัน พร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเป็นเวลา 25 ปี และรฟท.จะรับจ้างขนส่งก๊าซแอลพีจีให้ ปตท. โดยใช้รถจักรและรถโบกี้บรรทุกก๊าซแอลพีจีที่ ปตท.จัดหามา ทั้งนี้ ปตท.ได้ดำเนินการจัดหารถดังกล่าวโดยการเปิดประมูลให้เอกชนผู้สนใจมาเป็นผู้ลงทุนและซ่อมบำรุงรักษาแทนตน ซึ่งผมได้ตั้งข้อสังเกตการประมูลที่ไม่ปกติดังนี้ (1) ปตท.ไม่ได้เผยแพร่ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Terms of Reference หรือทีโออาร์) ในเว็บไซต์ ทำให้ผู้สนใจไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อทีโออาร์ได้ จำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขทุกอย่างในทีโออาร์ (2) ผู้สนใจมีเวลาเตรียมเอกสารประกวดราคาสั้นมาก หากไม่ได้รับรู้ข้อมูลในทีโออาร์ล่วงหน้ามาก่อน ก็จะไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทัน และ (3) ปตท.ไม่ได้ประกาศราคากลางให้ผู้สนใจได้รับทราบ อาจทำให้ ปตท.ต้องจ่ายเงินให้ผู้ชนะการประมูลแพงเกินความเป็นจริง

หลังจากนั้นในวันที่ 19 มกราคม 2560 ปตท.ได้ชี้แจงข้อสังเกตของผม ซึ่งผมขอโต้แย้งคำชี้แจงดังกล่าวดังนี้

1. กรณีไม่เผยแพร่ทีโออาร์

คำชี้แจง: ปตท.ไม่จำเป็นต้องเผยแพร่ทีโออาร์ในเว็บไซต์ เนื่องจาก ปตท.ทำตามระเบียบการจัดหาเชิงพาณิชย์ (ไม่ได้ทำตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560) ซึ่งผู้ซื้อซองเอกสารเท่านั้นที่จะมีสิทธิดูรายละเอียดในทีโออาร์ได้

คำโต้แย้ง: การเผยแพร่ทีโออาร์ไม่ได้เป็นข้อห้ามของระเบียบการจัดหาเชิงพาณิชย์ และที่สำคัญ การเผยแพร่ทีโออาร์จะทำให้ผู้สนใจได้มีโอกาสทักท้วงและเสนอแนะให้ ปตท.พิจารณาปรับแก้ทีโออาร์ให้มีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของผู้สนใจจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้มีผู้สนใจหลายรายสามารถยื่นประมูลได้ ส่งผลให้การประมูลมีการแข่งขันกันทั้งด้านคุณภาพและราคาอย่างจริงจัง ผลประโยชน์ย่อมเกิดกับ ปตท.

2. กรณีมีเวลาเตรียมเอกสารสั้น

คำชี้แจง: ผู้สนใจมีเวลาเตรียมเอกสาร 43 วันทำการ ไม่ใช่ 28 วันทำการ ตามที่ผมตั้งข้อสังเกต ซึ่งถือว่ามีเวลาเพียงพอ

คำโต้แย้ง: ปตท.ประกาศขายซองเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2560 นัดฟังคำชี้แจงเอกสารในวันที่ 13 กันยายน 2560 และนัดดูสถานที่จริงในวันที่ 14 กันยายน 2560 หลังจากนั้นให้ยื่นซองเอกสารประกวดราคาในวันที่ 24 ตุลาคม 2560 เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ผู้สนใจจะสามารถเตรียมเอกสารได้ถูกต้องและครบถ้วนหลังจากได้รับฟังคำชี้แจงเอกสารและได้ดูสถานที่จริงแล้ว จึงทำให้มีเวลาเตรียมเอกสารเพียง 28 วันทำการเท่านั้น การฟังคำชี้แจงและดูสถานที่จริงถือเป็นสาระสำคัญเนื่องจาก ปตท.ระบุชัดไว้ในประกาศประกวดราคาว่า “หากไม่เข้ารับฟังคำชี้แจงและดูสถานที่ ปตท.จะถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ์ในการเสนอราคา และไม่มีสิทธิ์ในการเสนอราคา” หากการฟังคำชี้แจงและดูสถานที่จริงไม่มีความสำคัญสำหรับการเตรียมเอกสารประกวดราคา แล้วทำไม ปตท.จึงตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่เข้ารับฟังคำชี้แจงและดูสถานที่จริง นอกจากนี้ เอกสารที่ต้องจัดเตรียมมีจำนวนมากทั้งเอกสารภายในประเทศและเอกสารจากต่างประเทศ เอกสารบางรายการจะต้องผ่านการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ที่ตั้งอยู่ในประเทศผู้ผลิต หรือจะต้องได้รับการรับรองจากคู่ค้าของผู้ผลิต (ซึ่งอาจเป็นภาครัฐหรือเอกชน) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการยากที่ผู้สนใจจะสามารถจัดเตรียมเอกสารได้ทันภายในเวลา 28 วัน หากไม่มีโอกาสได้เห็นทีโออาร์มาก่อน

