รัฐบาล ยัน รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ เหมือน ‘ชินคันเซ็น’ ยังไม่เคาะเปลี่ยนเป็นความเร็วปานกลาง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.deepsnews.com

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม เว็บไซต์รัฐบาล www.thaigov.go.th เผยข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม ชี้แจงข้อเท็จจริง โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยยืนยันขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจเปลี่ยนเป็นความเร็วปานกลางแต่อย่างใด

กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ตามที่ได้มีรายงานข่าวจากประเทศญี่ปุ่นระบุว่า รัฐบาลไทยต้องการประหยัดงบประมาณ จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ระบบเดียวกับ ‘ชินคันเซ็น’ มาเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง จริงหรือไม่ เพราะสาเหตุใด และจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการอย่างไร นั้น  กระทรวงคมนาคม (คค.) ขอชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริง ดังนี้ 

รัฐบาล ยัน รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ เหมือน ‘ชินคันเซ็น’ ยังไม่เคาะเปลี่ยนเป็นความเร็วปานกลาง
 

กระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (MOC) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยได้เริ่มทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 แล้วเสร็จเดือน พฤศจิกายน 2560 ปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อพิจารณาหารูปแบบการดำเนินโครงการที่มีความเหมาะสมและเกิดความคุ้มค่าสูงสุดในการลงทุน

การประชุมหารือดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) มีรายละเอียดสรุป ดังนี้

1. รายละเอียดข้อมูลโครงการ : (1) แนวเส้นทางจากสถานีบางซื่อ-พิษณุโลก ระยะทางรวม 380 กิโลเมตร (2) เทคโนโลยี : ชินคันเซ็น/ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง/ขนาดราง 1.435 เมตร/สถานี 7 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก/เวลาในการเดินทางจากบางซื่อ-พิษณุโลก 1 ชั่วโมง 58 นาที 

2. ผลการวิเคราะห์การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร : (1) กรณีไม่มีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง ปี 2568 (ปีเปิดบริการ) มีปริมาณผู้โดยสารจำนวน 29,000 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2598 (2) กรณีมีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางปี 2568 (ปีเปิดบริการ) มีปริมาณผู้โดยสารจำนวน 29,000 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 73,200 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2598

3. มูลค่าโครงการเบื้องต้น : ตามผลการศึกษาของฝ่ายญี่ปุ่นพบว่ามีมูลค่าการลงทุน ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 276,226 ล้านบาท 

4. การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ : (1) รวมผลประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางเท่ากับ 14.7% (2) ไม่รวมผลประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางเท่ากับ 7.2% ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ฝ่ายไทยต้องจัดทำแผนระดับชาติและแผนพัฒนาภูมิภาคตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อประโยชน์สูงสุดทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งจำเป็นต้องจัดทำแผนคมนาคมขนส่งที่ครอบคลุมเพื่อให้การเชื่อมต่อการเดินทางมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยไม่ควรพิจารณาเพียงการสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ควรพิจารณาว่าจะใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองในภูมิภาคได้อย่างไร 

รัฐบาล ยัน รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ เหมือน ‘ชินคันเซ็น’ ยังไม่เคาะเปลี่ยนเป็นความเร็วปานกลาง

ประเทศไทยกำลังเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เนื่องจากไม่ได้ลงทุนโครงการใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ มานานหลายปี ทำให้ไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในการแข่งขันได้ รัฐบาลนี้เห็นความสำคัญของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออนาคตประเทศไทยในระยะยาว จึงตัดสินใจลงทุนพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงหลายเส้นทาง รวมถึงสายเหนือระบบชินคันเซ็นด้วย แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนสูง 

กระทรวงคมนาคม จึงต้องพิจารณาการลงทุนรถไฟสายนี้ ว่าหากจะปรับระบบเป็นความเร็วปานกลางจะเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเปรียบเทียบ ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจเปลี่ยนเป็นความเร็วปานกลางแต่อย่างใด