ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

จากหม่อมราชวงศ์ สู่ ผู้ทรงอภิญญาระลึกชาติได้!! "หลวงปู่เอี่ยม อุตตโม" พระโอรสใน "กรมพระราชบวรมหาเสนานุรักษ์" พระผู้เป็นอาจารย์ของขุนพันธ์ !!

 

           พระครูธรรมขันธ์สุนทร หรือ หลวงปู่เอี่ยม อุตตโม วัดโพนทอง ตำบลเชียงงา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี พระภิกษุผู้ทรงวิทยาคุณแห่งลพบุรี มีลูกศิษย์มากมาย และเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับ หลวงปู่สี แห่งวัดเขาถ้ำบุญนาค จ.นครสวรรค์ หลวงปู่บุดดา แห่งวัดกลางชูศรี จ.สิงห์บุรี และยังเป็นอาจารย์ ขุนพันธรักษ์ราชเดช มือปราบขมังเวทย์ และ เสือฝ้าย ขุนโจรเมืองสุพรรณ ฯลฯ บุตร ขุนพันธรักษ์ ได้เล่าถึงชีวประวัติ ของพระอาจารย์ว่า

"พระครูธรรมขันธ์สุนทร" เป็นพระโอรสใน "กรมพระราชบวรมหาเสนานุรักษ์" (วังหลัง) มีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์เอี่ยม อิศรางกูร ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันพุธ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง (ไม่ทราบพ.ศ.)

จากหม่อมราชวงศ์ สู่ ผู้ทรงอภิญญาระลึกชาติได้!! "หลวงปู่เอี่ยม อุตตโม" พระโอรสใน "กรมพระราชบวรมหาเสนานุรักษ์" พระผู้เป็นอาจารย์ของขุนพันธ์ !!

 

             เมื่อท่านฯ เติบโต ต่อมากรมพระราชบวรมหาเสนานุรักษ์ บิดาท่านทิวงคตได้ไม่นาน พอดีกับพระชายาท่านเจ้าคุณเองก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมลง ภายหลังจากที่ประสูติบุตรชาย ทำให้ท่านเจ้าคุณเกิดเบื่อหน่ายทางโลก จึงได้หันหน้าเข้าสู่พระธรรม อุปสมบท ณ.วัดบวรนิเวศวิหาร (ไม่ทราบนามพระอุปัชฌาย์) ได้ฉายาว่า "อุตตโมภิกขุ" แล้วจำพรรษาอยู่ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เรื่อยมา โดยมุ่งปฏิบัติธรรมตามกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด สวดมนต์ฟังธรรม เรียนบาลี สันสกฤต และมคธ จนเชี่ยวชาญ อีกทั้งหมั่นเพียรเจริญภาวนา วิปัสสนาธุระ จนมีผู้เล่ากันว่าท่านฯ เป็นพระภิกษุสำเร็จอภิญญาชั้นสูง

             ต่อมาโยมมารดาได้ใช้คนมาส่งข่าวให้ทราบว่า บุตรชายของท่านฯ ที่กำลังหัดเดินเตาะแตะ เกิดป่วยเป็นโรคผิวหนังพุพอง ให้ท่านฯ ไปเยี่ยมอาการ พอท่าน ฯไปถึงเห็นอาการเข้า ก็ทราบด้วย "ปุพเพนิวาสานุสติญาณ" (ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้) ว่าโรคนี้เกิดจากกรรมเก่า ที่เด็กคนนี้ไปเผาลิงตายทั้งเป็น ในอดีตชาติ คงไม่มีทางรักษาให้หายได้ จึงบอกแก่โยมมารดาว่า “เด็กคนนี้ไม่รอด” โยมมารดาได้ฟังดังนั้นก็โกรธหาว่า พ่อตาย เมียตาย แล้วหนีไปบวชก็ไม่ว่า นี่ลูกป่วยให้มาดูกับมาแช่งให้เด็กตายด้วย

