มติครม.เห็นชอบปรับอัตราโทษอาญาไม่ร้ายแรงสอดคล้อง ม.77

มติครม.เห็นชอบปรับอัตราโทษอาญาไม่ร้ายแรงสอดคล้อง ม.77

13 ก.พ.61   ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอการกำหนดโทษทางอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา77ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆก่อนตรากฎหมาย และควรมีกฎหมายเท่าที่จำเป็น ยกเลิก ปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันไม่ให้เป็นภาระอุปสรรคกับประชาชน โดยกำหนดปรับโทษอาญาที่ไม่รุนแรงแต่ยังเป็นโทษอาญาที่ทำให้สร้างภาระต่อศาล เป็นโทษอย่างอื่น มีหลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการจะเสนอกฎหมายใหม่แล้วต้องการกำหนดโทษทางอาญา ได้แก่ 1. เป็นการกระทำกระทำที่กระทบกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง และมีผลกระทบต่อส่วนรวม 2.เป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้มาตรการอื่นใดเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างได้ผล มีประสิทธิภาพเพียงพอให้ประชาชนปฏิบัติตาม และ3.กฎหมายใดที่มีความผิดทางอาญาแล้วมีโทษปรับเพียงสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกแต่สามารถเปรียบเทียบเป็นโทษปรับได้ ให้เปลี่ยนเป็นวิธีการอื่นที่ไม่ใช่โทษทางอาญา 

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ครม.ยังมอบหมายให้กฤษฎีการับไปออกกฎหมายกลาง เนื่องจากกฎหมายที่มีโทษทางอาญามีหลายฉบับ การออกกฎหมายกลางดังกล่าวให้ถือว่าต่อไปนี้กฎหมายต่างๆที่มีโทษทางอาญาเปลี่ยนเป็นกฎหมายที่ไม่ใช่โทษทางอาญา นอกจากนี้ให้พิจารณาเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาที่ไม่ร้ายแรงเป็นโทษปรับทางปกครอง เช่น การฝ่าฝืนจอดรถในพื้นที่ห้ามจอดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเสียค่าปรับ แต่เมื่อเสียค่าปรับแล้ว จะไม่ถูกบันทึกลงไปในประวัติการลงโทษ

 

"ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการไปเอื้อประโยชน์โดยเฉพาะคนรวย ที่จะพร้อมทำผิดกฎหมาย แค่เสียค่าปรับ ทางท่านรองนายกฯวิษณุจึงอธิบายว่า ได้มีการกำหนดไว้แล้ว ถ้าจะไม่มีโทษทางอาญาจะต้องเป็นโทษที่ไม่ร้ายแรง การปรับแก้ครั้งนี้มีผลไปยังผู้มีรายได้น้อยด้วย เช่น กฎหมายที่กำหนดโทษปรับเพดานขั้นต่ำและสูงต่อไปถ้าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง จะกำหนดเพดานขั้นสูงไว้อย่างเดียว คือไม่จำเป็นต้องจ่ายถึงเพดานขั้นสูงก็ได้ นอกจากนี้ยังให้พิจารณากฎหมายที่มีอัตราโทษเท่ากัน แต่กระทงความผิดความร้ายแรงต่างกัน เช่น ลักทรัพย์ กับยักยอก ฉ้อโกงทรัพย์ การรับโทษจะต้องไม่เท่ากัน ถือเป็นกระบวนการในการปฏิรูปกฎหมายไทย" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว 

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันยังให้มีการพิจารณาแยกโทษสำหรับนิติบุคคลออกจากโทษของบุคคลธรรมดา เช่น บริษัทไปทำผิด ผู้เป็นกรรมการบริษัทต้องผิดไปด้วย ดังนั้นต้องแยกกัน หากบริษัทผิดต้องว่ากันไป ส่วนตัวบุคคลที่เป็นกรรมการบริษัทจะไม่มีส่วนด้วย เว้นแต่มีพยานหลักฐานยืนยันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปสั่งการ หรือเห็นชอบให้ดำเนินการ 
 

 

มติครม.เห็นชอบปรับอัตราโทษอาญาไม่ร้ายแรงสอดคล้อง ม.77