หวดนายจ้าง ให้ขึ้นค่าแรง เอามั้ย..แลกหักภาษี

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.richmancando.com

คิดผิดคิดใหม่ได้...!!!! คลังยื่นไม้ตายให้เอกชนยอมขึ้นค่าแรง

หวดนายจ้าง ให้ขึ้นค่าแรง เอามั้ย..แลกหักภาษี

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่ยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า   จำเป็นต้องขึ้น เพราะไม่ได้ปรับขึ้นมานานแล้ว ที่ผ่านมา ค่าครองชีพ หรือค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการ ไม่รู้จักพัฒนาภาคการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพียงต่อการสร้างรายได้ให้สูงขึ้น ทั้งนี้หากไม่ปรับค่าแรงให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน อาจจะทำให้คนกลุ่มนี้มีปัญหาได้
อย่างไรก็ตามมองว่าในอนาคตเรื่องอัตราแรงงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่แรงงานคนมากขึ้น ฉะนั้นแรงงานทุกภาคส่วนเองจะต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาตัวเองให้แข่งขันกับเทคโนโลยีให้ได้ต่อไป

หวดนายจ้าง ให้ขึ้นค่าแรง เอามั้ย..แลกหักภาษี

ด้านอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า (30 มกราคมนี้) พิจารณาเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับลูกจ้าง ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากค่าจ้างทั้งหมดมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.15 เท่า จากเดิมนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้ 1 เท่า โดยมีผลในช่วงวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.61
"เศรษฐกิจเริ่มดี ผู้ประกอบการก็มีรายได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว ต้องมีการกระจายรายได้ออกไปด้วย แรงงานก็ควรได้รับผลตอบแทนที่ดี จากที่ผ่านมาในช่วง 4 ปี ค่าแรงเพิ่มขึ้นแค่ 4% หรือเฉลี่ยปีละ 1% ซึ่งถือว่าต่ำมาก" รัฐมนตรีคลังระบุ

กระทรวงการคลังเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระผู้ประกอบการ SMEs ได้มาก เพราะเป็นการนำค่าจ้างทั้งหมด มาคำนวณเป็นรายจ่าย ไม่ใช่เฉพาะค่าจ้างในส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นเหมือนมาตรการที่ผ่านมา เช่น หากมีการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่ม 20 บาท ทำให้ค่าแรงต่อวันเพิ่มเป็น 320 บาท ก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการหักลดหย่อนได้ทั้งหมด จากเดิมที่รัฐจะช่วยในส่วนที่เพิ่มเท่านั้น ส่งผลให้เมื่อมีการคำนวณคร่าวๆ รัฐจะเข้าไปชดเชยค่าแรงให้กับผู้ประกอบการได้กว่าครึ่งหนึ่ง เช่น ขึ้นค่าแรง 20 บาท แต่เมื่อนำมาคำนวนรายจ่ายค่าจ้างทั้งจำนวน รัฐให้หักลดหย่อนได้ถึง 9-10 บาท

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไม่มาก แต่ในทางกลับกันสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และบรรเทาความเดือดร้อนได้จำนวนมาก
 

หวดนายจ้าง ให้ขึ้นค่าแรง เอามั้ย..แลกหักภาษี

เนื่องจากก่อนหน้านี้วันที่(23 ม.ค. 61) พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวว่า ตามที่บอร์ดค่าจ้าง ได้ประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัด ตั้งแต่ 5-22 บาท การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ เพิ่มสูงขึ้นถึง 5% จัดว่าสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยข้อมูลรอบด้านอย่างรอบคอบ โดยมี ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง และภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิรวมอยู่ด้วย อีกทั้งรัฐบาลยังมีมาตรการต่างๆ ออกมารองรับผู้ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป
 จากการที่มีผู้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ทบทวนใหม่โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศนั้น วอนอย่านำมาเคลื่อนไหวเชิงการเมือง ขอให้เคารพมติบอร์ดค่าจ้าง และร่วมกันเดินหน้าเพื่อประเทศชาติต่อไป

สืบเนื่องจากในวันเดียวกัน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  ออกมาระบุว่า จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางเมื่อวันที่ 17 ม.ค.61 ให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

หวดนายจ้าง ให้ขึ้นค่าแรง เอามั้ย..แลกหักภาษี

ทั้งนี้ กกร.ได้สอบถามความคิดเห็นจากประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ได้ปรับขึ้นเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดนำเสนอคณะกรรมการค่าจ้าง คิดเป็น 92% ของจังหวัดทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มจังหวัด 35 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ได้เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง เช่น จ.ระยอง ซึ่งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดระยอง มีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้เท่ากับอัตราเดิมในปี 60 ที่ 308 บาทต่อวัน แต่ประกาศอัตราค่าจ้าง ปี 61 ได้กำหนดให้ปรับขึ้นเป็น 330 บาทต่อวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยคาดว่าจะทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในภาคเกษตร, ภาคบริการ และผู้ประกอบการ SMEs โดยทั่วไป
อนึ่ง ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ชุดที่ 19 ได้มีมติปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 โดยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 5-22 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.64-7.14% โดยแบ่งการปรับค่าจ้างเป็น 7 ระดับ คือ 1.ปรับขึ้นเป็น 308 บาท 3 จังหวัด 2.ปรับขึ้นเป็น 310 บาท 22 จังหวัด 3.ปรับขึ้นเป็น 315 บาท 21 จังหวัด 4.ปรับขึ้นเป็น 318 บาท 7 จังหวัด 5. ปรับขึ้นเป็น 320 บาท 14 จังหวัด 6. ปรับขึ้นเป็น 325 บาท 7 จังหวัด และ 7. ปรับขึ้นเป็น 330 บาท 3 จังหวัด