             หลวงปู่เอี่ยมไม่สามารถหาคำอธิบายให้โยมมารดาเข้าใจได้ จึงกลับไปวัดบวรนิเวศฯ เวลาผ่านไปไม่นาน บุตรชายของท่านฯก็ตายจริงๆ โยมมารดาของท่าน จึงมีความเศร้าโศกเสียใจ ในที่สุดก็ตรอมใจตายไปอีกคน เป็นอันว่าภาระทั้งหลาย ที่เป็นบ่วงคล้องคอ บัดนี้ได้หลุดสิ้นไปหมดทุกอย่างแล้ว เลยเกิดมีความคิด ที่จะออกเดินธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งไปนมัสการสังเวชนียสถานที่เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดียด้วย

             คืนหนึ่งในระหว่างที่ หลวงปู่เอี่ยมได้เข้าฌานสมาบัติ ก็ได้ทราบว่าพระชายาที่ล่วงลับไปนานแล้วนั้น ได้ไปเกิดใหม่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เติบโตเป็นสาวจนแต่งงานมีสามีและบุตรชายคนหนึ่ง แต่ด้วยความผูกพันของบุตร ที่มีมาแต่ชาติปางก่อน บุตรชายที่เสียชีวิตไป ก็ได้เกิดเป็นบุตรของนางอีกครั้งหนึ่ง ท่านฯคิดอยากจะไปโปรด ให้อดีตบุตรชายของท่านฯ ได้พ้นวิบากกรรม จึงได้ธุดงค์ไปจำพรรษา อยู่ที่วัดใกล้บ้านอดีตลูกเมียของท่านฯ ที่ไปเกิดใหม่ใน จ.นครสวรรค์

             วันหนึ่งหลังจากฉันเพลเสร็จเรียบร้อย มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง พาลูกชายไว้ผมจุกมาหาท่าน ท่านเจ้าคุณได้ถามไปว่า “สีกา มีธุระอะไรหรือ” สาวชาวบ้านคนนั้นบอกว่า “ผู้คนร่ำลือกันว่า พระเดชพระคุณท่าน ที่มาอยู่ในวัดนี้น่าเลื่อมใสศรัทธา จึงอยากพาลูกมากราบไหว้เป็นสิริมงคล” ท่านฯ ได้ให้โอวาทอบรมสั่งสอนพอสมควรแก่เวลา นางก็กล่าวคำล่ำลาจะกลับบ้าน ปรากฏว่าเด็กชายผมจุกเกิดดื้อดึงไม่ยอมกลับ วิ่งเข้าไปกอดท่านฯแน่น ด้วยเกรงผู้เป็นแม่จะมาดึงตัวให้กลับ “หนูไม่กลับ หนูจะอยู่กับพ่อ พ่อของหนูอยู่นี่” เสียงแจ๋วๆของเด็กที่พูดออกไป ไม่มีใครจะรู้ความหมายดีไปกว่าท่านฯ แม้ผู้เป็นแม่จะอ้อนวอนหรือบังคับอย่างไรเด็กคนนั้นก็ไม่ยอมกลับ จนกระทั่งท่านได้พูดตัดบทว่า

“เอาละ เมื่อเด็กมันหาเป็นพ่อก็พ่อ อาตมาจะขออุปการะ เด็กคนนี้ไว้เอง เอาไว้ที่วัดนี้แหละ ถ้าเกิดคิดถึงก็มาหาได้ทุกเวลา บ้านอยู่ใกล้แค่นี้เอง สีกากลับไปบ้าน พาพ่อของเด็กมาตกลงกันจะเอายังไง ถ้ายอมให้เด็กอยู่กับอาตมา ก็ส่งเสียให้เล่าเรียนให้ถึงที่สุด เงินทองทรัพย์สมบัติส่วนตัวอาตมานั้นมี”

            ตั้งแต่ (หลวงปู่เอี่ยม) ได้รับมรดกจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นถนิมพิมพาภรณ์เครื่องถ้วยเบญจรงค์ต่างๆ ตลอดจนอัญมณีล้ำค่า ตั้งใจจะมอบให้เป็นสมบัติของเด็กคนนี้ตอนโตขึ้น เพราะไม่อยากยึดติด กับสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป หลังจากเด็กคนนั้นมาอยู่ที่วัด จนแม่ผู้บังเกิดเกล้าไม่ค่อยคิดถึงเท่าไหร่ ส่วนผู้เป็นพ่อก็หมดห่วง จึงได้ให้บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาเล่าเรียนทางธรรม พอโตเป็นหนุ่มก็ให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านได้เลี้ยงดูเหมือนบุตรของท่านจริงๆ จนกระทั่งย้ายมาอยู่ (วัดโพนทอง) ตำบลเชียงงา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

