ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

ไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า!! เปิดข้อยืนยันจากบทพระราชนิพนธ์ ของ "รัชกาลที่ ๔" กษัตริย์ผู้เคยครองสมณเพศ แต่กลับไม่ปรารถนานาในพุทธภูมิ!!

 

            ในสมัยโบราณผู้คนมักทำกุศลแล้วประกาศเจตนารมณ์ที่จะแสวงหาโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า แม้แต่พระพระมหากษัตริย์ก็มักประกาศพระราชปณิธานเช่นนั้น เช่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้น ความจริงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมิใช่พระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกและพระองค์เดียวที่มีความปรารถนาในพระโพธิญาณ อย่างน้อยเราก็พบว่า มีพระมหากษัตริย์อีก ๓ พระองค์ที่ปรารถนาในพุทธภูมิ คือ พระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย (ผู้รจนาคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

             ขอเล่าถึงความปรารถนาในพระโพธิญาณของพระเจ้าตากสินมหาราช ว่า พระองค์ทรงอธิษฐานเสี่ยงทายว่าจะได้บรรลุซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณที่วัดกลางดอยเขาแก้วก็มิใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่พงศาวดารกล่าวถึงปรารถนาแห่งพระโพธิญาณของพระเจ้าตากฯ

ไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า!! เปิดข้อยืนยันจากบทพระราชนิพนธ์ ของ "รัชกาลที่ ๔" กษัตริย์ผู้เคยครองสมณเพศ แต่กลับไม่ปรารถนานาในพุทธภูมิ!!

 

ดังเมื่อครั้งเสร็จศึกอะแวหวุ่นกี้ปี ๒๓๑๙ ก็ได้ทรงโปรดให้มีงานบุญใหม่พระราชพิธีบังสุกุลพระอัฐิของพระมารดา พระเจ้าตากฯ ก็ทรงอธิษฐานว่า

              “เดชะผลทานบูชานี้ ขอจงยังพระลักขณะ พระปิติทั้ง๕ จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า และอย่าได้อันตรธาน และพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดขึ้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้น อนึ่งขอจงเป็นปัจจัยแก่พระบรมภิเษกสมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า”

 

          เช่นเดียวกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงปรารถนาพระโพธิญาณศรัทธิกบารมีตามที่ปรากฏจารึกในฐานพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ หลักที่ ๑๓๘ เขียนไว้ว่า 

"กูปรารถนาโพธิญาณ สัทธาธิกบารมี"​ และ "การกุศลนี้ (สร้างเจดีย์ขึ้นมา) ใช่ทำเพื่อสมบัติจักรพรรดิ สมบัติเทพยุดา อันพรหม หามิได้ปลงพระไทยแต่จะให้สำเร็จแต่พระสรรเพชรโพธิญาณ รื้อขนสัตว์ออกจากสังสารทุกข์"​

            นี่คือคำอธิฐานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แสดงถึงพระปรารถนาถึงพุทธภูมิ คือ ตั้งพระทัยอธิษฐานที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า​ ซึ่งความปรารถนาในพุทธภูมิมิได้ปรากฏเฉพาะในพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่เกิดแก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย โดยพระไพศาล วิสาโล ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“ความปรารถนาพุทธภูมินี้มิได้เป็นคติความเชื่อของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปก็มีความเชื่อดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งสามารถสืบสาวย้อนหลังไปได้นับพันปี ในศิลาจารึกสมัยพุทธศตวรรษที่๑๓-๑๔ ที่จังหวัดนครราชสีมามีข้อความตอนหนึ่งว่า ขอให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จงเป็นพุทธองค์ และลุถึงพุทธภูมิ มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ความเชื่อดังกล่าวก็ยังแพร่หลายในหมู่ประชาชน ถึงขั้นที่ยอมสละชีวิตเผาตัวตายที่วัดอรุณ” จวบจนสมัยรัชกาลที่ ๔ ความเชื่อดังกล่าวก็ยังอิทธิพลอยู่มาก จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกประกาศสั่งห้ามกระทำการดังกล่าว..”

 

          จากข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว และนอกจากนี้พระองค์เองยังไม่ทรงปรารถนาในพุทธภูมิ ด้วยทรงปรารถนาต่างออกไป ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์นี้

 

ไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า!! เปิดข้อยืนยันจากบทพระราชนิพนธ์ ของ "รัชกาลที่ ๔" กษัตริย์ผู้เคยครองสมณเพศ แต่กลับไม่ปรารถนานาในพุทธภูมิ!!