3. กรณีไม่ประกาศราคากลาง

คำชี้แจง: ปตท.ไม่ประกาศราคากลาง เพราะ ปตท.ทำตามระเบียบการจัดหาเชิงพาณิชย์ ส่วนหลักประกันซองที่ ปตท.กำหนดไว้ 230 ล้านบาทนั้น ปตท.คิดจาก 10% ของเงินลงทุนเบื้องต้นในการจัดหารถและซ่อมบำรุงรักษา ซึ่งใช้เงินประมาณ 2,300 ล้านบาท ปตท.ไม่ได้คิดหลักประกัน 5% ของเงินลงทุน ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่าย 4,600 ล้านบาท ตามที่ผมได้ตั้งข้อสังเกต

คำโต้แย้ง: การประกาศราคากลางไม่ได้เป็นข้อห้ามของระเบียบการจัดหาเชิงพาณิชย์ การที่ ปตท.สามารถคาดการณ์เงินลงทุนเบื้องต้นในการจัดหารถและซ่อมบำรุงรักษาได้ในวงเงิน 2,300 ล้านบาท แล้วเหตุใด ปตท.จึงไม่ใช้ตัวเลขนี้เป็นราคากลาง ปตท.กล้าประกาศหรือไม่ว่าราคากลางเท่ากับ 2,300 ล้านบาท ไม่ใช่ 4,600 ล้านบาท ตามที่ผมตั้งข้อสังเกต ผมจะดีใจมากหากผู้ชนะการประมูลเสนอราคาไม่เกิน 2,300 ล้านบาท

ผมขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมประการแรกกรณีการถือครองทรัพย์สินอันประกอบด้วยรถจักร 5 คัน และรถโบกี้บรรทุกก๊าซแอลพีจีจำนวน 125 คัน ทีโออาร์ระบุชัดว่าให้ผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ถือครองทรัพย์สิน ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมเห็นว่า รฟท.จะต้องเป็นผู้ถือครองทรัพย์สิน เพราะ รฟท.ให้ส่วนลดแก่ ปตท.ถึง 42% ของค่าให้บริการขนส่ง หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2,700 ล้านบาท เพื่อแลกกับการให้ ปตท.ไปจัดหารถและซ่อมบำรุงรักษา ดังนั้น เมื่อ รฟท.ต้องเสียรายได้ไปถึง 2,700 ล้านบาท รถทั้งหมดจะต้องตกเป็นของ รฟท. ไม่ใช่เป็นของผู้ชนะการประมูลจาก ปตท. หากรถทั้งหมดเป็นของผู้ชนะการประมูล หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาให้บริการขนส่งก๊าซแอลพีจีแล้ว ผู้ชนะการประมูลก็คงขายรถเป็นรายได้อีกก้อนหนึ่งด้วย เพราะหากไม่ขายก็ไม่มีรางรถไฟให้วิ่ง

ข้อสังเกตเพิ่มเติมประการต่อมาก็คือ รฟท.ให้ส่วนลด ปตท. ถึง 2,700 ล้านบาท ในขณะที่ ปตท.คาดการณ์ว่าเงินลงทุนเบื้องต้นของผู้ชนะการประมูล หรือราคากลางของ ปตท. มีวงเงินประมาณ 2,300 ล้านบาท ดังนั้น เงินส่วนต่าง 400 ล้านบาท (2,700-2,300) นั้น ปตท.จะต้องคืนให้ รฟท.

หากรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ปตท.และ รฟท.ไม่สามารถทำให้การประมูลครั้งนี้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมได้ เห็นทีเรื่องนี้จะต้องถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียแล้วล่ะครับ

 

"สามารถ"โต้กลับปตท. แจงไม่ชัดเปิดประมูลขนส่งก๊าซ จี้รตม.ทำให้โปร่งใส่เป็นธรรมไม่ได้เห็นทีเรื่องนี้จะต้องถึงมือ"นายกฯ"แน่

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์"