เงินมางานถึงเดิน รฟท.ขอเพิ่มคน--ขึ้นค่าตั๋ว

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.richmancando.com

เกิดแล้วตายใหม่อีกกี่ชาติ จะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเส้นทางสู่จังหวัดใหญ่ ๆ สร้างเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่

เงินมางานถึงเดิน รฟท.ขอเพิ่มคน--ขึ้นค่าตั๋ว

ภายหลังจากที่วานนี้ 2/2/61 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปมอบนโยบายให้คณะกรรมการและผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม, ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ร่วมหารือ
หลังจากนั้นอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับทราบนโยบายของรองนายกฯทั้งในเรื่องรถไฟความเร็วสูง และแผนปรับปรุงการรถไฟแห่งประเทศไทย  โดยเฉพาะเรื่องแผนการปรับขึ้นค่าโดยสาร คาดจะเริ่มในปี 2563 เป็นต้นไป แต่ต้องทำหลังจากที่การรถไฟได้มีการรับขบวนรถใหม่และปรับปรุงการบริหารแล้ว โดยแนวทางการปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่จะมีการคิดค่าแรกเข้า 10 บาท จากเกณฑ์เดิมที่คิดค่าแรกเข้า 2 บาท และค่าโดยสารตามระยะทางจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 เช่นโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ชั้น 3 ระยะทาง 0 -100 กิโลเมตรจะอยู่ที่ 0.323 บาทต่อกิโลเมตร จากเดิมอยู่ที่ 0.215 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งแผนดังกล่าวคาดว่าจะทำให้รายได้ของการรฟท.เพิ่มขึ้นอีก 30%
 

เงินมางานถึงเดิน รฟท.ขอเพิ่มคน--ขึ้นค่าตั๋ว

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ยังต้องมีการพิจารณาจากผลการศึกษาอีกครั้งกับทางญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ได้รับการยืนยันจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแล้วว่าต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งความเร็วขั้นต่ำจะอยู่ที่ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะมีการเสนอผลการศึกษาทั้งหมดให้ ครม.ในช่วงปลายปีนี้ ส่วนการมอบนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีนั้นได้ย้ำในเรื่องการพัฒนาแผนฟื้นฟูของการรถไฟเพื่อเพิ่มรายได้โดยเฉพาะการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 9 เส้นทางได้แก่ 1)ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ  2)ช่วงบ้านไผ่-นครพนม 3) ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 4)ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา 5)ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์  6)ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 7)ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 8) ช่วงขอนแก่น-หนองคาย และ9) ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี   การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟไปยังเมืองรองส่งเสริมการท่องเที่ยว และโครงการรถไฟเส้นทางพิเศษ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ และโครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะจะสามารถทำแพ็คเกจร่วมกันได้

อย่างไรก็ตามแนวทางแผนฟื้นฟูการรถไฟจะต้องมี กำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีหรือEBITDA เป็นบวกในปี 2563 โดยมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากที่ดินแปลงA ที่มีสถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการ ซึ่งจะมีรายได้ถึงหลักพันล้านบาทต่อปี ขณะที่บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องจัดตั้งให้ได้ภายในปีนี้และเริ่มส่งมอบทรัพย์สินตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป

เงินมางานถึงเดิน รฟท.ขอเพิ่มคน--ขึ้นค่าตั๋ว

ขณะที่ อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะแรกมีระยะทาง 220 กม. งบลงทุนประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (คณะกรรมการ EEC) พิจารณาได้รับทราบในหลักการของโครงการเชื่อมต่อ 3 สนามบินแล้ว หลังจากนี้ต้องไปสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ เป็นต้น และกลับเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ EEC อีกครั้งและเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างเอกสารประกวดราคา(TOR) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ และออก TOR ได้ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ รวมถึงประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนในเดือน ก.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้เดือน ส.ค.-ก.ย. และเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566 คาดว่ามีผู้โดยสารอยู่ที่ 169,550 เที่ยวคนต่อวัน 

ทั้งนี้ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเป็นแบบการให้เอกชนลงทุน(PPP)100%  ทั้งการก่อสร้างและงานระบบ มีระยะสัปทาน 50 ปี โดย 5 ปีแรกเป็นการก่อสร้าง 45 ปีหลังเป็นเรื่องของการเดินรถและบริษัทที่มาลงทุนจะเป็นรูปแบบร่วมทุนหรือเป็นบริษัทต่างชาติ100% ซึ่งต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะได้ตัวเอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยรวมงานบริหารการเดินรถ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่แบ่งเป็นที่ดินมักกะสันประมาณ 145 ไร่ ,ศรีราชาประมาณไม่เกิน 30 ไร่ ฯ แต่ผลตอบแทนการรถไฟฯยังได้เหมือนเดิม ส่วนบริษัทแอร์พอร์ทลิ้งมีดำเนินการบริหารโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงแทน ส่วนการจัดหาขบวนรถวิ่งเสริม 7 ขบวนภายใน 2 ปีด้วย และระหว่างนี้ แอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ จะต้องปรับปรุงขบวนรถในตู้สัมภาระเพื่อรองรับผู้โดยสารก่อน

เงินมางานถึงเดิน รฟท.ขอเพิ่มคน--ขึ้นค่าตั๋ว

อย่างไรก็ตามในส่วนของแผนการเพิ่มจำนวนบุคลากรของการรถไฟฯมีแผนที่จะเสนอ ครม. เพื่อปลดล็อคมติ ครม.เมื่อปี 2541 เนื่องจากทางการรถไฟฯอยู่ในภาวะขาดแคลนเจ้าหน้าที่บุคลากร โดยระยะแรกจะขอเพิ่มบุคลากรให้ได้จำนวน 16,000 คน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 14,000 คน หลังแผนโครงการรถไฟทางคู่ระยะแรกแล้วเสร็จ และหลังจากการดำเนินการโครงการทางคู่ระยะที่ 2 แล้วเสร็จจะมีการเสนอขอเพิ่มบุคลากรเพิ่มอีก 3,000 คนรวมเป็น 19,000 คน สำหรับแผนงานการพัฒนาเส้นทางของรถไฟ โดยช่วงที่ 1 จะมีจำนวน 7 เส้นทางระยะทาง 993 กม. จะต้องก่อสร้างให้เสร็จภายในเดือน ต.ค.2565 วงเงินรวม 113,660 ล้านบาท ส่วนช่วงที่ 2 มีจำนวน 9 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กม. จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน ก.ค.2566 ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้า ครม.ได้ก่อน 2 เส้นทางภายในปีนี้ได้แก่ เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. งบประมาณก่อสร้าง 24,294.36 ล้านบาท และเส้นทางสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 167 กม. งบประมาณ 57,375.43 ล้านบาท

นอกจากนี้ ความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบรางด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ที่จะพัฒนาเส้นทางสายใหม่และภายในปี 2567 จะบรรจุทางคู่เพิ่มอีก 4 เท่าของโครงข่ายรถไฟ รวมถึงการพัฒนาโครงการรถไฟเกี่ยวกับการท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ครอบคลุมภาคเหนือ 16 จังหวัด อีสาน 18 จังหวัด ตะวันออก 5 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด และภาคใต้ 9 จังหวัด