 

น จ ราชา วิกตฺเถติ               ปตฺถนํ พุทฺธภูมิยา

อญฺเญ วิย พหุกาปิ              ปสฺสํ อนูปปสนฺตตํ

เกวลํ ปฏิชานาติ                  ทุกฺฃสฺสนฺตสฺส ปตฺถนํ

ยถาตฺตโน จญฺเญสญฺจ       ทุกฺขสฺสนฺโต ภเวยฺย เส

 

“ก็แต่ว่า พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงเอื้อมอาจปราถนาพุทธภูมิ ดังท่านผู้อื่นๆ เป็นอันมากดอก ด้วยทรงเห็นอยู่ว่า ความปราถนาเช่นนั้น มิใช่ทางสงบระงับ ทรงปฏิญญาแต่ความปราถนาที่สุดทุกข์ตามทางซึ่งที่สุดแห่งทุกข์จะพึงมีแก่ตนและคนอื่นได้อย่างไรเท่านั้น

 

 

ไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า!! เปิดข้อยืนยันจากบทพระราชนิพนธ์ ของ "รัชกาลที่ ๔" กษัตริย์ผู้เคยครองสมณเพศ แต่กลับไม่ปรารถนานาในพุทธภูมิ!!

 

            ตามความในพระคาถานี้หมายถึงว่า พระองค์มิได้ปรารถนาในพุทธภูมิ ไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หากแต่ทรงปรารถนาเพียงสาวกภูมิ และขอเพียงถึงพระนิพพานเป็นสูงสุด และจากจารึกในจารึกหลักที่ ๑๙๑ จารึกบนหินอ่อนที่องค์พระเจดีย์ วัดชุมพลนิกายาราม ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้ทรงคัดค้านคำอ้างเหล่านั้น และชี้ให้เห็นว่า ในการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทางศาสนา ควรจะเป็นไปเพื่อพระนิพพานเท่านั้น ดังปรากฏข้อความว่าดังนี้

“ ... ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนี้ก็ดี ขอให้ได้สำเร็จพระพุทธภูมิโพธิญาณ อวดอ้างพระบารมีว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ดังเช่นใช้มาแต่ก่อน อึงๆ อยู่นั้นหามิได้ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนี้แลอื่นๆ ก็หวังตั้งพระราชหฤทัย ขอให้ได้สรรพสมบัติคือความบริบูรณ์คุณธรรม และอิศริยยศ บริวารทรัพย์สิ่งสินเป็นอาทิ บันดาลที่จะได้เป็นอุปการุปนิไสย อุดหนุนให้ได้ช่องโอกาส เพื่อจะได้เสด็จถึงที่สุดสงสารทุกขภัยทั้งปวงโดยเร็ว โดยช่วยความทุกข์ทั้งปวง จะได้ดับด้วยประการใดขอจงได้ดังนั้น สรรพวิบัติทั้งปวง ซึ่งเป็นเหตุให้เนิ่นช้าอยู่ ในสงสารทุกขจงอย่าได้มี ถึงจะมีบ้างก็ให้ผล อันอันตรายหายเทอญ”

 

 

ไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า!! เปิดข้อยืนยันจากบทพระราชนิพนธ์ ของ "รัชกาลที่ ๔" กษัตริย์ผู้เคยครองสมณเพศ แต่กลับไม่ปรารถนานาในพุทธภูมิ!!

 

              สันนิษฐานว่า จารึกทั้งหมดนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องบารมีเป็นเรื่องสูง เป็นคุณธรรมของพระพุทธเจ้า มิใช่เรื่องที่คนธรรมดาจะอ้างอิงว่าตนเองก็มีบารมีหรือกำลังบำเพ็ญบารมีได้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในเรื่องของพระพุทธศาสนาทั้งในด้านของหลักวิชาและหลักปฏิบัติเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงผนวชนานถึง ๒๗ ปี ซึ่งระยะเวลาอันยาวนานนี้พระองค์ทรงใช้ไปกับการศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างแข็งขัน

              ตลอดชีวิตของพระองค์ ในการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สร้างคุณูปการที่สำคัญต่อบ้านเมืองไว้มากมาย ซึ่งผลจากการตรากตรำพระวรกายนั้นก็ทำให้พระองค์เกิดอาการประชวรขณะเข้าสู่วัยชราเมื่อมีพระชนมายุ ๖๔ พรรษา ทรงสวรรคตในเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ "ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต" วัดเทพศิรินทราวาส ผู้มีญาณหยั่งรู้วาระจิตของผู้อื่น เล่าให้สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สันตังกุโร) ฟังว่า

"รัชกาลที่ ๔ เมื่อใกล้จะสวรรคตนั้น ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี"

            เรื่องนี้คนธรรมดาทั่วไปคงไม่อาจจะรู้ได้ แต่สำหรับผู้ที่มีจิตใจอันมั่นคงและมีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งเช่นนี้น่าจะบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งอย่างแน่นอน

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ธรรมะของพระเจ้าตาก โดย เวทิน ชาติกุล /  "สวดเป็นเห็นธรรม" โดย พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวัณโณ)  / คลังพระพุทธศาสนา