"พระครูธรรมขันธ์สุนทร" หรือ (ม.ร.ว.เอี่ยม) วัดโพนทอง ลพบุรี บันทึกในจดหมายเหตุรายวันที่ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาโรรส) วัดบวรนิเวศน์วิหาร ทรงเสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ เมืองลพบุรี ความว่า

วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ เวลาบ่ายโมง เสด็จถึงวัดโพนทอง มีพระสงฆ์และราษฎรมาคอยเฝ้ารับเสด็จ อยู่ที่วัดนี้เป็นจำนวนมาก ทรงพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรภูมิสถานของวัดนี้ แล้วเสด็จขึ้นประทับบนกุฏิที่ (เจ้าอธิการเอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดนี้จัดไว้เป็นที่ประทับแรม เจ้าอธิการเอี่ยมเป็นเจ้าคณะหมวดตำบลนี้ เป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง ควบคุมชาวบ้านและชาวตลาดในตำบลนี้อยู่

วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ ได้ประทานพัดตรามหาสมณุตมหาภิเษก และประทานตำแหน่งพระครูเจ้าคณะแขวงแด่ (พระอธิการเอี่ยม) ทรงออกพระมหาสมณศาสน์โปรดให้เจ้าอธิการเอี่ยม วัดโพนทอง เป็นพระครูเจ้าคณะแขวง อำเภอสระโบสถ์ ที่ "พระครูธรรมขันธ์สุนทร" อีกทั้งตรัสชมเชยพระครูเอี่ยม วัดโพนทอง ว่าเป็นผู้รักษาวัดดี ทั้งมีความสามัคคีกับชาวบ้านทั่วถึงควรเป็นแบบอย่างอันดี

             วัตถุมงคลของท่าน ยุคแรกๆท่านไม่ค่อยสร้างวัตถุมงคลเท่าใดนัก ทราบเพียงจากคำบอกเล่าของชาวบ้านในสมัยนั้น "พระครูธรรมขันธ์สุนทร" (ม.ร.ว.เอี่ยม) ท่านได้นำเอา พระสมเด็จวัดระฆัง จาก "สมเด็จพุฒาจารย์" (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆัง มาเก็บรักษาบรรจุกรุไว้ที่วัดโพนทอง อ.บ้านหมี่ ในสมัยที่ท่านได้สร้างวัดโพนทองขึ้นมา ก่อนปี พ.ศ.๒๔๓๗ ไว้เป็นจำนวนมาก

             ต่อมา หลวงปู่เอี่ยม ท่านได้สร้างเหรียญที่ระลึก เหรียญรุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นเหรียญเสมารูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ ด้านบนเขียนว่า "ที่ระลึก" ด้านล่างเขียนว่า "ธรรมขันธ์" ด้านหลังเป็นยันต์ห้า ตรงกลางเป็นยันต์เฑาะว์อุณาโลม ด้านล่างระบุปี พ.ศ.๒๔๗๑

             พระครูธรรมขันธ์สุนทร องค์นี้ คนพื้นที่นับถือท่านมาก เรียกขานติดปากว่า "หลวงพ่อเฒ่า" สะท้อนความนับถืออย่างมากของชาวบ้าน เหรียญใดที่อยู่ในคอคนพื้นที่ ชาวบ้านต่างหวงแหนกันมาก ต่างก็มีประสบการณ์กันมากมาย นับไม่ถ้วน ถือเป็นเหรียญเก่าเมืองลพบุรีอีกเหรียญที่น่าสะสมเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ  ตำนานเล่าขานพระผู้ทรงฌานอภิญญา ครูบาอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคม

อ้างอิงจาก : เพจ พระเกจิ แดนสยาม